ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ ปักธง Born in Thailand บนเก้าอี้ แม่ทัพ ไมโครซอฟท์

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธ์ุ
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธ์ุ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

นั่งเก้าอี้ “ผู้นำ” ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว สำหรับ “ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” ซึ่งเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แม้จะเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ในแง่ธุรกิจได้รับผลดี เพราะโควิดกระตุ้นให้การนำเทคโนโลยีมาใช้งานเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติทั้งในระดับบุคคลไปจนถึงองค์กรต่าง ๆ

ตั้งแต่เอสเอ็มอีไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ แต่ในแง่การบริหารจัดการภายในองค์กร และการทำงานกับลูกค้าก็น่าจะต้องปรับเปลี่ยนไม่ใช่น้อย เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีนิวนอร์มอล และหลายสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม

การเป็น “ผู้นำ” องค์กรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของหลายสิ่ง นับเป็นความท้าทาย และในโอกาสครบรอบ 5 ปี “ธนวัฒน์” ตั้งเป้าว่าต้องการผลักดันองค์กรไปสู่การสร้าง “Born in Thailand” ภายใต้แนวคิด “สร้างคน สู่อนาคต เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” (Empowering Thailand’s Futuremakers) เสริมจุดแข็งในฐานะ “ผู้ผลิต” ต่อยอดสู่การเป็นผู้ “คิดค้น”

วิกฤตสร้าง “โอกาส” ใหม่

นายธนวัฒน์พูดถึงโอกาสที่มาพร้อมวิกฤตโควิดว่า ตั้งแต่ก่อนโควิดไมโครซอฟท์พยายามผลักดันให้ลูกค้าใช้โปรแกรมประชุมออนไลน์ “ไมโครซอฟท์ ทีม” (MS Team) มาตลอด ก็ยังมีการใช้งานไม่มากนัก แม้จะเป็นโปรแกรมที่มีให้ใช้ฟรี กระทั่งระหว่างที่เกิดการระบาดของโควิด และหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง

พบว่าการใช้งานเติบโตขึ้นมากกว่า 1,000% และยังมีการใช้งานต่อเนื่อง ถึงขั้นเรียกได้ว่า ใครไม่ใช้อาจ “ตกเทรนด์” ชัดเจนว่าโควิดผลักดันให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น เร็วขึ้น แต่จะใช้มากน้อยหรือในด้านใดบ้าง ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละองค์กร

เช่น บางองค์กรอาจต้องการเพิ่มประสบการณ์ในการใช้งานให้กับลูกค้า บางแห่งต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน หรือบางแห่งต้องการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ รวมไปถึงเพื่อลดต้นทุน ทำให้องค์กรกระชับขึ้น เป็นต้น

หากมองในภาพรวมพบว่าแต่ละอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก, โลจิสติกส์, สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจธนาคาร “แอ็กทีฟ” อย่างมาก ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของธนาคารขนาดใหญ่แทบทุกแห่ง ไม่ใช่แค่ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลเพื่อให้บริการภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาคอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์เคยประกาศพันธกิจว่า ต้องการเป็น Cloud For All เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ปัจจุบันกว่า 90% ของแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ล้วนอยู่บนระบบ “คลาวด์” และใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

“ในภาพใหญ่เราได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้คลาวด์กลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานใหม่ในการทำธุรกิจทั่วโลก ทั้งเปิดเวทีให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทเชื่อมโยงโลกปัจจุบันเข้ากับอนาคต ไม่ว่าจะเป็น เมตาเวิร์ส, AI, ควอนตัมคอมพิวติ้ง หรือการทำงานแบบไฮบริด”

ทั้ง 4 เทคโนโลยีมีความโดดเด่นในตัวเอง แต่ทิศทางการพัฒนาที่น่าสนใจที่สุดมาจากการผสมผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อนำไปปรับใช้ เช่น การจับคู่เมตาเวิร์สกับการทำงานแบบไฮบริด หรือ AI กับควอนตัม

เคล็ดไม่ลับ “ไฮบริดเวิร์ก”

นายธนวัฒน์กล่าวว่า โควิดทำให้องค์กรต่าง ๆ หันมาทำงานแบบ “ไฮบริด” แม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าควรแบ่งสัดส่วนระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศและที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้เท่าไร เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร แต่จากข้อมูลของไมโครซอฟท์ทั่วโลก (ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020)

