ผูกสัญญาพันธมิตร “TOT-AIS” สมประโยชน์

ในที่สุดแผนประมูลคลื่น 2100 MHz ของ “เอไอเอส” บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เมื่อ 16 ต.ค. 2555 ที่ยอมเคาะราคา 14,625 ล้านบาท แพงกว่าคู่แข่งพันกว่าล้าน ทั้ง ๆ ที่จำนวนใบอนุญาตกับผู้ประมูลเท่ากัน เพื่อเลือกลอตความถี่ในส่วนที่ติดกับ “ทีโอที” ถือครองอยู่ 15 MHz ก็เห็นผล

เมื่อ 5 ม.ค. 2561 ทีโอทีและเครือเอไอเอสก็ได้ฤกษ์ลงนามใน 2 สัญญา คือ สัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2100 MHz

ซึ่งทำให้ “เอไอเอส” ขยายสิทธิ์ใช้คลื่นย่านนี้ได้ถึง 30 MHz แม้ต้องแลกด้วยการจ่ายค่าโรมมิ่งอีกหมื่นกว่าล้านบาท และลงทุนขยายโครงข่ายกว่า 20,000 สถานีให้ทีโอทีเช่าใช้ แต่ “วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส ยืนยันว่า เป็นดีลที่คุ้มค่า เพิ่มศักยภาพในการให้บริการดิจิทัลให้กับเอไอเอส

“ยิ่งได้คลื่นเพิ่มขึ้นเท่าตัว สปีดและคุณภาพบริการก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว ปีนี้จะอัพเกรดโครงข่ายเป็น 4G ทั้งหมด”

เมื่อรวมกับคลื่น 900 MHz ในมือ 10 MHz และย่าน 1800 MHz อีก15 MHz จะทำให้เอไอเอสมีคลื่นให้ใช้ถึง 55 MHz ไม่น้อยกว่าค่ายใด

ฟาก “ทีโอที” ที่เดินเรื่องนี้ตั้งแต่ 15 ต.ค. 2557 แม้ในแง่รายได้จะไม่ได้เพิ่มจากเดิม เนื่องจากทั้งคู่ได้ทำสัญญา “ทดลอง” ให้บริการและรับรู้รายได้ระหว่างกันมาปีกว่าแล้ว เบ็ดเสร็จทีโอทีจะมีรายได้ขั้นต่ำ 3,900 ล้านบาทต่อปี

แต่ “มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เปิดเผยว่า ในแง่ของความมั่นคง การลงนามใน “สัญญาอย่างเป็นทางการ” เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะผูกพันเป็นพันธมิตรถึงปี 2568

“การลงนามในครั้งนี้จะทำให้ทีโอทีมีโครงข่ายบนคลื่น 2100 MHz เพิ่มขึ้นจาก 5,000 สถานีฐาน เป็น 20,000 สถานีฐาน โดยการเช่าจากเอไอเอส ซึ่ง 80% ของความจุโครงข่าย เอไอเอสจะเข้ามาใช้งานผ่านโรมมิ่ง อีก 20% ทีโอทีใช้งานเอง รวมถึงนำไปให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ MVNO (เช่าใช้โครงข่าย) ดังนั้น รายได้จะเพิ่มขึ้นไปอีก โดยขึ้นอยู่กับศักยภาพการทำตลาดของทีโอทีเองด้วย คาดว่าภายใน 2-3 ปี ทีโอทีจะมีลูกค้าโมบายเพิ่มเป็น 2 ล้านราย จากเดิมราวแสนราย”

ส่วน “สัญญาร่วมทุนทาวเวอร์ 2G” ที่เป็นการใช้ทรัพย์สินสัมปทานร่วมกันระหว่างเอไอเอสกับทีโอที หลังสิ้นสุดสัมปทานตั้งแต่ 30 ก.ย. 2558 ก็ยังเป็นอีกภารกิจที่ทั้ง 2 บริษัทเร่งผลักดันให้เสร็จในปีนี้ โดยหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส ยืนยันว่า ยังมีความหวังที่จะร่วมทุนกันเพื่อบริหาร JV (กิจการร่วมค้า) เพราะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีอนาคต เนื่องจากปัจจุบันการตั้งทาวเวอร์ใหม่ไม่ง่าย ทั้งด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้ “เสา” ติดอุปกรณ์ได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่อุปกรณ์โทรคมนาคมอีกต่อไป

“เราศึกษา JV ของ แคท (บมจ.กสท โทรคมนาคม) และดีแทค (บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) ดังนั้นอะไรที่เป็นข้อกังวล อะไรที่เข้าข่ายสัญญา PPP ได้ปรับแก้ให้ไม่เข้าเกณฑ์ อาทิ ให้เจ้าของเสาขายให้ JV เพื่อให้ JV เป็นผู้บริหาร โดยมีผู้มาเช่าแน่ ๆ อย่างเอไอเอส และเปิดให้รายอื่นมาเช่าได้ด้วยตามนโยบายรัฐบาล แต่ต้องใช้เวลา เพราะคณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติ”

ส่วนการหาพาร์ตเนอร์ด้านอื่นของทีโอที “มนต์ชัย” กล่าวว่า เหลือแค่ในส่วนคลื่น 2300 MHz ที่จะจับมือกับ “ดีแทค” และกำลังรอคำตอบอย่างเป็นทางการจาก กสทช. เพื่อจะเดินหน้าให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา

แม้เดิมบอร์ดจะให้หาพันธมิตรใน 6 กลุ่มธุรกิจ แต่ไม่มีเอกชนสนใจเป็นพาร์ตเนอร์ในกลุ่มธุรกิจอื่น ซึ่งก็สอดคล้องกับ “เอไอเอส” ที่ระบุว่า แม้จะสนใจเป็นพาร์ตเนอร์ด้านบรอดแบนด์กับทีโอที เนื่องจากมีสัมพันธ์แนบแน่นกันตั้งแต่สมัยเป็นคู่สัมปทานกันมา25 ปี แต่เมื่อบริษัทมีบริการ “เอไอเอส ไฟเบอร์” ที่กำลังเร่งทำตลาดอยู่จึงถือเป็นคู่แข่งกันโดยตรงที่ไม่น่าจะหาช่องทางจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกันได้