ลูกจ้างมิตซูฯเซ็งไกล่เกลี่ยครั้งที่ 11 เหลว นัดถกใหม่ ผวจ.ชลบุรี นั่งหัวโต๊ะ

เมื่อวันที่ 8 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้สิทธิปิดงานหลังจากเกิดข้อพิพาทเรื่องค่าจ้างกับพนักงาน ทำให้พนักงานประมาณ 1,800 คน ขาดรายได้นับตั้งแต่ปลายปี 2560 และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 8 มกราคมนี้นั้น

ล่าสุดสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ระบุว่า มีสมาชิกประมาณ 1,800 คน ซึ่งนับตั้งแต่เกิดปัญหาได้มีการเจรจาข้อเรียกร้องมาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2560 ซึ่งการเจรจาผ่านไป 10 ครั้ง แต่ไม่ได้ข้อยุติ กระทั่งมีการนัดหมายเจรจาครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่ตัวแทนบริษัทไม่ไปตามนัด เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทจึงนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 8 มกราคมนี้ ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2556-2560 บริษัทมีกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 กำไร 4,488,157,811 ล้านบาท ปี 2557 กำไร 7,786,189,579 ล้านบาท ปี 2558 กำไร 7,503,285,560 ล้านบาท ปี 2559 กำไร 8,871,412,241 ล้านบาท และปี 2560 กำไร 8,986,060,301 ล้านบาท

วันเดียวกัน นายสมชาย ไชยมาตย์ รองประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ฝ่ายคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้ทุกฝ่ายได้นัดเจรจาในเวลา 10.00 น. แต่ตัวแทนบริษัท มิตซูบิชิฯ ยึกยักและขอเลื่อนการเจรจาเรื่อยมา โดยมีตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้ประสานงาน กระทั่งได้พูดคุยร่วมกันในเวลา 14.30 น. พร้อมอ้างว่านายชาลี ลอยสูง ในฐานะที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯ ไม่สามารถเป็นตัวแทนเข้าประชุมได้ แต่ไกล่เกลี่ยจนเป็นผลให้เข้าประชุมได้ตามกฎหมาย เบื้องต้น ยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาเพิ่มเติม ส่วนรูปแบบการเจราจานั้น ได้แยกห้องฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ประสานงาน ส่วนการพูดคุยไม่ได้กดดันหรือเคร่งเครียดแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปกระบวนการและขั้นตอน เพื่อหาข้อยุติโดยเร็วและเพื่อไม่ให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานงดจ้าง

“เนื่องจากวันนี้ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ขั้นตอนต่อไปคือ เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดได้เดินทางไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อรายงานผลให้ทราบ และเชิญให้มานั่งเป็นหัวโต๊ะหรือประธานในการเจราจาร่วมกันทั้งสามฝ่าย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทราบว่า บริษัท มิตซูบิชิฯ เริ่มได้รับผลกระทบในการผลิตเครื่องปรับอากาศแล้ว จากเดิมมีความสามารถผลิตงานได้ 30,000 ตัว รวม 21 สายการผลิต ขณะนี้สามารถผลิตได้เพียงวันละ 300 ตัวเท่านั้น” นายสมชาย กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์