Soft Power ผ่านมุมมอง “พีเค พัสกร” จากวงการบันเทิงสู่เส้นทางการเมือง

พีค พัสกร วรรณสิริกุล
พีเค พัสกร วรรณสิริกุล สมาชิกและคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพรรคกล้า

Soft Power ของไทย จะไปได้ไกลแค่ไหน ? น่าจะเป็นคำถามที่ใครหลายคนอยากรู้

แม้ปรากฏการณ์ “ข้าวเหนียวมะม่วง” จากแรปเปอร์สาวชื่อดัง มิลลิ ดานุภา คณาธีรกุล บนเวทีระดับโลกอย่าง Coachella Valley Music and Arts Festival 2022 ได้กลับมาเรียกเสียงฮือฮาให้กับ Soft Power อย่างมาก และดูเหมือนว่า จะทำให้รัฐบาลตื่นตัวกับ Soft Power อีกครั้ง 

แต่ทุกอย่างเหมือนจะเป็นเพียงกระแสที่ได้รับความสนใจเพียงชั่วขณะ หากยังเป็นเช่นนี้ Soft Power ของไทยจะสามารถผลักดันให้ไปได้ไกลแค่ไหน 

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ พีเค พัสกร วรรณศิริกุล สมาชิกและคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพรรคกล้า กับการเบนเข็มจากวงการบันเทิงสู่วงการการเมืองในวัย 25 ปี และมุมมองต่อ Soft Power ไทย 

วงการบันเทิง สู่การเมือง

พีเค พัสกร เข้าสู่วงการบันเทิงในช่วงอายุ 20 ปี ขนานไปกับการโลดแล่นอยู่ในวงการศิลปะ เคยประกอบอาชีพทั้งนายแบบ ช่างภาพ นักแสดง ผู้กำกับและจิตรกร แต่แล้ววันหนึ่งจุดเปลี่ยนของความคิดที่อยากจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงในวงการบันเทิงและศิลปะ เป็นตัวผลักให้เขาเริ่มเข้าสู่วงการการเมือง ในนามสมาชิกของพรรคกล้า เพราะเห็นว่า น่าจะเป็นอาชีพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด  

“เราแค่อยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ก็เลยคิดดูอีกที ถ้าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในศิลปะเนี่ย เราต้องแข่งกับกี่คน 8,000 ล้านคน แล้วเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ยังไง อาชีพไหนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด ก็เลยคิดว่า ออ การเมือง เป็นอาชีพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด ซึ่งความฝันคือ อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง คิดว่า ชีวิตก็มีแค่นี้ อยากรู้สึกสำคัญบ้าง ผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกติ แล้วผมก็ได้โอกาสช่วยด้วย ได้สามารถช่วยคนได้อะไรแบบนี้ ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นก็ Why not ?”

จุดเริ่มต้นในพรรคกล้า 

พีเค เล่าว่า วันที่ได้เข้าไปสัมภาษณ์กับ คุณกรณ์ จาติกวณิช (หัวหน้าพรรคกล้า) ได้นำประวัติการทำงาน และสิ่งที่ได้เคยทำไปนำเสนอ ซึ่งคุณกรณ์ก็ได้มองเห็นศักยภาพที่จะเข้ามาทำงานในนามคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพรรคกล้า ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 นโยบายหลักของพรรค

Soft Power  คืออะไร ?

ถ้าถามว่า Soft Power คืออะไร ในมุมมองของ พีเค มองว่า จริง ๆ แล้ว Soft Power คือทุกอย่างไม่ใช่จำกัดแค่เพียงศิลปะเท่านั้น ปัจจุบันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเหมือนกัน ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทย เพราะเขารู้ว่า มาที่นี่แล้วมันสนุก มันชิล 

แม้กระทั่งนามหรือคำเรียกประเทศเราต่าง ๆ อย่างเช่น Land of Smile หรือ Amazing Thailand ก็เป็น Soft Power เหมือนกัน

แผนผลักดัน Soft Power ในนามพรรคกล้า

นโยบายหรือการวางแผนงานที่ผลักดัน Soft Power ของพรรคกล้า พีเค บอกว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ แต่หลัก ๆ จะมีอยู่ 2 องค์ประกอบ คือ หนึ่ง หาองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้ต่างชาติอยากมาเที่ยวเมืองไทย อาจจะยังไม่ใช่ภาพใหญ่ เป็นเพียงบางแห่งในประเทศก่อนก็ได้ 

อีกมุมหนึ่งคือ ต้องอำนวยความสะดวก ให้กับผู้ประกอบการ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power เช่น โปรดักชั่น กราฟิก ฟรีแลนซ์ รวมทั้งอาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

“มันต้องเป็น 2 ทาง ก็คือ ให้คนสนใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และก็ต้องดูแลด้วย สำหรับคนที่กำลังช่วยโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ ผมว่า นี่คือ บริบทของผม การดึงให้คนมาเที่ยว และก็อำนวยให้กับคนที่ช่วยโปรโมต Soft Power ให้เขาเต็มใจที่สุดในการทำงาน”

สิ่งที่อยากผลักดันให้เป็น Soft Power ของไทย

พีเค มองว่า จริง ๆ มีหลายอย่างมากควรเป็น Soft Power และบางอย่างก็เป็น Soft Power อยู่แล้ว แต่บางอย่างก็ไม่ได้ถูกสนับสนุนโดยภาครัฐ ไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐ เช่น ซีรีส์วายของไทยที่ถูกส่งออกไปจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แล้วก็ไปที่อเมริกาใต้ด้วย 

