คนกรุงได้เฮ! ฝนหอบลมหนาวมา 13 ม.ค. อุณหภูมิตอนเช้าอาจลดเหลือ 17 องศาเซลเซียส

วันที่ 9 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากการตรวจสอบแบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) พบว่า เมื่อเวลา 14.40 น. กรุงเทพมหานคร(กทม.) ฝนเล็กน้อยถึงปานกลางเขตดินแดง พญาไท บางกะปิ วังทองหลาง เคลื่อนตัวทิศตะวันตก แนวโน้มคงที่ ปริมาณฝนสูงสุดเขตบางกะปิ 5.0 มม. เวลา 15.00 น. ฝนเล็กน้อยถึงปานกลางเขตดินแดง ห้วยขวาง บางกะปิ สวนหลวง วัฒนา พญาไท ราชเทวี อีกกลุ่มเขตตลิ่งชัน เคลื่อนตัวทิศตะวันตก แนวโน้มคงที่ ปริมาณฝนสูงสุดเขตบางกะปิ 9.0 มม. และในเวลา 15.30 น. ฝนเล็กน้อยถึงปานกลางเขตดินแดง ห้วยขวาง ราชเทวี คันนายาว จตุจักร หลักสี่ ลาดพร้าว วัฒนา แนวริมแม่น้ำ อีกกลุ่มเขตบางพลัด บางกอกน้อย ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน เคลื่อนตัวทิศตะวันตก แนวโน้มคงที่ ปริมาณฝนสูงสุดเขตวังทองหลาง 25.0 มม.

“ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมเป็นต้นไป บริเวณความกดอากาศสูงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะเริ่มแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทย โดยปรากฏการณ์ฝนตกในวันนี้เป็นความกดอากาศสูงระลอกแรกที่เข้ามา แล้วมาปะทะกับลมตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีฝนตก ถือเป็นฝนตกก่อนที่จะมีอากาศหนาวตามมา เพราะหลังจากนี้ ความกดอากาศสูงก็จะแผ่ลึกเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคมเป็นต้นไปอุณหภูมิจะค่อยๆลดลง โดยความกดอากาศสูงจะแผ่เข้ามาลึกที่สุดในเช้าวันเสาร์ที่ 13 มกราคม โดยความกดอากาศสูงละลอกนี้อาจจะไม่แรงเท่าความกดอากาศสูงเมื่อช่วงวันที่ 20-21 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในช่วงเช้าของวันที่ 13 มกราคม พื้นที่กทม.น่าจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส โดยอาจจะอยู่ที่ 17-18 องศาเซลเซียส”วาฟระบุ

วาฟระบุด้วยว่า บริเวณความกดอากาศสูงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนระลอกนี้ ยังทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงตั้งแต่วันที่ 11-14 มกราคม จากนั้นอุณหภูมิก็จะค่อยๆสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พื้นที่ภาคใต้ เพราะทุกครั้งที่ลมหนาวมาแรง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือก็จะมีกำลังแรงขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ในภาคใต้ โดยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร และอีกสิ่งที่น่าห่วงคือ ลมหนาวรอบนี้จะสร้างหย่อมความกดอากาศต่ำที่บริเวณเกาะบอเนียว ประเทศมาเลเซีย และมีแนวโน้มขึ้นฝั่งที่ประเทศมาเลเซียตอนบน ทำให้ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีฝนตกหนักในวันที่ 14-15 มกราคม ดังนั้นจะต้องติดตามพัฒนาการ และการเคลื่อนตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำนี้อย่างใกล้ชิด

 


ที่มา  มติชนออนไลน์