พบว่าการทำงานแบบไฮบริดทำให้เวลาประชุมเพิ่มขึ้น 250% สำหรับในประเทศไทยพบว่า 68% ของพนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดต้องการทำงานนอกสถานที่แบบเต็มร้อย และ 53% เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจมากกว่างาน

76% มองว่าตนเองทำงานได้มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าเดิม และ 59% เปิดใจรับการประชุมในเมตาเวิร์ส หรือในรูปตัวละครเสมือนจริง

“ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่องค์กรควรรู้เพื่อที่จะปรับรูปแบบการทำงานให้สอดรับกับความต้องการของพนักงาน เพราะเป็นสิ่งที่พนักงานปัจจุบันต้องการ ถ้าทำได้ก็จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้”

สำหรับไมโครซอฟท์ ประเทศไทยเอง ก็ใช้นโยบายที่เรียกว่า “เฟล็กซิเบิล เวิร์กเพลส” คือใช้หลักยืดหยุ่น ทั้งในแง่เวลา และสถานที่ เช่น ถ้าพนักงานอยากเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า 50% ก็ทำได้เลย แต่ถ้าน้อยกว่า 50% ต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา โดยสามารถเลือกโลเกชั่นได้ด้วยว่าจะทำงานที่ไหน เช่น อาจไปทำที่ภูเก็ต เป็นต้น

ทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าแต่ละทีม หรือแต่ละแผนก ต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกัน (Team Agreement) เช่น ทีมการตลาดอาจมีการตกลงกันเองว่าจะเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศกี่วัน วันไหนบ้าง

“ถ้าไม่มีทีมอะกรีเมนต์จะเกิดปัญหาว่า มีคนที่เข้ามาทำงานที่ออฟฟิศแล้วไม่เจอใครเลย พอมา 2-3 ครั้งก็จะไม่อยากเข้ามาแล้ว เราเชื่อว่าการทำงานต้องเป็นไฮบริด แต่ถ้าจะเข้ามาก็ควรเข้ามาด้วยกัน ไม่เข้าก็ไม่เข้าด้วยกัน”

ไม่ใช่แต่การทำงาน “ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย” ยังออกแบบกิจกรรมหลายอย่างให้ทำร่วมกันแบบไฮบริดด้วย เช่น จัดคอร์สโยคะให้คนทั้งที่อยู่ออฟฟิศ และที่บ้าน ทำไปพร้อมกันได้ หรือแม้แต่การจัดปาร์ตี้ภายในมาออฟฟิศก็จะจัดส่งอาหารไปให้คนที่ทำงานที่บ้านด้วย เป็นต้น

ปักธง “Born in Thailand”

กลับมาที่เป้าหมายในขวบปีที่ 5 ในฐานะ “ผู้นำ” องค์กร เขาบอกว่าต้องการมีส่วนในการผลักดันประเทศไทยจากการเป็น “ผู้ผลิต” ไปสู่การเป็น “ผู้คิดค้น” ซึ่งทั้งหมดเกิดมาจากการที่บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ สำหรับอนาคต ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “ทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะเดินต่อไปทางไหน ?”

ซึ่งจากผลสำรวจ World Digital Competitiveness Ranking ของสถาบัน IMD จากสวิตเซอร์แลนด์ ในปลายปี 2021 สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างหลายจุดที่ยังต้องเติมเต็ม โดยเฉพาะด้านทักษะเชิงดิจิทัล การจ้างงานในสายงานเชิงวิทยาศาสตร์ และเทคนิค และการจดสิทธิบัตรด้านนวัตกรรม

โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 38 ของโลก ด้านความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล และอยู่ในอันดับ 10 ของเอเชีย

ด้านการมีทักษะด้านดิจิทัลอยู่อันดับ 42 แต่ด้านเทคโนโลยีอยู่อันดับ 22 ของโลก แสดงว่าการขยายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เข้าถึงบ้านในไทยทำได้ค่อนข้างดี แต่ความพร้อมในอนาคต (future readiness) กลับอยู่อันดับที่ 44 เนื่องจากขาดทัศนคติด้านความเป็นผู้ประกอบการ

“คนไทยไม่ชอบเสี่ยง เช่น จะลงทุนด้านดิจิทัลก็มักคิดก่อนว่าจะได้อะไรกลับมา ดังนั้นการสร้าง entrepreneurship จึงถือเป็นความท้าทาย”

ทั้งหมดนำไปสู่โจทย์ใหญ่ว่าทำอย่างไรให้ประเทศไทย ก้าวจาก “Made in Thailand” ไปสู่ “Born in Thailand” โดยจะดำเนินการภายใต้แนวคิด “สร้างคน สู่อนาคต เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” แบ่งเป็น 3 ด้าน

