ปิดดีล 2300 MHz อีกแรงฮึดของ “ดีแทค”

เป็นที่จับตาอย่างต่อเนื่องสำหรับ “ดีแทค” หลังยอมยกธงขาวในสนามประมูลคลื่นทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz โดย กสทช. ขณะที่สัมปทานคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz กำลังจะสิ้นสุดใน ก.ย. 2561 ทำให้เหลือแค่คลื่น 2100 MHz สำหรับลูกค้า 24.5 ล้านเลขหมาย ท่ามกลางปริมาณการใช้ดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้น ก้าวกระโดดของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือปัจจุบัน ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แถบคลื่นความถี่ในมือ 15 MHz สุ่มเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

เมื่อ “ทีโอที” เปิดทางให้บริษัทที่สนใจเป็นพันธมิตรธุรกิจไร้สายบนคลื่น 2300 MHz จึงไม่น่าแปลกใจที่ “ดีแทค” จะทุ่มสุดตัวกว่าใครเพื่อยื่นข้อเสนอชนิดที่ “ทีโอที” เองถึงกับเอ่ยปากว่า “เซอร์ไพรส์มาก” ทำให้ได้รับคัดเลือกในท้ายที่สุด แม้สิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากคลื่นย่านนี้จะมีถึงปี 2568 หรือแค่ 8 ปีก็ตาม

ด้วยแถบคลื่น 2300 MHz ที่กว้างถึง 60 MHz เมื่อนำมาให้บริการโมบายบรอดแบนด์บนเทคโนโลยี 4G/LTE-TDD ซีอีโอ “ดีแทค-ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ถึงกับหัดพูดคำว่า “ลื่น” ในวันแถลงข่าวร่วมกับทีโอที เพื่อสื่อสารด้วยตนเองไปยังลูกค้าด้วยภาษาไทยว่า ใช้งาน “ลื่น” แน่นอน ด้วยสปีดระดับ 300 Mbps แม้ว่าจะต้องลงทุนสร้างสถานีฐานใหม่ถึง 2 หมื่นกว่าแห่ง ซึ่งโดยปกติการลงทุนต่อ 1 สถานีฐานจะอยู่ที่ราว 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กรอบการเงินลงทุนในปีนี้ของ “ดีแทค” จะยังอยู่ในกรอบเดิมคือ 1.7-2 หมื่นล้านบาท

“คุ้มค่ากับการลงทุนแน่นอน ไม่อย่างนั้น เราคงไม่มีการยื่นข้อเสนอนี้ และถ้าไม่คุ้มค่า ผู้ถือหุ้นก็คงไม่ยอม อีกทั้งในอนาคตความต้องการในการใช้งานดาต้าของผู้บริโภคจะยิ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยบริการดาต้าที่เป็นหัวใจหลักของตลาดมือถือ ยิ่งทำให้เชื่อมั่นว่า การได้เป็นพันธมิตรในครั้งนี้กับทีโอทีจะทำให้เราสามารถดึงดูดลูกค้าเอาไว้ได้”

สำหรับข้อด้อยของคลื่น 2300 MHz เทียบกับแถบคลื่นอื่น กรณีจำนวนเครื่องในตลาดที่สามารถรองรับการใช้งานได้ “ซีอีโอดีแทค” ยืนยันว่า ปัจจุบัน 70% ของลูกค้าดีแทคมีแฮนด์เซตที่พร้อมใช้คลื่นย่านนี้แล้ว ขณะที่ในภาพรวมของตลาดมีเครื่องถึง 125 รุ่นที่รองรับคลื่นความถี่นี้ได้ โดยเฉพาะในรุ่นที่เป็นเรือธงของแต่ละแบรนด์ อาทิ แอปเปิล 9 รุ่น ตั้งแต่ไอโฟน 5S, ซัมซุงมี 24 รุ่น หัวเว่ย 14 รุ่น, ออปโป้ 13 รุ่น, เซี่ยวมี่ 4 รุ่น, นูเบีย 7 รุ่น รวมถึงดีแทคโฟนเองก็มีถึง 3 รุ่นแล้ว และหลังจากนี้ดีแทคโฟนทุกรุ่นที่จะนำเข้ามาทำตลาดจะรองรับคลื่น 2300 MHz ด้วยเทคโนโลยี TDD

ส่วนความเสี่ยงเรื่องความล่าช้าในการทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง “ซีอีโอดีแทค” การันตีว่าพร้อมเปิดให้บริการได้ทันทีเมื่อลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามแผนคือในราวไตรมาส 4

นั่นหมายถึงว่า ดีแทคจะต้องเริ่มลงทุนก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา

“ลาร์ส” ระบุว่ามีการประเมินถึงความเสี่ยงไว้แล้ว จึงจะมีการลงทุนในระดับที่เพียงพอสำหรับการให้บริการได้ดีพอสมควร และด้วยระดับที่ดีแทครับความเสี่ยงได้ ทั้งเตรียมแผนงานสำหรับกรณีที่การลงนามในสัญญาล่าช้าไปจนถึงช่วงเวลาที่สัมปทานคลื่น 850-1800 MHz สิ้นสุด เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ ซึ่งบริษัทเริ่มเตรียมการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยลงทุนสร้างโครงข่ายและหาคลื่นความถี่เข้ามาเสริมให้เพียงพอรองรับการใช้งานของลูกค้าทั้งหมด

“เรายังเชื่อมั่นว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับทีโอทีได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งดีลคลื่น 2300 MHz จะเป็นก้าวแรกที่เราได้คลื่นที่มีศักยภาพเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแสวงหาคลื่นเข้ามาเสริมอยู่ตลอดเวลา”

เช่นเดียวกับความพยายามในการผลักดันให้มีการนำคลื่นความถี่ 850 และ 1800 MHz ออกมาจัดประมูลล่วงหน้า ก่อนสิ้นสุดสัมปทานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า