เร่งยกเครื่องชุดกม.ดิจิทัล ย้ำดันไทย”ฮับสตาร์ตอัพ”

ขีดเส้นอีกรอบ - ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำในเวทีเสวนา"พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยสู่ยุคดิจิทัล" รัฐบาลจะเร่งแก้ กม.ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลให้เสร็จภายในปีนี้เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสตาร์ตอัพในภูมิภาคนี้

“สมคิด” เร่งยกเครื่อง กม.ดิจิทัล ตั้งเป้า 1 ปีดันเข้า สนช. ปั้นไทยขึ้นฮับสตาร์ตอัพ กำชับ “พาณิชย์-ดีอี-อุตสาหกรรม-วิทย์ฯ” สร้างบิ๊กดาต้า อีคอมเมิร์ซ หนุน SMEs โกดิจิทัลต่อยอดเน็ตประชารัฐ ฟากดีอีทบทวน กม.ข้อมูลส่วนบุคคล-ไซเบอร์ซีเคียวริตี้อีกรอบ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ “พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยสู่ยุคดิจิทัล” ว่า เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เกิดสินค้าใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัว ถ้าประเทศไทยไม่เร่งพัฒนาจะตกขบวน และไม่มีพื้นที่ยืนในเวทีเศรษฐกิจโลกอีก 5 ปีข้างหน้า

“ปีนี้เป็นปีที่พลิกผันที่สำคัญ ถ้าเราทำได้ดี จะฝังรากไว้ให้รัฐบาลใหม่ ถ้าคิดแต่แบบเดิมว่า ไทยต้องปลูกข้าวมากที่สุด เราจะไม่มีจุดไหนให้ยืน ดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่เข้าไปยุ่งไม่พัฒนาไม่ได้แล้ว กลุ่มที่พัฒนาได้เร็วจะไปได้ไกล แต่คนที่ช้าจะถูกทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ อย่าประมาทว่า GDP ไทยดีแล้ว เพราะเทคโนโลยี นวัตกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยุคหน้าผู้ประกอบการรายใหญ่ตายได้ง่าย SMEs ฆ่ารายใหญ่ได้ด้วยนวัตกรรม

สิบปีที่แล้วดิจิทัลอีโคโนมีในจีนไม่ถึง 1% ของ GDP แต่หลังจากพัฒนาจริงจัง แค่ 3 บริษัท ไป่ตู้ อาลีบาบาเท็นเซ็นต์ เป็นยักษ์ใหญ่ที่ซัพพอร์ตโดยรัฐบาลกลายเป็นธุรกิจครบวงจร มีสัดส่วน 30-40% ของ GDP แต่ถ้ามองไปถึงการเชื่อมกับธุรกิจอื่น ๆ ก็จะปาไปถึง 60% เป็นรายใหญ่ของโลก”

แต่ที่กังวลคือ ปัญหาและอุปสรรคด้านกฎหมาย รัฐบาลจึงตั้งทีมงานเพื่อทบทวนและยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสตาร์ตอัพในภูมิภาค ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเทคโนโลยีมาทำงาน ให้เกิดการมองภาพรวมเชื่อมโยงกันตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการลงทุนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้เสร็จใน 1 ปี

ส่วนการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจะมีส่วนสำคัญ โดยภาครัฐต้องเร่งสร้างบิ๊กดาต้าภาครัฐเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ปีนี้ต้องมี 20 กระทรวงต้นแบบ ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีส่วนร่วมทรานส์ฟอร์มประเทศ

“เน็ตหมู่บ้านเน็ตต้องติดตั้งให้ครบ ต้องลากไฟเบอร์ไปสู่โรงเรียนรัฐ ดีอีต้องรับผิดชอบ และใช้ดิจิทัลพาร์กพัฒนานวัตกรรม IOT ที่เชื่อมทุกอย่างให้เข้ากันทั้งคนและอุปกรณ์ องค์กรกับองค์กร โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐทำไว้”

ส่วนกระทรวงพาณิชย์ต้องโฟกัสด้านอีคอมเมิร์ซ สร้างแพลตฟอร์ม โดยให้ทีโอที และ แคท เข้ามาช่วย และสานต่อโครงการธงฟ้าประชารัฐ ให้โชห่วยเข้าถึงเทคโนโลยี มีระบบ POS (Point of Sale) ใช้ เพิ่มปริมาณการค้าขายภายในประเทศ เกื้อกูลครอบครัวและเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานราก

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ภารกิจสำคัญคือ ทรานส์ฟอร์ม SMEs สู่ดิจิทัลให้ได้ ต้องซัพพอร์ตเครื่องมือ เทคโนโลยี และเตรียมบุคลากร โดยมีดีอีและกระทรวงวิทย์ฯเข้ามาช่วย

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับมอบหมายให้เร่งดำเนินการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับดิจิทัล มี 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ไซเบอร์ซีเคียวริตี้)

โดย พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ได้นำร่างฉบับล่าสุดมาทบทวนใหม่ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไปจากตอนที่ยกร่างเช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ขณะนี้มีคณะกรรมการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้ขับเคลื่อน จะประชุมครั้งแรกใน ก.พ.นี้

“ไตรมาส 1 ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ซีเคียวริตี้จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ส่วนร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลฯ จะตามไป การยกเครื่องชุดกม.ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดูแล มีดีอี สนับสนุน จะมีการตั้งไซเบอร์ซีเคียวริตี้เอเยนซี่ปีนี้ ซึ่งจะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันดูแลและสร้างระบบป้องกันภัย โฟกัส 6 กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ ระบบน้ำ ไฟ สาธารณูปโภคต่าง ๆ จะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการไซเบอร์ ก.พ.นี้”