“ไทยคม” ดิ้นฝ่าวิกฤต พลิกเกมสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ณ เวลานี้ต้องถือว่าเป็นอีกจุดวิกฤตตลอด 26 ปีของ”ไทยคม” บริษัทดาวเทียมไทย เมื่อผลประกอบการปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,650 ล้านบาท ติดลบ 264.4% เมื่อเทียบจากปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 1,612 ล้านบาท ขณะที่ข้อพิพาทกับภาครัฐยังเป็นมหากาพย์ที่ไร้ตอนจบ “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์” ถึงทิศทางจากนี้กับเป้าหมายต่อไป

Q : ปีที่แล้วเป็นปีหนักมาก

เป็นความท้าทายที่ต้องทำธุรกิจในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง หุ้นไทยคมเคยขึ้นสูงสุด 30-40 บาท ตอนนี้เหลือ 12 บาท 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วยผลกระทบจากการยุติบริการของลูกค้ารายใหญ่มาก อย่าง CTH กับแกรมมี่แค่ 2 รายนี่ก็เป็น 10 ทรานสปอนเดอร์ ยังมีที่ออสเตรเลีย ซึ่งเดิมใช้งานเยอะแต่สุดท้ายรัฐบาลเขาก็มาทำเอง กระทบรายได้เราพอสมควร เมื่อการแข่งขัน เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมีทางเลือกในการดูคอนเทนต์มากขึ้น ก็ต้องกัดฟันยอมรับว่า เมื่อไม่สามารถห้ามการเปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องปรับตัว

หลายปีที่ผ่านมาเราเร่งสร้างดาวเทียมค่อนข้างเยอะตั้งแต่ดวง 6 ถึง 8 เป็นช่วงที่ธุรกิจเติบโตเยอะโดยเฉพาะด้านบรอดแคสต์ เมื่อมาสะดุดจึงต้องหาทางใช้คาปาซิตี้ดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปให้ได้มากที่สุดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

Q : อุปสรรคเยอะ

ก็มีวิบากกรรมมาตลอด ตอนนี้ก็ยังไม่พ้น เรามองมาตลอดว่า ปี 2564 สัมปทานจะหมดแล้วต่อไปจะอยู่อย่างไร คิดว่าจะเหมือนบริษัทอื่นในไทย อาทิ บริษัทที่ทำมือถือที่เริ่มจากสัมปทาน ก่อนเปลี่ยนเป็นใบอนุญาต แต่ปรากฏว่าพอไทยคมเข้าสู่ระบบใบอนุญาต กลับมีความไม่ชัดเจนจากกระทรวง (ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ว่า เราเป็นใบอนุญาตได้หรือไม่หรือกลับไปสู่สัมปทานเป็นข้อพิพาทในไทยคม 7 และ 8

Q : ทางแก้

ถ้าเป็นรายได้จากดาวเทียม ในแง่คาปาซิตี้ที่ใช้ในไทยค่อนข้างเต็ม แต่ที่อื่นเน้นรีเทลมากขึ้น พยายามเอาคาปาซิตี้ที่เหลือไปทำธุรกิจอื่นอย่างในออสเตรเลียก็เจาะในพื้นที่ที่ดาวเทียมรัฐบาลเต็ม ในจีนกำลังเจรจากับพาร์ตเนอร์ทำแผนการตลาดใหม่ให้ใช้คาปาซิตี้ได้ดีขึ้น

Q : จะไม่มีดาวเทียมใหม่

เดิมเรามีแผนจะยิงไทยคม 9 แต่ดูจากสถานการณ์ตรงนี้ ก่อนหมดสัมปทานคงไม่มีดวงใหม่แล้วมั้ง คือถ้ามีธุรกิจ มีลูกค้ามาซัพพอร์ตก็อาจมีดวงใหม่ แต่ถ้าไม่มีความแน่นอนเรื่องลูกค้าที่จะอยู่กับเราพร้อมซื้อเหมาไปตั้งแต่ต้นที่จะทำให้โครงการไปได้ ก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ถือหุ้นจะอนุมัติ และคาปาซิตี้ที่มีก็พอรองรับลูกค้าได้อีก 4 ปี มีไทยคม 4 5 6 7 และ 8 ที่ยังใช้อยู่

