บทบรรณาธิการ: ค่าไฟฟ้า “ขาขึ้น”

ค่าไฟขึ้น
บทบรรณาธิการ

เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันเดือน พ.ค.-ส.ค. อยู่ที่ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย ทุบสถิติค่าไฟแพงสูงสุดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าปรานีระดับหนึ่ง เพราะการขึ้นค่าไฟหนนี้เป็นไปตามที่ กกพ.เปิดประชาพิจารณ์ โดยให้เลือก 3 แนวทาง ซึ่งนอกจากขึ้นค่าเอฟทีแล้ว ยังต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งใช้คืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่แบกรับค่าไฟมาก่อนหน้านี้จำนวน 83,010 ล้านบาท โดย 2 แนวทางแรกจะบวกเงินส่งคืน กฟผ.เข้าไปอีก

แนวทางแรกเก็บค่าเอฟที 93.43 บวกกับเงินเพิ่มใช้หนี้ กฟผ. 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟสูงถึง 5.17 บาทต่อหน่วย ใช้เวลา 1 ปีคืนหนี้ได้หมด แนวทางที่ 2 บวกเพิ่มน้อยลงเหลือ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย แต่การส่งเงินคืน กฟผ.จะยืดเป็น 2 ปี และแนวทางที่ 3 ขึ้นแต่ค่าเอฟทีแต่ไม่เก็บเงินเพื่อใช้หนี้ กฟผ. จึงอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

การทำประชาพิจารณ์แน่นอนว่าต้องเลือกจ่ายน้อยสุดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่ กกพ.คาดไว้ จะว่าไปไม่ต่างจากการใช้จิตวิทยามาช่วยเพิ่มราคาสินค้า คือต้องการปรับเพิ่มขึ้นแต่เกรงจะถูกต่อต้านหรือตำหนิ จึงใช้วิธีให้ทางเลือกกับผู้บริโภค แต่ทางเลือกที่ให้มานั้นแย่กว่าการปรับเพิ่มราคาอย่างเดียว เป็นการทำประชาพิจารณ์ที่แทบจะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะออกทางไหน

อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าไฟงวดล่าสุดเหมือนเริ่มนับ 1 เท่านั้น เพราะประเมินว่าตลอดปีหน้าค่าไฟจะปรับขึ้นทุกรอบการประชุม กกพ. เนื่องจากต้องชดเชยเงินคืนให้ กฟผ. รวมทั้งดูสถานการณ์ราคาก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญผลิตไฟฟ้าว่าจะขยับขึ้นอีกหรือไม่

แผนขึ้นค่าไฟฟ้าช่วงสุดท้ายของปีนี้รวมถึงปีหน้า ย่อมกระทบกับประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะประชาชนที่กำลังแย่จากราคาสินค้าพาเหรดขึ้นราคาเกือบทุกชนิด ที่ตามมาไม่พ้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เกินอั้นแล้ว เพราะล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับขึ้นอีกรอบ 0.75% มาอยู่ที่ 2.25%-2.50% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่แค่ 0.50% ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าด้วย


จึงมีเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง ภาคเกษตรกรรม และธุรกิจขนาดย่อม ที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า หรือยกเว้นค่าไฟฟ้ากับบางครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินจำนวนที่กำหนด เพราะคนกลุ่มเหล่านี้แค่ประคองตัวให้อยู่รอดไปวัน ๆ ก็เหนื่อยสาหัสแล้ว อย่าเอาค่าไฟฟ้ามาซ้ำเติมอีกเลย