ปิดตำนานสาย 8 เดือน ส.ค.นี้ จี้ขนส่งฯเผยข้อมูลขอใบอนุญาต

สาย 8

ผู้บริหารรถร่วมสาย 8 ชี้แจงเหตุไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถ ชี้ กรมการขนส่งทางบก ไม่โปร่งใส จี้เปิดคะแนนยื่นขอใบอนุญาต เผยเตรียมเดินรถหมายเลขใหม่ “2-38” เดือนสิงหาคมนี้ ยันพนักงาน 20 ราย ไม่ตกงาน 

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ข่าวสดรายงานว่า น.ส.ฑิราภรณ์ เมธิสริยพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายเดินรถ บริษัทไทยบัสขนส่ง จำกัด 1 ใน 3 ผู้ให้บริการรถร่วมสาย 8 เปิดเผยถึงกรณีไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถในเส้นทาง แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ถนนนวมินทร์ ตามเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนดว่า

บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบการจาก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559-31 ตุลาคม 2566 เป็นระยะเวลา 7 ปี จากนั้นในปี 2561 เข้าสู่การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ขบ. ได้เชิญผู้ประกอบการ เข้าร่วมในการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถดังกล่าว โดยบริษัทยื่นคำขอไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 และปลายปี 2565 ส่วนเอกสารแจ้งมายังบริษัทไม่ได้รับเลือกและผ่านคุณสมบัติ จากนั้นบริษัททำหนังสือไปยัง ขบ. เพื่อสอบถามถึงการไม่ผ่านคุณสมบัติด้วยเหตุผลอะไร

น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าวอีกว่า โดย ขบ. แนะนำให้ไปยื่นอุทธรณ์ ภายใน 15 วัน โดยหนังสือจาก ขบ. ลงวันที่ 29 เมษายน 2565 แต่ได้รับหนังสือวันที่ 5-6 เมษายน 2565 จากนั้นติดวันหยุดยาว เทศกาลสงกรานต์ปี 2565 ทำให้บริษัทได้ทำหนังสือมาที่ ขบ. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565

จากนั้นได้รับหนังสือจาก ขบ. ว่าจะขยายระยะเวลาให้ยื่นอุทธรณ์อีกภายใน 30 วัน ซึ่งบริษัทดำเนินการตามขั้นตอน แต่กลับพบว่าบริษัทยื่นอุทธรณ์เลยเวลาที่กำหนด เพราะใช้เวลา 22 วัน ซึ่งเกิน 15 วันที่กำหนดไว้ ทำให้ไม่ได้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ไม่ประสบความสำเร็จ และ ขบ.แนะนำให้ไปยื่นศาลปกครองในเรื่องดังกล่าวภายใน 90 วันแทน

จี้ ขบ. เผยคะแนนยื่นขอใบอนุญาตสาย 8

น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าว ขบ. ดำเนินการไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผยข้อมูล และขอให้ ขบ. ชี้แจงเรื่องดังกล่าวด้วยว่า บริษัทได้คะแนนในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบการสาย 8 จำนวนเท่าไร และผู้ประกอบการรายใหม่ได้รับคะแนนเท่าไร เพราะบริษัทดำเนินการตามหลักเกณฑ์ยื่นคำขอทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สภาพรถ ตัวถัง สภาพอู่จอดรถเมล์ ความพร้อมความมั่นคงของบริษัท ซึ่งบริษัทเสนอใช้รถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ (อีวี) มาให้บริการ 100% โดยจะใช้ 25 คัน ภายหลังจากได้รับใบอนุญาตมีแผนจะนำรถมาบรรจุในเส้นทางภายใน 180 วัน

โดยทยอยเปลี่ยนรถเมล์ใหม่มาให้บริการแทนรถเมล์ร้อนเดิมที่ให้บริการในเส้นทาง เพื่อให้ผู้โดยสารมีทางเลือกและบรรจุรถให้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปี ซึ่งในใบอนุญาตประกอบการเดินรถครั้งนี้ ขบ. กำหนดให้คะแนนพิเศษสำหรับผู้ประกอบการในเส้นทางนี้ 10 คะแนน สำหรับการเปิดยื่นคำขอใบอนุญาตเดินรถครั้งนี้ ใบอนุญาตฯ มีอายุ 7 ปี แหละนี่เป็นครั้งแรกที่เป็นการเปิดขอรับตรงจาก ขบ. จากเดิมผู้ประกอบการรถร่วมของ ขสมก. ต้องขอรับสัมปทานทำสัญญาเดินรถจาก ขสมก. เท่านั้น

