“กูเกิล คลาวด์” เปิดตัว Cloud Region แห่งแรกในไทย

“กูเกิล” เดินหน้าลงทุนต่อ เปิดตัว Cloud Region แห่งแรกในไทย รองรับการเติบโตของฐานลูกค้า สนับสนุนนโยบายภาครัฐยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ระบุถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญ ตอกย้ำแนวคิดไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 นางสาวแจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ Google ประเทศไทย กล่าวว่า 11 ปีที่แล้ว กูเกิล ได้เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาทำงานใกล้ชิดกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และการศึกษา มีการริ่เริ่มโครงการ เพื่อประเทศ เช่น สะพานดิจิทัล เพื่อช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี ก่อตั้งและขยายธุรกิจบนออนไลน์ หรือโครงการ โก ดิจิทัล อาเซียน ที่ช่วยปูพื้นฐานให้เยาวชนมีทักษณะด้านดิจิทัล และตอกย้ำวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้แนวคิดไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง (Leave No Thai Behind)

ล่าสุดด้วยการเปิดตัว Cloud Region แห่งแรกในไทย ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญอีกครั้งของ GoogleCloud เพื่อรองรับการเติบโตของฐานลูกค้าไทย ตลอดจนบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

Google_Thailand Cloud Region Launch (1)

“เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ทีมของเราทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ ชุมชน และภาคการศึกษาในไทย เพื่อจัดหาเครื่องมือ การฝึกอบรม และการศึกษาที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จในอนาคตดิจิทัล ซึ่งการเปิดตัว Cloud Region จะช่วยเสริมความสามารถเฉพาะตัวของเราในการนำระบบนิเวศขององค์กร และผู้บริโภคเข้ามาใกล้กันมากขึ้น โดยองค์กรทุกขนาดจะใช้บริการ Google Cloud ที่ขับเคลื่อนโดยโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ร่วมกับความสามารถในการทำงานร่วมกันทั่วโลกจาก Search, YouTube, Maps, Play และอื่น ๆ เพื่อเสริมการให้บริการในประเทศ และต่อยอดส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการสู่ตลาดโลกให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”

โดย Cloud Region ในประเทศไทยจะให้บริการธุรกิจและระบบคลาวด์ที่จำเป็นต่อองค์กรเพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัล และสร้างข้อได้เปรียบใหม่ ๆ ในการแข่งขัน ตอกย้ำเจตนารมณ์ของ Google Cloud ที่ต้องการสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจในเฟสต่อไปของรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ รายงานจากผลวิจัยของ AlphaBeta ภายใต้การสนับสนุนของ Google ระบุว่า หากใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีได้สูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท (79.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แก่ประเทศไทย ภายในปี 2573 หรือเทียบเท่ากับ 16% ของ GDP ปี 2563

ด้านนางสาว Ruma Balasubramanian กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Google Cloud กล่าวว่า การเปิด Cloud Region จะทำให้ Google Cloud ส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และส่งมอบระบบโครงสร้างคลาวด์ที่จำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนและเติบโตของภาคธุรกิจ ทั้งด้านการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำงานแบบไฮบริด หรือการมีแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่มีการพัฒนาต่อเนื่องรองรับเงื่อนไข และข้อกำหนดต่าง ๆ ได้มากขึ้น

และถือเป็นโอกาสในการขยายโครงสร้างคลาวด์เพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่กลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่มาพร้อมนวัตกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คาดว่าจะสร้างมูลค่าสูงถึง 36.25 ล้านล้านบาท (1 ล้านล้านดอลลาสหรัฐ) ภายในปี 2573 ด้วย

ในอนาคต เมื่อมีการเปิดให้บริการ Cloud Region ในประเทศไทยจะช่วยยกระดับการปฏิบัติงานขององค์กรต่าง ๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีความหน่วงต่ำ รวมถึงสร้างระบบรักษาความปลอดภัยที่ออกแบบมาป้องกันไม่ให้การบริการหยุดชะงัก ทำให้องค์กรต่าง ๆ เข้าถึงระบบควบคุมที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่าศูนย์เก็บข้อมูลจะได้รับความคุ้มครองโดยระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสูงสุด รวมถึงข้อมูลเฉพาะที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

โดย Cloud Region จะติดตั้งอยู่ในศูนย์ Dedicated Cloud Interconnect ของ Google Cloud ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในทุกการเชื่อมต่อทั้งระหว่างเครือข่ายภายในองค์กรโดยตรง และเครือข่ายทั่วโลกของ Google Cloud ด้วย และจะเป็นหนึ่งใน Cloud Region ของ Google Cloud ที่มีอยู่แล้ว 11 แห่ง ทั้งในเอเชีย-แปซิฟิก และญี่ปุ่น รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จากที่มีทั้งหมดใน 34 แห่ง และ 103 โซน ที่เปิดใช้งานทั่วโลกขณะนี้

ผู้บริหาร Google Cloud กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยเลือกใช้บริการ กูเกิล คลาวด์ รวมถึงบริษัทย่างอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, Ascend Money, บิ๊กซี, โฮมโปร, ธนาคารกสิกรไทย, กรุงศรี คอนซูมเมอร์, ธนาคารกรุงไทย, บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (โรบินฮู้ด), ปูนซีเมนต์ไทย, ทีดี ตะวันแดง และทรู ดิจิทัล เป็นต้น

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของภาครัฐได้เข้าไปมีส่วนในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนโควิด เช่น ชิมช้อปใช้ หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเมื่อมีโควิดก็ได้เข้าไปสนับสนุนสร้างแพลตฟอร์มให้กับภาครัฐเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันเข้าถึงคนไทยกว่า 40 ล้าน ผ่านแพลตฟอร์มเป๋าตังค์, กรุงไทยเน็กซ์อีกว่า 16-17 ล้านคน และถุงเงิน กว่า 1.6 ร้านค้า

ซึ่งเครือข่ายทั่วโลกของ Google Cloud มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการให้บริการของธนาคารกรุงไทย ทั้งในแง่การนำการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความสามารถด้านการธนาคารแบบเปิดมาดำเนินการให้บริการธุรกิจธนาคาร จึงเชื่อว่า Cloud Region แห่งใหม่นี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาบริการในอนาคต


“การลงทุนใน 2-3 ปีที่ผ่านมาในด้านนวัตกรรมและไอทีของเราใกล้หมื่นล้านบาท และจะยังต่อเนื่อง ซึ่งการเป็นพันธมิตรกับกูเกิลจะมีส่วนช่วยในเรื่องการบริหารต้นทุนได้ แม้การทำธุรกิจธนาคาร เราจะไม่คอมโพรไมซ์ด้านคุณภาพ และเรื่องความปลอดภัย และยึดโกลบอล สแตนดาร์ด เพราะเวลาพูดถึงความเสี่ยงจะไม่ใช่แค่ในไทย ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนกูเกิลด้วยดีมาตลอด”