และมีแผนทำให้ต้นทุนลดลง ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันสูงสุด เพราะการแข่งขันสร้างดาวเทียม มีแรงกดดันเรื่องต้นทุนพอสมควร เรายังมีต้นทุนการกำกับดูแล ค่าใบอนุญาต ค่าสัมปทานที่ต้องพิจารณาอีก ก็มุ่งแนวทางบริหารแอ็กเซสในปัจจุบันให้สร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต และต้นทุนต่ำกว่าเดิม ติดตามเทคโนโลยีหลายอย่าง อย่างดาวเทียมทั่วไป อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงเป็นหลัก ไทยคม 1-2 ทั้ง 2 ดวงที่ปลดระวางไป อุปกรณ์ยังดีแต่ไม่มีเชื้อเพลิงให้ใช้ ปัจจุบันมีแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะยืดอายุได้ โดยเฉพาะในดาวเทียมที่มีการใช้งานไม่มากนักอย่างไทยคม 4 ถ้ายืดอายุการใช้ต่อก็จะเพิ่มมูลค่าได้ และไหน ๆ ดาวเทียมก็แข่งราคาดุเดือดมาก ทุกเจ้าคาปาซิตี้เหลือ เราก็ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ทำตัวเป็นลูกค้าเลือกซื้อของถูก ซื้อคาปาซิตี้มาอาศัยประสบการณ์ ความรู้ความสามารถนำมาให้บริการแบบแพ็กเกจ เพิ่มโซลูชั่นใหม่ไปให้ลูกค้าแทน ปัจจุบันก็ทำ อย่างมารีนไทม์บริการระบบสื่อสารบนเรือเดินสมุทร มาเป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์ เปลี่ยนจากแซตเทลไลต์โอเปอเรเตอร์เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม ให้บริการโซลูชั่น end-to-end

Q : ธุรกิจดาวเทียมในอนาคต

อยู่ในช่วงทรานซิชั่นแต่เชื่อว่าไม่หมดไปจากโลก เป็นเทคโนโลยี ที่สิ่งอื่นมาทดแทนไม่ได้ ทั้งด้านบรอดแคสต์และระบบสำรอง โดยเฉพาะช่วงภัยพิบัติ รวมถึงบรอดแบนด์อาศัยเครือข่ายที่ครอบคลุมและอัพเดตได้พร้อมกันมากที่สุด รายได้จากดาวเทียมยัง 80-90% แต่เป้าหมาย 5 ปีจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50% บนสมมุติฐานว่าจะไม่มีการยิงดาวเทียมใหม่

Q : ลุยธุรกิจใหม่

นอกจากมารีนไทม์ที่ให้บริการระบบสื่อสารบนเรือเดินสมุทร เรือสำราญ กับแอปพลิเคชั่น LOOX TV ที่ดำเนินการแล้ว แต่ยังอยู่ในจุดที่ไม่ได้คาดหวังรายได้ที่จะกลับมามากนัก สเต็ปแรกต้องทำให้ผู้ใช้มากที่สุด เพื่อให้เกิดโมเดลรายได้ต่อ ต้องมีผู้ดาวน์โหลดแอป 3-4 แสนราย จากตอนนี้แสนกว่าราย มีลูกค้าธุรกิจ 1 แสนราย จากตอนนี้ 2 หมื่น ถึงจะพอต่อยอด เช่น เป็นตัววัดเรตติ้งคอนเทนต์ เรายังทำงานใกล้ชิดอินทัช ที่มีโครงการอินเวนต์หาสตาร์ตอัพที่เหมาะกับเรา กลางปีน่าจะเห็น 2-3 โปรดักต์

Q : บรอดแบนด์โตแต่ขาย CSL

เป็นเรื่องของทั้งกรุ๊ป เมื่อเอไอเอสมาทำธุรกิจอินเทอร์เน็ต ก็ไม่ควรแข่งกันเอง ควรหาทางทำอย่างไรให้แข็งแกร่ง CSL มีนิชมาร์เก็ตที่มีลูกค้าค่อนข้างเยอะ ท่ามกลางการแข่งขัน แต่การเติบโตจะยาก รวมกันจะดีกว่า ส่วน CSL จะออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ ต้องดูหลายอย่าง

Q : เป้าหมายปีนี้

รักษาฐานรายได้ให้ได้ และหารายได้ใหม่ทดแทนที่เสียไป ลุยธุรกิจใหม่ เพราะธุรกิจดาวเทียมคือ sunk cost ไปแล้ว ขายได้เท่าไรก็มาช่วยได้เท่านั้นเพราะไม่ใช่การลงทุนใหม่ ถ้าลงทุนใหม่จะมีโอกาสเติบโต

