แนะอย่ามองข้าม “กฎหมายมรดกและพินัยกรรมผู้สูงอายุ” งาน Healthcare 2022

“หมอความ” แนะอย่ามองข้าม ‘กฎหมายมรดกและพินัยกรรมผู้สูงอายุ’ ในงาน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ จัดขึ้นวันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2565

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 กิจกรรมวันแรกของงาน “Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย” งานแฟร์สุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ระดับประเทศ จัดโดยเครือมติชน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30-20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เป็นไปอย่างคึกคัก

นอกจากประชาชนจะทยอยเข้ารับการตรวจสุขภาพฟรี จาก 14 โรงพยาบาลชั้นนำทั้งรัฐและเอกชนอย่างคับคั่งแล้ว ยังมีการนำเสนอนวัตกรรมเด็ด ๆ ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ กิจกรรมสอยดาว ลุ้นรับของรางวัลมากมาย รายได้มอบเข้าการกุศล พร้อมกิจกรรมบนเวทีที่น่าสนใจอีกมากมาย

หนึ่งในนั้นคือ เวที ‘มีปัญหาปรึกษา หมอความ’ หัวข้อ ‘กฎหมายมรดกและพินัยกรรมของผู้สูงอายุ’ โดยว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง อดีตอุปนายกฝ่ายบริหาร เลขาธิการ และโฆษกสภาทนายความ ปัจจุบันเป็นกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ

ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ กล่าวว่า การทำพินัยกรรมนั้น ตามกฎหมาย เมื่อผู้ใดเสียชีวิตลง มรดกของผู้นั้นย่อมจะตกเป็นของทายาท เช่น บิดา มารดา บุตร สามีหรือภรรยา เป็นต้น แต่หากก่อนที่บุคคลนั้นจะเสียชีวิต อาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินและมรดกของตนให้แก่ผู้ใดก็ได้ โดยบุคคลที่ถูกระบุให้เป็นผู้รับมรดก อาจไม่ใช่ทายาทเสมอไป

ยกตัวอย่างเช่น การยกทรัพย์ให้บุตรเนื่องในงานแต่งงาน ทรัพย์สินจะตกเป็นของบุตรทันที คู่สมรสไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่พ่อแม่เป็นผู้มอบให้ ซึ่งเรียกว่า สินส่วนตัว กล่าวคือ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการให้โดยเสน่หา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ดังนั้น การทำพินัยกรรมก็เช่นเดียวกัน หากจะทำพินัยกรรมเพื่อยกทรัพย์สินให้บุตร คู่สมรสก็ไม่มีสิทธิได้มรดกจากพินัยกรรม โดยพินัยกรรมสามารถเขียนได้โดยแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

พินัยกรรมเขียนเอง ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้ และที่สำคัญต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่เขียนพินัยกรรม อีกทั้งต้องลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าเขียนพินัยกรรมด้วยตนเองในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะอยู่

ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง

พินัยกรรมฝ่ายเมือง ผู้ทำพินัยกรรมสามารถไปยื่นคำร้องที่อำเภอหรือเขตใดก็ได้ ซึ่งนายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตจะดำเนินการเขียนพินัยกรรมให้ตามความประสงค์ ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ที่จะต้องลงชื่อเป็นหลักฐานในพินัยกรรมฉบับนี้

พินัยกรรมธรรมดา ถือเป็นพินัยกรรมที่นิยมใช้มากที่สุด โดยอาจว่าจ้างทนายความ หรือผู้มีความรู้ทางกฎหมายเป็นผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งสามารถเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ แต่ต้องลงวันที่ขณะที่ทำ พร้อมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน เพื่อพิสูจน์สติสัมปชัญญะของผู้ทำว่ายังมีสติครบถ้วน ขณะที่กำลังทำพินัยกรรมฉบับนี้อยู่

“ทั้งนี้ พินัยกรรมทั้ง 3 ฉบับ มีความสำคัญเท่ากัน และหากพินัยกรรมทั้ง 3 ฉบับ มีเนื้อหาเหมือนกัน ให้ยึดเอาฉบับที่มีวันที่ล่าสุดเป็นสำคัญ แต่หากพินัยกรรมทั้ง 3 ฉบับ มีเนื้อหาที่แตกต่างกัน ก็สามารถยึดตามแต่ละฉบับได้เลย ที่สำคัญพยานทั้ง 2 คน ที่ได้ลงลายมือชื่ออยู่ในพินัยกรรม จะต้องไม่เป็นผู้มีสิทธิอยู่ในพินัยกรรม ไม่เช่นนั้นพินัยกรรมทั้งฉบับจะถือเป็นโมฆะได้”

ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ แนะด้วยว่า พินัยกรรมถือเป็นเอกสารที่มีความสำคัญ ดังนั้น ก่อนทำพินัยกรรม ผู้ทำต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนว่าเจตนาจะยกทรัพย์สินให้ใคร เพราะการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงความประสงค์ที่จะจัดการเรื่องบางเรื่องไว้ล่วงหน้า สำหรับการตายในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องยกทรัพย์สินให้ทายาทหรือบุตรตามกฎหมายเท่านั้น

“หากพินัยกรรมได้ทำไปแล้วและถูกต้อง ก็ต้องบังคับตามพินัยกรรม ทายาทคนอื่นจะมาอ้างขอแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่ทำยกให้ผู้อื่นไปแล้วไม่ได้ เพราะพินัยกรรม คือ การแสดงเจตนาที่สำคัญของเจ้าของมรดกที่กฎหมายยอมรับและบังคับให้อย่างถูกต้อง”

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ เผยว่า เวที ‘มีปัญหาปรึกษา หมอความ’ หัวข้อ กฎหมายมรดกและพินัยกรรมของผู้สูงอายุ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก หลังจบกิจกรรมบนเวที ได้มีผู้สนใจหลายคนเข้ามาขอคำแนะนำและปรึกษาเรื่องกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยหรือทายาท ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากมีการเตรียมการแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้การจัดการต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

“งาน Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก มีผู้สนใจมาต่อแถวยาวตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน สะท้อนว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน เรื่องหมอความ เรื่องกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพด้วยเช่นกัน เพราะหากจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ช่วยลดความกังวลใจไปได้มาก”

สำหรับผู้สนใจประเด็นเรื่องกฎหมาย ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.30- 12.00 น. คือ เวที ‘มีปัญหาปรึกษา หมอความ’ หัวข้อ ภัยร้ายคอลเซ็นเตอร์ โดย ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง อดีตอุปนายกฝ่ายบริหาร เลขาธิการ และโฆษกสภาทนายความ ปัจจุบันเป็นกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ซึ่งผู้สนใจสามารถพูดคุยและขอคำแนะนำภายในงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคมนี้ เวลา 10.30-20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามย่าน ใช้ทางออกที่ 2