รองฯ ทวิดา ทีมชัชชาติ วางเป้าคลินิก LGBTQ+ 16 แห่งในสิ้นปี

คลินิก LGBTQ+

กรุงเทพมหานครเร่งผลักดันคลินิกดูแลกลุ่มหลากหลายทางเพศให้เกิดขึ้น 2 คลินิกในทุกเดือน

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานด้าน HIV/STI และด้านสุขภาพในกลุ่มหลากหลายทางเพศ ณ ห้องพัชราวดี โรงแรมปริ๊นพาเลซ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ซึ่งกรุงเทพมหานครโดยกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย ร่วมกับ ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) จัดขึ้นเพื่อพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการพยายามทำให้เกิดความร่วมมือ ทำให้รู้สึกว่าต้องใส่ใจ นี่คือเพื่อนของเรา เป็นคนที่เราต้องห่วงใย ต้องดูแล

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและทีมงาน มีความสนใจกลุ่มหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว ทุกคนเหมือนกัน ไม่ได้คิดว่ามีความแตกต่าง แต่อยู่ด้วยแล้วสนุก มีความสุข หากมีบางอย่างที่สามารถทำแล้วทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงและใช้ชีวิตได้เหมือนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรจะพยายามอย่างยิ่ง

“ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทางสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์มีการดำเนินงานในการแสวงหาความร่วมมือจากเครือข่ายอยู่แล้ว เนื่องจากไม่สามารถทำเองได้ อยากให้คลินิกที่ดูแลกลุ่มหลากหลายทางเพศเกิดขึ้น 2 คลินิกในทุกเดือน โดยดูแลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาทางใจ การใช้ชีวิต เป็ป (PEP) เพร็พ (PREP) เรื่องฮอร์โมน

เรื่องการดูแลรักษา คลินิก PrEP Bangkok จำนวน 16 แห่ง ต้องเป็นคลินิกที่สมบูรณ์แบบที่สุดภายในสิ้นปีนี้ 6 คือทุกอย่างครบวงจรต้องอยู่ใน 16 คลินิก และครอบคลุม 6 โซนพื้นที่ของกรุงเทพฯ เวลาตอบสนองต่อการทำงานไม่ใช่แค่เฉพาะเวลาราชการ สิ่งใดที่ทำให้รสนิยม ความมีสีสัน ความหลากหลาย และความเข้าใจของสังคมต่อเรื่องนี้เพิ่มขึ้นยินดีสนับสนุนเต็มที่

จะไปด้วยกันระหว่างเรื่องของวิถี สุขภาพ รสนิยม ความชอบ สีสัน และอิสระของการใช้ชีวิต ซึ่งหวังว่าเราจะทำได้ ตรงไหนที่ติดขัดหากทำได้เลยยินดีดำเนินการทันที หากทำไม่ได้จะหาแนวทางดำเนินการให้ต่อไป” รองผู้ว่าฯ ทวิดากล่าว

ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ได้คาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2565 จำนวน 81,465 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,128 คน และเสียชีวิตภายในปี 2565 จำนวน 1,708 คน ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (NAP Program) ในปี 2564 พบว่ามีผู้ที่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีและมีชีวิตอยู่ จำนวน 80,827 คน ได้รับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่ จำนวน 64,640 คน

และมีผลการตรวจพบว่ามีปริมาณไวรัสในกระแสเลือดน้อยกว่า 1,000 copies/ml จำนวน 52,671 คน จากผลการเฝ้าระวังความชุกของการติดเชื้อเอชไอวี พื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2564 พบว่ากลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 9.1 กลุ่มสาวประเภทสองติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 6.6 กลุ่มพนักงานบริการทางเพศหญิงในสถานที่สาธารณะ (FSW-Non-Vanue) ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 5.9 กลุ่มชายที่มาตรวจรักษากามโรค ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 3.20

สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า กรุงเทพมหานครมีอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 100.53 ต่อแสนประชากร ข้อมูลจากบัตรรายงานผู้ป่วย รง 506 ของสำนักอนามัย พบผู้ป่วย 6,450 คน โรคที่พบมากที่สุดคือ ซิฟิลิส 2,276 คน รองลงมาคือ หูดอวัยวะเพศและทวารหนัก เริมที่อวัยวะเพศ หนองใน และหนองในเทียม โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

กรุงเทพมหานครมีบริการด้านเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศของสำนักอนามัย ประกอบด้วย คลินิกรักปลอดภัย จำนวน 9 แห่ง ให้บริการปรึกษา ตรวจ/รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บริการเชิงรุก Mobile Clinic ,คลินิก PrEP Bangkok จำนวน 16 แห่ง ให้บริการปรึกษา ตรวจเอชไอวี

บริการสนับสนุนอุปกรณ์และยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนและหลังสัมผัสเชื้อ ตรวจการติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี คลินิก Family and Friend (พี่น้องและผองเพื่อน) มีบริการเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัส จำนวน 37 แห่ง ให้บริการคนไทย ผู้ที่ไร้สิทธิรวมถึงแรงงานข้ามชาติ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิการรักษา ทำให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศ มีโอกาสเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ จำนวน 16 องค์กร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ตัวแทนกลุ่ม LGBT ได้แก่ คณะผู้จัดงานนฤมิต ไพรด์, Mr.Gay World Thailand 2018 และ 2019, Miss LGBT Thailand 2022, Mister & Miss Queen Rainbow Sky Bangkok 2022 รวม 60 คน

โดยวิทยากรได้รับเกียรติจาก ผศ.พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และคุณรีน่า จันทร์อำนวยสุข คลินิกแทนเจอรีน มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ซึ่งทุกท่านมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดบริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย