ว่าที่เจ้าของใหม่เชลซี

คอลัมน์ : คุยกับเอกราช
ผู้เขียน : เอกราช เก่งทุกทาง

เชลซีหลังสิ้นยุคโรมัน อับราโมวิช อาจไม่ได้สิ้นหวังอย่างที่กลัวกัน แต่มันก็เป็นการผจญภัยที่ต้องลุ้นและเอาแน่นอนไม่ได้

เชลซีกำลังอยู่ในกระบวนการสรรหาเจ้าของใหม่ มีนักลงทุนยื่นข้อเสนอแข่งกันร่วม 20-30 ราย แต่ที่มีศักยภาพจริง ๆ มีไม่ถึง 10 เจ้า

Chelsea’s Russian owner Roman Abramovich applauds (Photo by Ben STANSALL / AFP)

เรน กรุ๊ป ธนาคารจากอเมริกาที่เป็นตัวแทนดูแลการซื้อขาย จะคัดเลือกกลุ่มทุนที่เหมาะสมที่สุดประมาณ 4 ราย ส่งให้ผู้บริหารเชลซีเลือกก่อนจะยื่นต่อให้รัฐบาลอังกฤษ รวมทั้งพรีเมียร์ลีกรับรอง คาดว่าจะสรุปได้เรียบร้อยภายในเดือนเมษายน โดยมูลค่าของสโมสรน่าจะสูงถึง 3 พันล้านปอนด์

“บิดเดอร์” ที่เป็นตัวเต็งตอนนี้ มีตระกูลริคเก็ตต์ส จากอเมริกา นำโดย ทอม ริคเก็ตต์ส วัย 55 เจ้าของทีมเบสบอล ชิคาโก้ คับส์

กลุ่มที่สอง มาจากอเมริกาเช่นกัน คือ กลุ่มที่มี ท็อดด์ โบห์ลี่ เจ้าของร่วมทีม แอลเลด๊อดเจอร์ส กับ แอลเอ เลเกอร์ส เป็นคนออกหน้า

โบห์ลี่มีมหาเศรษฐีชาวสวิส ฮันสยอร์ก ไวส์ ร่วมลงขันด้วย จึงเป็นเต็งจ๋า โอกาสชนะสูงพอดู

แต่ทั้งคู่ก็ประมาทกลุ่มของ นิค แคนดี้ ไม่ได้ แคนดี้เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวอังกฤษวัย 49 และเป็นแฟนเชลซีมาตลอดชีวิต รายนี้หาเสียงว่า ถ้าซื้อทีมได้จะให้แฟนบอลมาร่วมเป็นบอร์ด มีส่วนในการบริหาร นิค แคนดี้ น่าจับตาอยู่เหมือนกัน เพราะได้กลุ่มทุนจากเกาหลีใต้ มาร่วมสนับสนุนถึง 2 เจ้า

ส่วนกลุ่มอื่นที่มีสิทธิลุ้นก็คือ ซาอุมีเดีย กรุ๊ป เจ้าพ่อสื่อรายใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง รวมทั้ง กลุ่มเซนตริซัส ที่มีสองมหาเศรษฐีอังกฤษ โจนาธาน ลูรี่ กับ บ๊อบ ฟินช์ เข้าร่วม กลุ่มนี้โปรโมตตัวเองว่า เป็นนักลงทุนอังกฤษแท้ เชลซีจะเป็นสมบัติของชาติต่อไป

ทั้งหมดคือกลุ่มหลักตัวใหญ่สุด มีโอกาสสูงสุดที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของทีมต่อจากโรมัน อับราโมวิช

แน่นอนว่า มันมีกระแสเปรียบเทียบ มีการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละกลุ่มเกิดขึ้น

กลุ่มนักลงทุนอเมริกัน ได้เปรียบเรื่องทุนสูง และมีประสบการณ์ แต่แฟนบอลกลัวว่าจะซ้ำรอยแมนฯยูฯ ที่เจ็บปวดกับตระกูลเกลเซอร์ส เจ้าของทีมชาวอเมริกัน ถูกมองว่าเน้นทำกำไรเป็นหลักไม่รู้เรื่องฟุตบอล ไม่ค่อยสนใจสร้างทีมอย่างจริงจัง

ส่วนกลุ่มทุนจากซาอุดีอาระเบียถูกตั้งข้อสงสัยว่า รัฐบาลซาอุฯเป็นแบ็กอัพอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า เว้นจากตะวันออกกลาง ถึงจะเยอะ แต่ถ้าเป็นเงินจากรัฐบาล มีส่วนได้ส่วนเสียจากรัฐบาล พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ก็คงไม่เอา

ถ้ามองจากปัจจัยรวม ๆ กลุ่มของนิค แคนดี้ จึงมีลุ้นชนะขึ้นมาทันที เว้นแต่ว่า บอร์ดเชลซีไม่กลัวนักลงทุนอเมริกัน ไม่กลัวเป็นแมนฯยูฯ 2 ความได้เปรียบจึงจะไปอยู่กับทอม ริคเก็ตต์ส และท็อดด์ โบห์ลี่ แทน

แต่ไม่ว่าเจ้าของใหม่เป็นใคร ก็ยากจะมาแทนที่โรมัน อับราโมวิช ในใจของแฟนบอลอยู่ดี

ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับสงคราม แต่เป็นเรื่องของจิตใจล้วน ๆ