เมกะเทรนด์เขย่า “ค้าปลีก” “เทสโก้ฯแฮกกาธอน” ปั้นสตาร์ตอัพ

การปรับตัวปรับองค์กรรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้เป็นไฟลต์บังคับของทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ก็ไม่ต่างกัน หากต้องการอยู่ให้รอดในระยะยาว แม้แต่ยักษ์ค้าปลีก “เทสโก้ โลตัส” ก็เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อม ผ่านโครงการ “เทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน 2018”

โดย นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการ บริษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับหลายอุตสาหกรรม เช่น เกษตร, การเงิน, การขนส่ง เป็นต้น ดังนั้นถ้าธุรกิจค้าปลีกมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็จะเป็นตัวเชื่อมโยงและยกระดับนวัตกรรมของประเทศไทยได้ อีกทั้งเป็นธุรกิจที่ต้องติดต่อกับผู้บริโภคทุกวัน

หากมีความทันสมัยก็จะช่วยให้ประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้นด้วย และเป็นที่มาของโครงการ “เทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน 2018” ครั้งแรกของบริษัท และในประเทศไทย ที่จัดขึ้นในธีม “ค้าปลีกยุคใหม่ สู่ประเทศไทย 4.0” (Revolution Retail Towards Thailand 4.0) เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพ และบุคคลในวงการต่าง ๆ รวมถึงนิสิต และนักศึกษาได้มีโอกาสร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และลูกค้าในยุคดิจิทัลเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0

“เทสโก้ฯ” นำร่อง “แฮกกาธอน”

โดยมีโจทย์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อร้านสะดวกซื้อ “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” ซึ่งเป็นร้านขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ชุมชน และมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ที่มียอดเฉลี่ยมากกว่า 415 ล้านครั้งต่อปี

และหวังว่าแนวคิดและนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์กับลูกค้าและธุรกิจของเทสโก้ โลตัส รวมถึงยกระดับธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของประเทศไทยด้วย และเป็นโอกาสในการนำไอเดียไปในระดับโลกด้วย เนื่องจากเทสโก้ โลตัสมีธุรกิจค้าปลีกอยู่ใน 10 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมค้าปลีกในปัจจุบันเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรอนด้านทั้งจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริการลูกค้า ซึ่งการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ 5 เมกะเทรนด์ในธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ 1.การที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกสิ่ง 2.ความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภค มีสินค้าสุขภาพ และการออกกำลังกาย 3.มีโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไป มีขนาดเล็กลง มีอัตราเกิดน้อยและมีผู้สูงอายุเยอะ 4.เน้นความสะดวกสบาย และไม่อยากรอ และ 5.การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อและใช้บริการ

“ถามว่าเราจะทำไอเดียต่าง ๆ ที่ได้จากการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ไปต่อยอดธุรกิจหรือไม่คงต้องขึ้นอยู่กับผลงาน และถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันวงการสตาร์ตอัพไทยด้วย แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญ คือการมีความร่วมมือร่วมกัน อันเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยต่างฝ่ายต่างดึงจุดแข็งและความเชี่ยวชาญในแต่ละส่วนมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า และธุรกิจ”

ที่ผ่านมา บริษัทมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อเนื่อง เช่น เทคโนโลยี ปีก่อนที่ส่งสัญญาณว่ามีโปรโมชั่นอะไรบ้างเมื่อเดินผ่านชั้นวางสินค้า รวมถึงการใช้ช่องทางดิจิทัลในการสื่อสารกับลูกค้า ขณะที่ยังคงขยายสาขาต่อเนื่อง คาดว่าในปีนี้จะเพิ่มอีกเกือบ 100 สาขา จากปัจจุบันมี 1,900 สาขา เป็นสาขาขนาดใหญ่ประมาณ 10 แห่ง ที่เหลือเป็นร้านเล็ก ดังนั้นภายในสิ้นปีจะมีเกือบ 2,000 สาขา ขณะที่การขายออนไลน์ทำมาได้ 4 ปี เติบโต 2-3 เท่าทุกปี แต่ถ้าเทียบสัดส่วนรายได้ยังถือว่าน้อยมาก แต่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

สำหรับโครงการเทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน 2018 จะเปิดรับผู้สมัครทั้งในประเภทบุคคลและทีมตั้งแต่ 8 ม.ค.-20 ก.พ. 2561 ทาง www.facebook.com/TescoLotusHackathon 2018 และจัดโอเพ่นเฮ้าส์เพื่อปฐมนิเทศให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจของเทสโก้ โลตัส และความรู้จากกูรูในสาขาต่าง ๆก่อนเริ่มแข่งขันวันที่ 16-18 มีนาคม ใช้เวลาทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้สมัครระดมความคิดและนำเสนอไอเดีย

“เราเชื่อว่าโอกาสในการได้ทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่และการนำไอเดียมาพัฒนาต่อยอดใช้งานจริงในเทสโก้ โลตัส จะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันวงการสตาร์ตอัพของไทย”

ผนึกกำลังปั้นสตาร์ตอัพไทย

ด้าน นายอมฤต เจริญพันธ์ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งโคเวิร์กกิ้งสเปซ “ฮับบ้า” กล่าวว่า เทรนด์สตาร์ตอัพในปีนี้จะมีด้านค้าปลีก, อสังหาฯ และออโตโมทีฟ โดยเฉพาะค้าปลีกหรือรีเทล จากการแข่งขันที่สูงมาก โดยมียักษ์ใหญ่จากจีนเข้ามาทำตลาดทำให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องเร่งปรับตัว ซึ่งโอกาสเติบโตของค้าปลีกอยู่บนโทรศัพท์มือถือจึงต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า และสามารถที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ดึงดูดและสร้างความแตกต่างได้ โดยการทำตลาดแบบ O2O (online to offline) ถือเป็นพื้นฐานไปแล้ว

“สตาร์ตอัพไทยยังขาดองค์ประกอบในการเปลี่ยนไอเดียเป็นธุรกิจ เพราะต้องมีโปรแกรมเมอร์, นักธุรกิจ และคนที่เข้าใจเทรนด์ รวมทั้งมีผู้ที่มีข้อมูลรู้ลึก แฮกกาธอนจึงเป็นพื้นที่ที่ดีที่จะช่วยให้ทำงานร่วมกันได้ขณะเดียวกัน สตาร์ตอัพไทยยังไม่เข้าใจปัญหาจริง เพราะไม่มีประสบการณ์จึงต้องมีผู้ที่คอยแนะนำ และต้องคิดถึงการแก้ปัญหาให้หลาย ๆ ประเทศไม่ใช่แค่ไทย”

สำหรับภาพรวมสตาร์ตอัพปีที่ผ่านมาน่าจะมี 600 ราย แต่ปีนี้อาจเพิ่มถึง 1,000 ราย เนื่องจากคนสนใจเข้ามาทำเยอะ ประกอบกับมีหน่วยงานภาครัฐ และโครงการต่าง ๆ สนับสนุน เช่น แฮกกาธอน หรือ cofounder dating ที่ฮับบ้าจัดทุกเดือน เพื่อให้คนรุ่นใหม่มาหาพาร์ตเนอร์เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน ทั้งยังมองว่าใน 100 บริษัทใหญ่ มี 60 แห่ง อยากทำเรื่องสตาร์ตอัพจากเมื่อก่อนแค่ธุรกิจแบงก์ และโทรคมนาคม

“มหาวิทยาลัยเองก็หันมาสนับสนุนสตาร์ตอัพมากขึ้น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็น 2 มหาวิทยาลัยที่น่าจับตามอง เพราะมีความพร้อมด้านในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ”

และการสนับสนุนสตาร์ตอัพของ “ฮับบ้า” ในปีนี้จะอัพสเกลให้ใหญ่ขึ้น หลังเป็นพาร์ตเนอร์กับ “กูเกิล” ทำให้มีเครือข่ายในลักษณะเดียวกับฮับบ้ากว่า 50 แห่งทั่วโลก ที่สมาชิกเดินทางข้ามไปมาได้ และขยายสาขาเพิ่มอีก 3 แห่ง จากที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง และเพิ่มพื้นที่เป็นแห่งละ 1,000-1,200 ตร.ม. จากปัจจุบันสาขาที่มีพื้นที่ใหญ่สุดอยู่ที่ 850 ตร.ม.

