CargoX เปลี่ยน ปัญหา เป็น โอกาส เชื่อมเครือข่าย รถทัวร์ ชิงเค้กธุรกิจขนส่ง

การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผลักดันให้ตลาดขนส่งพัสดุเติบโตก้าวกระโดด และผู้เล่นรายใหม่ตบเท้าเข้าสู่ธุรกิจนี้คึกคัก ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นมากด้วย

“คาร์โก้เอ็กซ์” (CargoX) เป็นรายล่าสุด ในฐานะ “แพลตฟอร์มขนส่งพัสดุ” เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงบริการจัดการขนส่งพัสดุผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ

นายนำพล รุ่งสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์โก้เอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้การแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุในปัจจุบันจะสูงมาก แต่ตลาดยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และมีการคาดการณ์ด้วยว่ามูลค่าตลาดในปี 2565 นี้จะสูงถึง 106,000 ล้านบาท โตจากปีที่แล้วกว่า 17% ที่มีมูลค่าที่ 91,000 ล้านบาท จากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น แม้สถานการณ์การระบาดของโควิดจะเริ่มคลี่คลายลง

“บริการของเรา เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจขนส่ง และการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะแม้จะมีผู้ประกอบการในธุรกิจขนส่งอยู่แล้วหลายราย แต่ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับรายใหม่ที่มองเห็นช่องว่างทางการตลาด”

เปลี่ยนปัญหาเป็น “โอกาส”

ก่อนหน้านี้ บริษัทมีประสบการณ์ในการเป็นผู้พัฒนาระบบขายตั๋วออนไลน์ Thairoute.com สำหรับรถโดยสารสาธารณะ จึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดพัฒนา บริการ “คาร์โก้เอ็กซ์” เพื่อแก้ “เพนพอยต์” ของบริษัทรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการขนส่งพัสดุ ซึ่งมักประสบปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากการจัดการแบบแมนวล หรือบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ด้วย “ลายมือ” ทำให้มีปัญหาของหายแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้

ขณะที่พื้นที่บริการไม่ครอบคลุม เพราะแต่ละรายวิ่งเฉพาะภายในเขตของตนเอง ทั้งลูกค้ายังต้องไปรับพัสดุที่สถานีขนส่งเอง จึงไม่สะดวกเท่าที่ควร เป็นต้น

Advertisment

CargoX เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเส้นทางรถโดยสารสาธารณะ มีระบบจัดการสินค้าและติดตามพัสดุที่ส่งมากับตัวรถ จึงตรวจสอบได้ และเข้าถึงในทุกพื้นที่ โดยเฟสแรกร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจรถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด หรือกรีนบัสไทยแลนด์, ปิยะรุ่งเรืองทัวร์, กรุงสยามทัวร์, แอร์เมืองเลย, บุษราคัมทัวร์ และอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท เชิดชัยทัวร์ด้วย ถือว่าครอบคลุมเส้นทางหลักทั่วประเทศ

บริการประกอบด้วยการขนส่งพัสดุด่วน, การขนส่งพัสดุที่ต้องควบคุมอุณหภูมิแบบรับ-ส่งถึงบ้าน หรือไปรับที่จุดให้บริการของคาร์โก้เอ็กซ์ก็ได้ ราคาเริ่มต้นที่ 108 บาท สำหรับขนส่งพัสดุด่วน และเริ่มที่ 156 บาท สำหรับพัสดุควบคุมอุณหภูมิ ทั้งยังกำหนดเวลารับพัสดุได้ และขนส่งพัสดุได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่มาก

Advertisment

ปิดจุดอ่อนเชื่อมโยงเครือข่าย

ผู้บริหาร “คาร์โก้เอ็กซ์” ยกตัวอย่างเส้นทางการเดินรถของชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ที่ครอบคลุมภาคเหนือ 15 เส้นทาง เชื่อมโยงทุกจังหวัดในภาคเหนือและอำเภอห่างไกล ขณะที่บุษราคัมทัวร์จะวิ่งเส้นทางเดินรถระยะไกลจากกรุงเทพฯขึ้นเหนือ 4 เส้นทาง

ได้แก่ กรุงเทพฯ-ท่าตอน, กรุงเทพฯ-แม่สาย, กรุงเทพฯ-น่าน และกรุงเทพฯ-เชียงของ รวมสายอีสานอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ปากแซง (สายอีสานล่าง) กรุงเทพฯ-หนองคาย-สังคม และกรุงเทพฯ-ศรีเชียงใหม่ (อีสานเหนือ)

ส่วนปิยะรุ่งเรืองทัวร์ มีเส้นทางเดินรถระยะไกลจากกรุงเทพฯไปภาคใต้กว่า 5 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-สงขลา, กรุงเทพฯ-ด่านนอก, กรุงเทพฯ-หาดใหญ่, กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ รวมถึงเส้นทางข้ามภาคอย่างแม่สาย-ด่านนอก และบึงกาฬ-ด่านนอก เป็นต้น