Q : จะพ้นจากการเป็น บ.การเมือง

แล้วแต่มุมมองรัฐบาล เราไม่ได้อยากเป็นบริษัทการเมืองแต่โดนลากไปตลอด ตอนนี้ปมกฎหมายก็ยังแก้ไม่ออก ข้าราชการไม่อยากตัดสินใจ จริง ๆ ถ้ามองในแง่พื้นฐานไม่ควรมีปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ทางออกตอนนี้คือ ไม่เจรจาเพื่อให้ใช้ ม.44 มาปลดล็อก ก็ต้องรอให้หมดสัมปทานไปเอง

มหากาพย์ ธุรกิจดาวเทียม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจของ”ไทยคม” ตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2549 ไม่ราบรื่นนักจากปมปัญหาตามคำพิพากษาศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีการกล่าวถึงสถานะ “ไอพีสตาร์” และการปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้น “อินทัช” ในไทยคม จาก 51% เหลือ 40%

แม้จะรุ่งโรจน์ช่วงปี 2555-2557 ที่ “กทค.” หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม อนุมัติใบอนุญาตไทยคม 7 และ8 จนมีการยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรใน ก.ย. 2557 และ พ.ค. 2559 ตามลำดับ จนเริ่มแผนยิงไทยคม 9 และยื่นขอใช้วงโคจรจากกระทรวงดีอี ปลายปี 2558 ประเด็นสถานะไทยคม 7 และ 8 จึงกลับมาใหม่ พร้อมคำถามที่ว่า เป็นสัมปทานหรือไม่

จนวันที่ 5 ต.ค. 2560 กระทรวงดีอีส่งหนังสือแจ้งไทยคม ระบุ “ไทยคม 7 และ 8” เป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทาน ให้ดำเนินการตามสัญญาให้ครบถ้วน ทั้งการโอนกรรมสิทธิ์ส่งมอบทรัพย์สิน การสร้างดาวเทียมสำรอง การชำระผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งกลายเป็นปมพิพาทใหม่กับหน่วยงานรัฐ บอร์ดไทยคม 24 ต.ค. 2560 มีมติยืนยันว่าทั้ง 2 ดวงไม่ได้อยู่ภายใต้สัมปทาน แต่ดำเนินการภายใต้ไลเซนส์จึงยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด เมื่อ 25 ต.ค. 2560 เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560

ฟาก “ไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยคมระบุว่ากว่าจะได้ข้อสรุปอาจถึงปี 2564 หมดสัมปทานไปแล้วก็ได้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอชื่ออนุญาโตฯแต่ละฝ่ายเข้าไป ก่อนเลือกอนุญาโตฯที่เป็นคนกลาง

“ยืนยันว่าไทยคม 7 กับ 8 ได้ใบอนุญาต มีหลักฐานยืนยัน แต่การเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตฯดีคือรัฐจะยกเลิกสัญญาไม่ได้จนกว่าผลจะออก ตอนนี้ทุกฝ่ายดำเนินการตามหน้าที่ของตนเองไป แต่ก็ทราบว่ามีการยกระดับนำเรื่องไปสู่การพิจารณาของรองนายกฯและนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเข้าใจเรื่องประโยชน์ที่ควรจะเจรจาหาทางออกกับประเทศ”

อาจต้องยอมรับว่า พลาดที่ตอนยิงทั้ง 2 ดวงนี้ไม่ได้ตั้งบริษัทลูกไปขอไลเซนส์แยกชัดไปเลย เหมือนที่บริษัทผู้ให้บริการมือถือทำตอนเข้าประมูล 3G/4G ทำให้ไม่มีคำถามว่าอยู่ในไลเซนส์หรือสัมปทาน ส่วน “ไอพีสตาร์” (ไทยคม 4) ยืนยันว่า การดำเนินการได้รับอนุมัติจากภาครัฐ ซึ่งข้อพิพาทนี้ต้องรอว่าทางกระทรวงจะอย่างไรต่อ


“เป็นประเด็นจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ไม่ได้เกี่ยวกับบริษัท และไม่มีอะไรที่กระทรวงเสียหายได้ ดาวเทียมดวงใหญ่ขึ้น ส่วนแบ่งรายได้ก็รับมอบไปแล้ว และยังได้รับอยู่ 22.5% ถ้าปฏิเสธว่าเป็นดาวเทียมนอกสัมปทานก็ต้องคืนเงินมาจึงคาราคาซังกันอยู่”