แต่ในขณะเดียวกัน ศิลปะดั้งเดิมก็ควรถูกพัฒนาควบคู่กันไปด้วย ให้คนสามารถเข้าถึงได้และสามารถส่งออกไปได้ เพราะส่วนตัวรู้สึกว่าศิลปะดั้งเดิมไม่ได้ให้ราคากับคนไทย แต่สามารถขายให้กับต่างชาติได้ และจะเป็นเงินที่อัดฉีดเข้าในประเทศของเรา 

ต่อมา ศิลปะไทยร่วมสมัย เช่น Thai hiphop, Thai reggae, Thai rock หรือเพื่อชีวิต สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้รับความนิยมจากรัฐบาล แต่หากเราตั้งใจที่จะทำ ผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและศิลปินที่ส่วนมากจะเป็นคนรุ่นใหม่ เราจะสามารถผลักดันให้สิ่งเหล่านี้ไปไกลได้อีก 

“เช่นแบบ มิลลิ Soft Power ข้าวเหนียวมะม่วง ถ้าสมมติว่าเราผลักดันให้มันมีคุณภาพจริง ๆ เพราะตอนนี้เขาไม่สนับสนุนอะไรเลย ถ้าเกิดว่าเราสนับสนุนให้เขายกระดับคุณภาพของเขาในระดับที่สูง ในระดับสากลเนี่ย ผมว่ามัน มัน”

“คนก็จะเริ่มเห็นว่า Thai art is cool, Thai culture is cool ผมอยากให้เรื่องราวที่คนจากต่างแดน ให้เขามองเข้ามาเมืองไทย ให้มันยกระดับเข้าไปอีก ไม่ใช่ว่าเราเป็นแค่เมืองท่องเที่ยวหรือเมืองส่งออก แต่เป็นเมืองของวัฒนธรรมด้วย ซึ่งเราก็เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ทำยังไงให้เขาจำได้ ให้เขาเห็นว่า เฮ้ย เมืองไทยนี่แหละ เป็นจุด Hub ของวัฒนธรรม”

พีค พัสกร วรรณสิริกุล

ภาครัฐควรผลักดัน Soft Power อย่างไร 

“ผมอยากให้ภาครัฐสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยของกลุ่มหลาย ๆ กลุ่ม คนไทยเก่ง เก่งมาก คนไทยมีความสร้างสรรค์เท่ากับทุกคนบนโลกนี้ เท่ากับอเมริกัน เท่ากับยุโรป แต่เขาขาดอุปกรณ์ หรือการผลักดันให้เขาไปถึงจุดที่ถึงได้ เพราะว่าศิลปะมันแพง มันไม่ง่าย อุปกรณ์นู่นนี่นั่น ผมอยากให้รัฐสนับสนุนการเรียนรู้เชิงศิลปะ วัฒนธรรมร่วมสมัย ให้เขาสามารถมีอุปกรณ์ที่เขาสามารถผลักดันตัวเองไปในจุดที่สามารถแข่งกับศิลปะทั่วโลกได้”

“โอกาสนิยม” ทุกคนต้องได้รับโอกาส 

พีเค ยังอธิบายว่า หนึ่งในแกนหลักของพรรคกล้า คือ โอกาสนิยม ซึ่งโอกาสที่เท่าเทียมมันอาจจะยาก แต่เราเชื่อว่าเราต้องให้โอกาสเขา ให้โอกาสให้เขาสามารถพัฒนาตนเองได้

“พี่คนหนึ่งหรือใครก็ได้ อาจจะเป็นเกษตรกรอยู่ วันนึงมีเงินพอที่จะซื้อมือถือมา เขาทำ TikTok เกี่ยวกับฟาร์มของเขา เขาอยากจะขายสตรอว์เบอรี่ออร์แกนิก มันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า วันหนึ่งร้านสตรอว์เบอรี่ของเขาอาจจะติดเทรนดิ้ง แล้วคนก็มาเยี่ยมสตรอว์เบอรี่เขา”

เป้าหมายในวงการการเมือง 

เมื่อถามถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ในวงการเมือง พีเค มองว่า เขาจะไม่ตีกรอบตัวเอง ว่าต้องเป็นแบบไหน ทำให้ได้ถึงไหน แค่เป็นตัวแทนพรรคกล้า อยากทำงานการเมือง อยากทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งตัวเขาเองก็มี 2 แคมเปญหลัก ๆ 

“แคมเปญแรกก็คือ การเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งก็คือ ช่างมันเถอะว่า ใครจะอยู่พรรคอะไร ใครจะถือธงอะไร ใครจะใส่เสื้อสีอะไร ช่างมัน เรามาวัดกันที่บุคคล แต่ละคนว่าเขาคิดยังไง นโยบายของเขามีอะไร ปรัชญาของเขาคืออะไร และการกระทำของเขาคือยังไง”

“แคมเปญที่สองก็คือ เรื่องของสุขภาพจิต ผมอยากผลักดันให้ทุกพรรคการเมือง และรัฐบาล และภาครัฐ ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพจิตมากขึ้น ถ้าผมสามารถทำให้ระบบหรืออุตสาหกรรมสุขภาพจิตมันดีขึ้นได้ ให้มันเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้นได้ ผมก็รู้สึกเต็มใจ เต็มอิ่มแล้วครับผม ผมไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดว่า สิ่งสิ่งนั้นมันเกิดขึ้น ผมว่า ผมช่วยประเทศแล้วครับ”