
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ว่าทั้งสองบริษัทจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม กับ BTSC
วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือกันระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัทร่วมหารือว่า ในการร่วมหารือในครั้งนี้มีการพูดคุยกันใน 4 ประเด็น คือ ประเด็นการเปิดเผยสัญญา ประเด็นเรื่องคดีความที่ทาง BTSC ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพธนาคมและกรุงเทพมหานคร ประเด็นการตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมหารือการปรับแก้สัญญา ประเด็นการเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
- เปิดประวัติ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นักการเมืองดัง ลูกเจ้าพ่อปากน้ำ
ในประเด็นการเปิดเผยสัญญานั้น ทางกรุงเทพธนาคมได้แจ้งว่าได้มีการมอบสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคมกับ BTSC ไปยังกรุงเทพมหานครในฐานะผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งทาง BTSC ก็ได้รับทราบแต่การจะเปิดเผยสัญญานั้นได้มีการฝากความเห็นผ่านกรุงเทพธนาคมไปยังผู้บริหารกรุงเทพมหานครว่า หากจะเปิดเผยสัญญาขอให้เปิดเผยในระดับเดียวกันกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายอื่น เพราะหากเปิดเผยทั้งหมดอาจจะทำให้เสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจต่อไป
ประเด็นคดีความที่ทาง BTSC ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพธนาคม และกรุงเทพมหานครนั้น ทางกรุงเทพธนาคมเสนอว่าควรมีการเจรจากันเพื่อตกลงกันก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาล จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เนื่องจากการพิจารณาคดีของศาลนั้นกินระยะเวลายาวนาน
และประเด็นสุดท้ายเรื่องการเจรจาในเนื้อหาของสัญญา โดยการเจรจาในเนื้อหาสัญญานั้นทางกรุงเทพธนาคม เสนอให้มีคณะทำงานของแต่ละบริษัทศึกษา และนำมาหารือร่วมกันเสียก่อน กรณีที่มีความคืบหน้าพอสมควรจึงจะมีการหารือร่วมระหว่างคณะกรรมการของแต่ละบริษัทอีกครั้งหนึ่ง โดยกรุงเทพธนาคมได้เสนอให้มีการร่วมหารือใน 4 ประเด็นของสัญญาคือ
1.ค่าจ้างเดินรถ
2.ค่าโฆษณาที่ติดอยู่ตามรถไฟฟ้า
3.รายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเข้าออกสถานี ระบบการชำระบัญชี
4. ระยะเวลาของสัญญาจ้างเดินรถ โดยในประเด็นนี้ศาสตราจารย์พิเศษธงทองได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของหลายปัจจัย เหตุผลของการจ้างเดินรถระยะยาวถึงปี 2585 อาจหมดความจำเป็นลง
ในส่วนของประเด็นการเรียกเก็บค่าโดยสารนั้น ทาง BTSC ได้แจ้งแก่กรุงเทพธนาคมว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโดยสารจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนในการปรับเปลี่ยนแก้ไข ทั้งระบบคอมพิวเตอร์ และระบบป้ายตามสถานีต่าง ๆ
แต่ทั้งนี้ใน 4 ประเด็นที่หารือร่วมกันทาง BTSC กล่าวว่าจะต้องนำไปหารือกับกรรรมการของบริษัทอีกครั้งหนึ่ง