สาย 8

เดินรถสายใหม่ 2-38 เริ่ม ส.ค. นี้

น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางสาย 8 นี้ ได้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการรายใหม่จะนำรถมาให้บริการภายในเดือนสิงหาคม 2565 โดยใช้ชื่อเส้นทางใหม่ว่า สาย 2-38 ซึ่งขณะนี้บริษัทจะรอคำชี้แจงจาก ขบ. หากมีความชัดเจนในเรื่องผลคะแนนแล้วจะยอมรับคำตัดสินและยุติการเดินรถ ซึ่งในเส้นทางดังกล่าวมีรถ 26 คัน ปัจจุบันเหลือ 10 คัน

ยันพนักงาน 20 คน ไม่ตกงาน

เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบจากโควิด-19 มีรายได้น้อย เดิมก่อนโควิด-19 ได้วันละ 4,000 บาทต่อคันต่อวัน และช่วงโควิด-19 ลดเหลือ 1,500 คันต่อวัน ทำให้ขาดทุนกว่า 2,000 บาทต่อคันต่อวัน ส่วนพนักงานที่มี 20 คน ขอยืนยันว่า พนักงานทั้งหมดไม่ตกงานแน่นอน เพราะตอนนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะมาเดินรถแทนสาย 8 แล้วว่าขอฝากพนักงานเข้าทำงานด้วย ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่ได้รับปากว่าจะรับเข้าทำงานทั้งหมด

น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าวว่า ส่วนการดำเนินการกับรถเมล์นั้น ก่อนหน้านี้ที่มีรถเมล์ 26 คัน ได้ทยอยชำแหละรถ หรือตัดชิ้นส่วนรถขายแล้วประมาณ 30-40% ซึ่งขายเป็นเศษเหล็กได้ราคา 50,000-60,000 บาทต่อคัน ขณะนี้จะหยุดดำเนินการในส่วนนี้ก่อนจนกว่าจะได้รับคำชี้แจงและความชัดเจนจาก ขบ. รวมทั้งหากพบว่าไม่ได้เดินรถแล้วจะต้องดำเนินการถอดบัญชีรถหรือทะเบียนรถออกจากระบบของ ขบ. ด้วย

สาย 8

ร้อง 10 ปี ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ

“ผู้ประกอบการรถร่วมไม่ได้รับความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย เพราะ 10 กว่าปีที่เจอปัญหาและผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในปี 2551 นโยบายรถเมล์ฟรี ทำให้ผู้โดยสารนั่งรถเมล์ฟรีมากขึ้น ทำให้รายได้หาย 50% ทั้งที่ต้นทุนเท่าเดิม ต่อมาในปี 2552 สงครามอีรัก ทำให้น้ำมันแพงต้องลงทุนเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ เอ็นจีวีแทน ต้นทุนเปลี่ยน 400,000-500,000 บาทต่อคัน”

“ถัดมาในปี 2554 น้ำท่วมกรุงเทพฯ และ ในปี 2557-2558 ได้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้บริการรถเมล์ของรัฐได้ ยกเว้นรถเมล์ของเอกชน และ ในปี 2563 จนถึงปัจจุบันกว่า 2 ปีครึ่ง เจอปัญหาโควิด-19 ต่อเนื่อง ยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการรถร่วมปีอีก” น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าว

น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ติดค้างชำระหนี้ค่าตอบแทนกับทาง ขสมก. นั้น ยอมรับว่าผู้ประกอบการฯ กว่า 90% ติดค้างชำระหนี้ โดยแบ่งเป็น รถเมล์ขนาดใหญ่กว่า 800 ล้านบาท และรถมินิบัส 600 ล้านบาท หรือรวมเป็นเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ ติดค้างชำระหนี้ค่าตอบแทน และค่าอุบัติเหตุ ประมาณ 1 ล้านบาท

จากผลกระทบดังกล่าว หลังจากนี้บริษัทจะยื่นข้อเสนอถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดยจะขอให้ภาครัฐยกหนี้ค่าประกันสัญญา และค่าประกันอุบัติเหตุทั้งหมด หรือให้จ่ายเพียง 5-10% ของหนี้ที่ค้างชำระ เพราะไม่เช่นนั้น นอกจากบริษัทจะไม่สามารถให้บริการได้ครบอายุสัญญาสัมปทาน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 แล้วต้องปิดกิจการไปแบบตัวเปล่าอีกด้วย

น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ขสมก. ได้ส่งหนังสือยกเลิกสัญญาสัมปทาน เนื่องจากที่บริษัทชำระหนี้ค่าตอบแทนไม่ตรงวันที่กำหนด ซึ่งค้างชำระตั้งแต่กลางปี 2564 เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 และในเวลาต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ของ ขสมก. ถอดสติกเกอร์ ขสมก. ออกจากรถเมล์ของบริษัทฯ พร้อมทั้งยึดเงินประกันค่าสัญญา 3 แสนบาท และค่าประกันอุบัติเหตุประมาณ 500,000-600,000 บาท หรือรวมเป็นเงินกว่า 1,000,000 บาท

สาย 8