ชาวบ้านในจ.ศรีสะเกษกว่า 2 หมื่นคน ฮือขอสิทธิที่ดินทำกิน ชี้อยู่มานาน กลับถูกรัฐกันเป็นที่สาธารณะ

ชาวบ้านกว่า 20,000 คน 7 หมู่บ้าน 2 ตำบล ชุมนุมเรียกร้องขอที่ดินทำกินที่อยู่มาหลายชั่วอายุคน แกนนำเผยเคยเรียกร้องไปหลายส่วนราชการแล้วแต่เรื่องเงียบหาย วอน ลุงตู่ ช่วยเหลือด้วย

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านโนนแย้ ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้มีตัวแทนชาวบ้านจากจำนวนทั้งสิ้นกว่า 20,000 คน จาก 7 หมู่บ้าน 2 ตำบล ประกอบด้วย ชุมชนโนนสำนัก บ้านโนนแย้ บ้านโนนหล่อ บ้านวังไฮ ชุมชนโนนสำราญ ต.หนองไผ่ และบ้านโนนแดง บ้านเพียนาม ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีชาวบ้านอาศัยอยู่ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 5,000 ครอบครัว นำโดย นางทองคำ ไชยชาญ อายุ 74 ปี ชาว หมู่ 11 ชุมชนโนนสำราญ ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งทั้งหมดอาศัยอยู่ในเขตที่ดินสาธารณะประโยชน์โนนป่ายาง มานานหลายชั่วอายุคนแล้วได้พากันมารวมตัวชุมนุมกันและพากันลงชื่อเพื่อเรียกร้องขอที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ครอบครองอยู่ร่วม 100 ปีแล้ว แต่ต่อมาถูกทางราชการกันพื้นที่ให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ โดยที่ไม่ได้มีการสอบถามตรวจสอบข้อเท็จจริงจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้แต่อย่างใด ซึ่งบรรดาแกนนำชาวบ้านได้พากันปราศรัยเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ผู้ที่มาร่วมชุมนุมได้ทราบ รวมทั้งแจ้งถึงขั้นตอนในการต่อสู้เรียกร้องขอโฉนดที่ดินจากทางราชการ โดยไม่ยินยอมที่จะเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินของตนเองที่อยู่อาศัยมากว่า 100 ปีแต่อย่างใด

นางทองคำ ไชยชาญ อายุ 74 ปี แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ตนและญาติพี่น้องได้อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มานานหลายชั่วอายุคนแล้ว ก่อนปี พ.ศ.2462 – 2464 ก่อนที่จะมีการสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา – อุบลราชธานี โดยมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าที่สาธารณะประโยชน์โนนป่ายาง หรือที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ต.หญ้าปล้อง ได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2468 ซึ่งต่อมาปี พ.ศ.2497 มี พ.ร.บ.ที่ดิน ชาวบ้านได้แจ้งครอบครองที่ดิน โดยใช้เอกสาร สค.1 เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2498 แต่ปรากฏว่าขอออกโฉนดที่ดินโดยใช้ สค.1 ไม่ได้ ซึ่งชาวบ้านได้รวมตัวกันร้องเรียนไปแล้ว และต่อมาปี พ.ศ.2432 มี พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเข้ามาแก้ปัญหาถอนสภาพที่ดินโนนป่ายางทั้ง 4,125 ไร่ แต่ทางราชการไม่ได้บอกกล่าวแก่ชาวบ้านแต่อย่างใด พอถึงปี พ.ศ. 2538 กปร.จ.ศรีสะเกษ ได้สั่งให้ กปร.อ.เมืองศรีสะเกษ ไปจัดทำแนวเขตที่ดินโนนป่ายางอีก เพื่อจะกันไว้เป็นที่สาธารณะรอบที่ 2 ซึ่งเป็นการทำไปโดยพลการ โดยไปกั้นที่ดินของชาวบ้านโดยไม่บอกกล่าว ไม่มีการทำประชาคม ได้พื้นที่ดินไปเนื้อที่ 1,531 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา และชาวบ้านได้รวมตัวกันร้องเรียนเรื่องนี้แล้ว

นางทองคำ กล่าวต่อไปว่า ต่อมาปี พ.ศ.2539 สภา ต.หนองไผ่ ได้มีการจัดประชุมกรรมการสภาตำบล เพื่อให้ลงชื่อลงมติรับแผนที่แนวเขตที่สาธารณะประโยชน์รอบที่ 2 เพื่อจะออก นสล.แล้วให้ชาวบ้านเช่า แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม ได้พากันคัดค้าน เนื่องจากว่าเป็นการดำเนินการเอง โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้เรื่อง แต่ทางราชการได้ขึ้นรูปแบบแผนที่ดินที่จะกันไว้เป็นที่สาธารณะประโยชน์รอบที่ 2 ซึ่งสภา ต.หญ้าปล้อง ได้นำมติที่ประชุม ครั้งที่ 2 / 2539 ลงวันที่ 25 มี.ค.2539 เสนอต่อ กปร.จ.ศรีสะเกษ ซึ่ง กปร.จ.ศรีสะเกษ ไม่ได้ทบทวนสอบทานตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ลงมติเห็นชอบกับคณะกรรมการ กปร.อ.เมืองศรีสะเกษ และได้นำเสนอไปยัง กปร.ส่วนกลาง ซึ่งได้เห็นชอบกับ กปร.จ.ศรีสะเกษ และสั่งให้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) แล้วจัดให้ชาวบ้านเช่าที่ดินของตนเองที่อยู่อาศัยมานาน ถ้าชาวบ้านไม่เช่าจะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง ได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปยังหลายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบหาย ไม่มีการดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านแต่อย่างใด

นางทองคำ กล่าวต่อไปว่า พวกตนจึงขอเรียกร้องให้นายธวัช สุระบาล ผวจ.ศรีสะเกษ ที่เป็นคนใจซื่อ มือสะอาด ไม่มีหน้าบ้านหลังบ้าน เป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานานกว่า 100 ปี โดยขอให้ ผวจ.ศรีสะเกษ ยกเลิกมติ กปร.2 / 2539 ลงวันที่ 25 มี.ค.2539 และทำให้ถูกต้องและเป็นธรรมตามข้อเท็จจริง และตนขอฝากความหวังไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือลุงตู่ นายกรัฐมนตรีขวัญใจชาวบ้านผู้ยากไร้ ขอให้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านโนนป่ายาง โดยการแก้ปัญหาแบบธรรมาภิบาล ให้ชาวบ้านมีที่อยู่ที่ทำกินเป็นของตนเอง โดยขอให้ออกโฉนดที่ดินในเขตโนนป่ายาง จำนวน 4,125 ไร่ ให้กับชาวบ้านด้วย เนื่องจากว่าเคยร้องทุกข์ไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกส่วนแล้ว แต่ว่าไม่ได้มีการช่วยเหลือชาวบ้านแต่อย่างใด

 

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์