“ในสิงคโปร์กับฮ่องกงใหญ่โคเวิร์กกิ้งสเปซใหญ่กว่าเรา 5 เท่า แต่ในบ้านเรามีพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซต่ำกว่า 0.4% เมื่อเทียบกับจำนวนออฟฟิศทั้งประเทศ นอกจากนี้หลายบริษัทเริ่มมองหาโคเวิร์กกิ้งสเปซเพื่อตอบโจทย์ด้านค่าใช้จ่ายและความต้องการของพนักงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรามองว่าเป็นวิวัฒนาการของการทำงาน แต่ด้านการแข่งขันก็มีคู่แข่งจากจีนและอเมริกาเข้ามา”

“ดีป้า” ควัก 200 ล.ให้ทุนตั้งต้น

ด้านนายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ที่ผ่านประเทศไทยมีแรงงานไหลออกจากระบบปีละ 1% ถ้าประสิทธิภาพไม่ดีจะทำให้ GDP ของประเทศลดลง จึงต้องหาเทคโนโลยีใหม่ที่มาพร้อมโอกาสสร้างผลิตภาพให้สูงกว่า 1% โดยดีป้า พยายามเชื่อมต่อระหว่างตลาดและนวัตกรรม เพื่อให้ตลาดปรับตัวได้และทำให้นวัตกรรมมีโอกาสเกิดและเติบโต

“แผนของเราคือการเป็นสะพานเชื่อมนวัตกร และผู้ประกอบการ โดยเตรียมงบประมาณ 200 ล้านบาท เป็นทุนตั้งต้นให้บริษัทที่ต้องการทดลองเทคโนโลยี ทั้งลดภาษี 200% ส่วนนวัตกร

และสตาร์ตอัพก็มีทุนให้ไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและทำการตลาด มีทั้งให้เปล่าและร่วมลงทุน คาดว่าจะสนับสนุนสตาร์ตอัพได้ประมาณ 200-300 ราย ส่วนผู้ประกอบการที่ใช้น่าจะมีหลัก 100 ราย และตั้งเป้าสร้างผลกระทบได้ 5 เท่าหรือ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การพัฒนาองค์ความรู้ดีป้าก็ให้ความสำคัญ โดยจะมีโปรแกรมในการฝึกให้คนทุกระดับนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ได้

“ดิจิทัลสร้างความปั่นป่วนในหลายธุรกิจ แต่ก็มาพร้อมโอกาส อย่างแบงก์ก็ปรับตัวแล้ว ซึ่งเราเห็นว่าตอนนี้ผู้ประกอบการไทยมีความไวในการนำเทคโนโลยีไปใช้ แต่สิ่งสำคัญคือการทำไปใช้ในระดับองค์กรจะนำไปใช้ได้รึเปล่า เช่น แบงก์ชาติที่ทำเรื่องคิวอาร์โค้ด ตอนนี้ก็ค่อย ๆ ซึมไปภาคธุรกิจ ดังนั้นตอนนี้อาจต้องสนับสนุนอยู่ แต่ถึงจุดหนึ่งก็จะใช้ได้คล่อง”

ขณะที่ รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ผู้ช่วยอธิการบดี งานยุทธศาสตร์ นวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ เห็นความสำคัญในการสร้างสตาร์ตอัพ เพราะเป็นเทรนด์ทั่วโลก จากเดิมทำหน้าที่แค่สอน มาสร้างนวัตกร (innovator) และช่วยเหลือสังคม โดยได้สร้าง “อินโนเวชั่นฮับ”


สำหรับนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย และคนทั่วไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่สนใจมากจึงควรมีระบบนิเวศที่ดี เช่น มีเวทีให้ได้แสดงก็จะเป็นประโยชน์มาก