คือ 1.การสร้างคน ด้านทักษะเชิงดิจิทัล และการเรียนรู้ทุกระดับ 2.การนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพในการคิด และสร้างสิ่งใหม่ ๆ โดยมองไปยังอนาคต และ 3.การร่วมมือกับทุกภาคส่วนนำทั้งทักษะ และเทคโนโลยี มาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้จริง

“ในเรื่องการสร้างคน เราเสริมทักษะเชิงดิจิทัลให้คนไทยต่อเนื่อง มีเป้าหมายที่ 10 ล้านคน ภายในปี 2024 เช่น มีโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงานที่ก้าวสู่เฟส 2 กับเป้าหมาย 1.8 แสนคน ทำให้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีโอกาสเติบโตในสายอาชีพ มีรายได้เพิ่ม และได้ประกอบอาชีพใหม่, โครงการ Microsoft Cloud Squad ที่รวมตัวผู้ที่สนใจ และคนทำงานสายเทคโนโลยี ทั้ง Cloud, Data, AI, Security ให้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญกัน”

และกำลังจะเปิดตัว Microsoft LearningVerse เป็นพื้นที่การเรียนรู้ในโลกดิจิทัล ที่รวมทุกแหล่งความรู้และผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายของไมโครซอฟท์มาไว้ที่เดียว

จ้างคนเพิ่ม 20%-ช่วยลูกค้าอัพสปีดธุรกิจ

ด้านเทคโนโลยีสำหรับอนาคต มีหลากหลายด้านเน้นตอบสนองความต้องการด้านนวัตกรรมของธุรกิจปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับ hybrid work ให้เวิร์ก (making hybrid work work), ยกระดับประสบการณ์ในองค์กรให้คนเข้าถึงทรัพยากร และข้อมูลได้ครบ และคล่องตัวด้วย Microsoft Viva

และ Viva Connections ที่ช่วยให้ข้อมูล และการสื่อสารจากผู้บริหารถ่ายทอดไปถึงพนักงานมากขึ้น รวมถึงมี Viva Learning แพลตฟอร์มเชื่อมโยงแหล่งความรู้หลาย ๆ แหล่งขององค์กรไว้ด้วยกัน พร้อมโซลูชั่นใหม่ Viva Goals เป็นต้น

“เราต้องการให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ในทุกแห่ง หรือ innovate anywhere บนคลาวด์ ด้วย Microsoft Azure ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแอปพลิเคชั่นแบบ low-code ที่ทำได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ต่างจากแบบเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ ทำให้คนมีโอกาสการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น”

ในปี 2021 ไมโครซอฟท์เปิดตัวบริการใหม่บน Azure ถึง 1,100 บริการ (วันละ 3 บริการ) เพื่อให้นักพัฒนามีเครื่องมือพร้อมนำไปประยุกต์ใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบปกป้องข้อมูลที่รักษาความเป็นส่วนตัวในทุกขั้นตอนเพื่อให้ทันภัยร้ายในโลกดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Zero Trust เพราะจากข้อมูลล่าสุดพบว่าในรอบ 30 วันให้หลังยังมีดีไวซ์ในไทยถึง 1.2 ล้านเครื่องที่ตรวจพบมัลแวร์

“แม่ทัพ” ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ทิ้งท้ายด้วยว่า เพื่อให้สามารถซัพพอร์ตลูกค้าได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น จึงจะมีการจ้างงานเพิ่ม 20-30% ใน 2 ส่วนงานหลัก คือทีม customer sucess unit ที่จะเข้าไปช่วยลูกค้านำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และทีมที่พัฒนาโซลูชั่นด้านความปลอดภัย เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร การลงทุนด้าน “ดิจิทัล” ยังเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะเครื่องมือเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ และลดต้นทุน

และที่ผ่านมาได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ร่วมกับ “เอไอเอส” สร้างสรรค์ดิจิทัลโซลูชั่น และสร้างทักษะระดับ deep tech ให้พนักงาน ไปจนถึงการสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยในโครงการ AIS x Microsoft for Startups, กับ กฟผ. ศึกษา

และสำรวจแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน, พัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีและยกระดับทักษะบุคลากรกับ ปตท., ต่อยอดขยายฐานผู้ใช้ K PLUS ในระดับภูมิภาค ให้กับแบงก์กสิกรไทย และขับเคลื่อนกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของแบงก์ไทยพาณิชย์ เป็นต้น