มท.แนะ 3 แนวทางป้องกันเกิดเหตุถูกสวมบัตรปชช.นำไปเปิดบัญชี จี้รัฐ-เอกชน ดูหน้าคนใช้บริการด้วย

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงมาตรการป้องกันของกรมการปกครองไม่ให้เกิดปัญหาอย่างกรณีน.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ อายุ 24 ปี ที่ถูกสวมบัตรประชาชนแล้วนำไปเปิดบัญชีธนาคาร 7 แห่งอีกว่า เรื่องบัตรประชาชนแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.เจ้าของบัตร ควรรักษาบัตรประชาชนให้ดี 2.หากบัตรหายต้องรีบทำใหม่โดยเร็วที่สำนักทะเบียนทุกแห่งทั่วประเทศ 3.เมื่อแจ้งบัตรหายและออกบัตรใหม่แล้วระบบคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครองจะบันทึกไว้ว่าบัตรใบเก่าถูกยกเลิกเนื่องจากแจ้งหายไว้แล้ว ทั้งนี้ระบบฐานทะเบียนราษฎร์ของเราเป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเชื่อมโยงกับทุกสำนักอำเภอ ท้องถิ่น สถานทูต ฉะนั้นฐานข้อมูลของกรมจะเป็นแบบเรียลทาม เมื่อมีคนแจ้งหายระบบก็จะบันทึกไว้ทันทีซึ่งเรามีบริการให้ส่วนราชการ ภาคเอกชน เข้ามาตรวจสอบได้

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า สำหรับส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐที่มีการนำบัตรประชาชนไปใช้ เมื่อมีการนำบัตรประชาชนไปใช้ลงทะเบียนลูกค้าหรือผู้มาขอรับบริการ สิ่งที่ต้องทำ 3 อย่างคือ 1.ต้องดูหน้าตาว่าผู้มาขอใช้บริการหน้าตาเหมือนในบัตรหรือไม่ ใช่เจ้าของบัตรหรือไม่ 2.ต้องตรวจสอบด้วยว่าบัตรประชาชนใบที่ใช้ทำธุรกรรมเป็นของจริงหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยเครื่องอ่านบัตรประชาชนราคาตัวละ 198 บาท โดยทุกธนาคารและทุกสาขาสามารถซื้อติดตั้งได้ ถ้าข้อมูลเหมือนกับหน้าบัตรก็แสดงว่าเป็นบัตรจริง แต่ถ้ามีการนำใบไปแก้ไข พิมพ์ใหม่ก็ตรวจสอบได้ว่าข้อมูลเดิมที่อยู่ในชิปกับหน้าบัตรปัจจุบันไม่ตรงกัน แสดงว่ามีการปลอมแปลงบัตรมา 3.เนื่องจากตอนนี้เป็นบัตรประชาชนเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์บางครั้งอาจจะมีการแจ้งหายไปแล้ว ทางกรมก็มีระบบให้คอมพิวเตอร์ของแต่ละหน่วยงานวิ่งเข้ามาตรวจสอบได้ว่าบัตรใบนี้มีสถานภาพเป็นปกติ ถูกแจ้งหาย หรือถูกยกเลิกเนื่องจากสวมตัวหรือไม่ ซึ่งภาคเอกชนยังไม่ค่อยได้ใช้กระบวนการนี้ ทั้งนี้ถ้าทำครบทั้ง 3 ขั้นตอนจะยืนยันพิสูจน์ตัวตนบุคคลได้อย่างชัดเจน

“ฉะนั้นในการบริการของภาคเอกชนหรือภาครัฐคงต้องเพิ่มกระบวนการคือ 1.ดูหน้าตาผู้ใช้ 2.ดูว่าบัตรถูกแก้ไขหรือไม่ บัตรแท้หรือไม่ 3.เขียนเว็ปเซอร์วิสมาที่เราว่าบัตรใบนี้ถูกยกเลิกเพิกถอนหรือยัง จะทำให้รัดกุมขึ้น โดยกรมการปกครองเตรียมระบบนี้มาไว้หลายปีแล้ว เพียงแต่ภาคเอกชนและภาครัฐบางส่วนต้องปรับปรุงระบบเขาให้ทันกับที่เรารองรับไว้ เชื่อว่าเมื่อมีกรณีน.ส.ณิชาเกิดขึ้น ทุกภาคส่วนคงจะเร่งมาทำให้สมบูรณ์ โดยปรับระบบซอฟแวร์ของแต่ละแห่งและทำการติดตั้งเครื่องอ่านบัตร ทั้งนี้การรับแจ้งความเรื่องบัตรหายก็อยู่ที่สำนักทะเบียนเลย ไม่ว่าที่อำเภอหรือที่เขต และขอยื่นคำร้องการมีบัตรใหม่ได้ในครั้งเดียว แต่หากจะแจ้งลงบันทึกประจำวันเพื่อความสบายใจก็สามารถทำได้ตามที่ตำรวจแนะนำ แต่โดยหลักฐานที่ยื่นกับทางเขตหรือทางอำเภอก็ถือเป็นเอกสารราชการที่ออกโดยเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้แจ้งหายไว้แล้ว ใครนำบัตรไปทำธุรกรรมหลังจากนี้ต้องถือว่าเป็นโมฆะ” นายวิเชียร กล่าว

เมื่อถามว่า บางคนก็กังวลว่าไม่ต้องแจ้งความแต่ก็ยังเกิดเรื่องแบบน.ส.ณิชาได้ นายวิเชียร กล่าวว่า อย่างที่เรียนในเมื่อเรามีระบบให้ตรวจสอบแบบข้างต้นแล้ว ภาคธุรกิจ เอกชนก็ต้องตรวจด้วย แต่เราไม่สามารถไปบังคับให้เขาตรวจได้ เราก็แนะนำว่าเพื่อการทำธุรกรรมที่สมบูรณ์ ท่านควรมาตรวจกับเราและควรใช้เครื่องอ่านบัตรประชาชน แทนการใช้สำเนาหรือเอกสาร

ที่มา มติชนออนไลน์