ชัชชาติ นำทีมประชุมร่วม คกก.วุฒิสภา หนุนนโยบายความปลอดภัยท้องถนน

กรุงเทพมหานครรับข้อเสนอเชิงนโยบาย จากคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สู่เป้าหมาย Smart City

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 5 พร้อมรับข้อเสนอเชิงนโยบาย จากคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา และรับมอบสื่อประชาสัมพันธ์สำหรับรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม

โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตพระนคร สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ร่วมกิจกรรม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)

กรุงเทพมหานครมีนโยบายเป็น เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน กอปรกับรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คน/ประชากรแสนคน ในปี 2570 โดยใช้แนวคิดเน้นการจัดการเชิงระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) ที่มองว่าคนมีข้อจำกัดและผิดพลาดได้เสมอ ระบบที่ปลอดภัยต้องช่วยป้องกันและลดความสูญเสีย คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา

ซึ่งมีเป้าหมายร่วมในเรื่องความปลอดภัยของคนเดินถนน ตระหนักว่ากรุงเทพมหานครมีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมและบรรลุผลในการจัดการเรื่องนี้ให้เป็นแบบอย่างกับเมืองใหญ่ทั่วประเทศ จึงมีข้อพิจารณาเสนอแนะกรุงเทพมหานครในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ

1. ด้านการบริหารจัดการ: โครงสร้าง กฎหมาย งบประมาณ และ KPI กำกับติดตาม ประกอบด้วย 1.1 การสนับสนุนและยกระดับการทำงานของสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ให้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเสริมสร้างมาตรการความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนนให้มีขอบเขตกว้างขวางขึ้นครอบคลุมทุกมิติ 1.2 กำหนดตัวชี้วัดเรื่อง “ความปลอดภัยทางถนน” ในทุกเขต 1.3 จัดสรรงบประมาณเพื่อความปลอดภัยทางถนนในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น 1.4 เร่งรัดติดตามการพัฒนาระบบข้อมูลด้านอุบัติเหตุทางถนนใน BMA Platform ที่ริเริ่มไว้แล้วให้นำมาใช้งานได้โดยเร็ว

2. ด้านมาตรการด้านถนนและ “ทางม้าลายมาตรฐาน-ปลอดภัย” ประกอบด้วย 2.1 ปรับเปลี่ยนการออกแบบถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ให้มีมาตรฐานสากล 2.2 ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน “กำหนดทางม้าลายให้มีมาตรฐาน” ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น ป้ายเตือน ไฟส่องสว่าง และมาตรการชะลอความเร็ว (Traffic Calming) 2.3 มีระบบประเมินจุดเสี่ยงที่จำเป็นต้องมีหรือปรับปรุงทางข้าม

พร้อมทั้งระดมความร่วมมือกับภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนให้เกิดทางข้ามที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งร่วมสร้างทางข้ามทางเลือก เช่น Sky Walk ทางเดินเท้า ทางจักรยาน ให้ครอบคลุมทั่วทุกเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2.4 มีการกำหนด Speed Zone (จำกัดความเร็ว 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง) โดยเฉพาะในจุดที่มีทางข้ามและเขตชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาดสด ฯลฯ 

3. ด้านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความรับผิดชอบร่วมกัน ประกอบด้วย 3.1 ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก วางแนวทางกำกับผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานครมีบทบาทกำกับดูแล เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัย เช่น ขสมก./รถร่วมบริการ วินรถจักรยานยนต์ กลุ่มไรเดอร์หรือจักรยานยนต์ส่งสินค้าต่าง ๆ

3.2 นำเทคโนโลยีเสริมการบังคับใช้ผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ชะลอหรือหยุดให้คนข้าม รวมทั้งกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนคนข้าม โดยมีการกำกับและติดตามรายงานผลการบังคับใช้ให้สาธารณะได้รับรู้โดยเร็ว เพื่อสร้างความตระหนักรู้กับผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่อง

3.3 สร้างการเรียนรู้ด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการรับรู้และประเมินสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง (Hazardous Perception) เข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับชั้นเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

3.4 ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อหรือช่องทางต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานครและเครือข่ายมีอยู่แล้ว ทั้งนี้ อาจจะมีการนำ Key Message ที่จะกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักและร่วมมือกัน เช่น หยุดสูญเสีย หยุดรถให้คนข้าม