“เฉพาะ 3 บริษัทนี้ก็มีจุดจอดเพื่อขนถ่ายพัสดุรวมกันเกือบร้อยจุดแล้ว เมื่อเชื่อมด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีระบบการจัดการขนส่งที่ทันสมัย จะทำให้การบริการครอบคลุม ซึ่งระยะถัดไปเราจะจับมือกับผู้ให้บริการเส้นทางโดยสารเครื่องบิน, รถไฟ และเรือเพิ่มเติม ก็จะทำให้รองรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (B to B) และลูกค้าทั่วไป (B to C) ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การขนส่งพัสดุด้วยรถโดยสาร มีข้อดีคือ ทลายข้อจำกัดเรื่องการขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ได้ เพราะมีพื้นที่รองรับสินค้ามาก ทั้งต้นไม้, ของสด หรือแม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ก็ขนส่งได้ ทั้งมีตารางเวลาชัดเจน รวมแล้วกว่า 7 พันเที่ยวรถต่อวันในแต่ละเส้นทางทั่วประเทศ จึงลดต้นทุนในการสร้างโกดังเพื่อเก็บพัสดุลงได้ ขณะที่ลูกค้าเองก็รู้ได้ด้วยว่าพัสดุจะมาถึงสถานีขนส่งใกล้บ้านเวลาใด จากตารางการเดินรถของผู้ให้บริการแต่ละรายที่สถานีขนส่ง

เพิ่มรายได้และทางเลือกลูกค้า

ด้าน นายสมชาย ทองคำคูณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด หรือกรีนบัส กล่าวว่า บริษัทมีรถโดยสารกว่า 340 คัน ครอบคลุมเส้นทางสายเหนือ และข้ามภาค “เหนือ-อีสาน” ซึ่งก่อนโควิดเคยมีรายได้สูงสุดจากค่าตั๋วโดยสารราว 400 ล้านบาท (ปี 2562) และมีรายได้เสริมจากการขนส่งพัสดุใต้ท้องรถกว่า 100 ล้านบาท

แต่ช่วงโควิดต้องหยุดการเดินรถต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือรถวิ่งอยู่เพียง 40 คัน มีรายได้จากค่าตั๋ว 20 ล้านบาท ขณะที่การขนส่งพัสดุลดลง 30-40% แต่ยังเป็นรายได้เสริมที่ดีกว่าตีรถเปล่า

“ใน 1 เที่ยวรถโดยสาร 1 คัน จะบรรทุกสัมภาระผู้โดยสาร 30-40% ของพื้นที่เก็บของในรถ เราวิ่งวันละ 100 เที่ยว ช่วงเทศกาลต้องเพิ่มวันละ 30-40 เที่ยว จึงให้บริการขนส่งพัสดุมานานแล้ว ขนได้แม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ข้ามภาค ดังนั้น การเข้ามาให้บริการบนคาร์โก้เอ็กซ์จึงถือเป็นโอกาสใหม่ ๆ”

นายสมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า การเชื่อมโยงด้วยแพลตฟอร์มน่าจะทำให้มีลูกค้าข้ามภาคเพิ่มขึ้นราว 10% มีรายได้โตขึ้นอีก 40%

เช่นกันกับ นายก้องเกียรติ ลีระศิริ กรรมการ บริษัท ปิยะรุ่งเรืองทัวร์ กล่าวว่า ในช่วงโควิดการขนส่งพัสดุเติบโตขึ้น แต่บริษัทไม่มีระบบการจัดการที่ดี การมีแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยจึงน่าจะทำให้รายได้จากการขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% จากที่มีรายได้ 20-30 ล้านบาทต่อปี

นายนำพลเสริมว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายมีความพร้อมต่างกัน เช่น บุษราคัมทัวร์ มีปัญหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ ประกอบกับพนักงานค่อนข้างมีอายุ ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นจึงจะใช้คนรับของ และเครื่องมือจาก “กรีนบัส” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “คาร์โก้เอ็กซ์” ถือเป็นตัวเลือกในการขนส่งและเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้ากลุ่มเดิมที่เคยใช้บริการขนส่งพัสดุทางรถโดยสารอยู่แล้ว โดยเร่งเพิ่มจุดให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็วที่สุด และระยะถัดไปจะเชื่อมบริการเข้ากับสายการบินภายในประเทศ, รถไฟ และการขนส่งทางเรือ

เพื่อให้บริการครอบคลุมกับทั้งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (B to B) และลูกค้าทั่วไป (B to C) และมีแผนขยายเครือข่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา พร้อมกับเป้ารายได้ที่ 3,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 ถือเป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัพไทยที่เปลี่ยน “ปัญหา” ให้กลายเป็น “โอกาสใหม่”