เมื่อข้อมูลส่วนตัว ไม่ใช่เรื่อง “ส่วนตัว”

ข้อมูลส่วนบุคคล
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

และแล้วสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลก็เกิดขึ้น หลังจากตำรวจรัฐเนบราสก้า ฟ้องแม่ลูกคู่หนึ่งข้อหาทำแท้งผิดกฎหมาย โดยใช้ข้อความ “แชต” ที่ทั้งสองส่งหากันผ่านเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ เป็น “หลักฐาน” สำคัญในการดำเนินคดี

คดีนี้ตอกย้ำความวิตกของนักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม ว่าข้อมูลที่เรา “แชร์” หรือ “แชต” กันบนโซเชียลมีเดีย จะไม่ใช่ “ข้อมูลส่วนตัว” อีกต่อไป เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอหมายศาลเพื่อสั่งให้เจ้าของแพลตฟอร์มส่งข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อใช้ในการสืบสวนการกระทำที่อาจเข้าข่ายว่าผิดกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการทำแท้งด้วย

หลังจากที่ศาลสูงสหรัฐประกาศคว่ำคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ที่ยอมรับสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้หญิงว่าด้วยสิทธิในการทำแท้ง หรือที่รู้จักกันในชื่อ คดี Roe v. Wade เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นหลายรัฐก็เดินหน้าออกกฎหมายควบคุมการทำแท้งอย่างเต็มรูปแบบ

เนบราสก้า เป็นหนึ่งในรัฐที่ห้ามการทำแท้งเมื่ออายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ซึ่งในกรณีของคู่แม่ลูกที่เพิ่งถูกฟ้องไป ทารกในครรภ์มีอายุ 28 สัปดาห์

แม้ตำรวจจะเริ่มสืบสวนคดีแม่ลูกคู่นี้ตั้งแต่เดือนเมษายน (ตอนนั้นลูกสาวอายุ 17 ปี) ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่ศาลสูงจะมีคำตัดสินในคดี Roe v. Wade นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลก็ยังมองว่า เคสนี้ คือ คดีตัวอย่างของการใช้ข้อมูลออนไลน์เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการทำแท้ง โดยตำรวจมีการอ้างถึงแชตบนเมสเซนเจอร์ที่พูดถึงการใช้ยาทำแท้ง และการเผาทำลายศพ เป็นหลักฐานประกอบสำนวนฟ้อง

หลังตกเป็นข่าวว่า เมสเซนเจอร์มีส่วนช่วยตำรวจเอาผิดหญิงวัยรุ่นในคดีทำแท้ง Meta ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ในหมายค้นที่บริษัทได้รับ ไม่มีคำว่าการ “ทำแท้ง” เลย มีแต่ข้อความที่ระบุเกี่ยวกับ “การเผาและฝังทารกในครรภ์ก่อนกำหนด” เท่านั้น

อีกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงตามมา คือ ความปลอดภัยของข้อมูลการใช้งาน เนื่องข้อความบนเมสเซนเจอร์ไม่มีการเข้ารหัส (encrypted) ทำให้บริษัทรวมถึงเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากผู้ใช้งาน

ทำให้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา Meta ต้องเร่งประกาศเดินหน้าทดสอบระบบการเข้ารหัสข้อความ หรือ end-to-end encryption บนแชตของเฟซบุ๊กและอินสตราแกรม เพื่อเพิ่มความมั่นใจในระบบการรักษาความเป็นส่วนตัว

ถึงแม้บริษัทจะปฏิเสธว่า การทดสอบดังกล่าวไม่เกี่ยวกับคดีแม่ลูกในเนบราสก้า แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า คดีนี้น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เฟซบุ๊กนำ end-to-end encryption แบบ by default (ใช้กับทุกคนโดยไม่ต้องตั้งค่า) มาใช้เร็วขึ้น

นอกจากนี้บริษัทยังบอกด้วยว่า กำลังทดสอบระบบจัดเก็บข้อมูล (secure storage) ที่ผู้ใช้สามารถเก็บข้อความที่มีการเข้ารหัสได้โดยที่บริษัทจะไม่สามารถมองเห็นหรือเข้าถึงข้อความเหล่านั้นได้เลย

ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมีการพูดว่าจะนำ end-to-end encryption มาใช้หลายครั้ง แต่ก็เลื่อนมาเรื่อย เช่น ต้นปีก่อนที่บอกว่าจะเปิดใช้ปีนี้ แต่พอมาปีนี้ก็บอกว่าต้องเลื่อนไปเป็นปีหน้า ทั้ง ๆ ที่ WhatsApp ซึ่งก็เป็นแพลตฟอร์มในเครือมีการใช้ end-to-end encryption มาพักใหญ่แล้ว

เหตุผลหนึ่งที่เฟซบุ๊กเงื้อง่าราคาแพงมาหลายปี น่าจะมาจากแรงกดดันจากภาครัฐที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ทำสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้บรรดาแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ต้องชั่งใจว่าจะเอายังไงดี ระหว่างการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้กับการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมาย

แต่นักวิชาการอย่าง รีอันนา เพรฟเฟอร์กอร์น จาก Standford Internet Observatory มองว่า การใช้ end-to-end encryption สำหรับทุกคน (by default) น่าจะสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้งานมากกว่าปล่อยให้พวกเขาหาวิธีตั้งค่ากันเองโดยเฉพาะในกรณีอ่อนไหวอย่างสิทธิการทำแท้ง ซึ่งผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อมากขึ้นหลังจากคำตัดสิน Roe V Wade ถูกคว่ำไป

ส่วนมาตรการดูแลตัวเองระยะสั้นระหว่างรอให้มีการนำ end-to-end encryption มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ คือ การหันมาใช้แพลตฟอร์มที่มีการเข้ารหัสข้อความอยู่แล้ว ได้แก่ Signal ซึ่งมีการเข้ารหัสแบบ by default หรือ Telegram ที่มีออปชั่นให้เลือกว่าอยากเข้ารหัสข้อความหรือไม่

สำหรับผู้ใช้ iPhone ก็อย่าชะล่าใจ เพราะแม้การส่ง iMessage จะมีการเข้ารหัส แต่หากมีการแบ็กอัพบน iCloud เจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถเข้าถึงบัญชีการใช้งานบน iCloud ได้อยู่ดี ในขณะที่ SMS ทั่วไปนั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีการเข้ารหัสตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว


ลอร่า อีเดลสัน นักวิจัยจาก Cybersecurity for Democracy แนะนำผ่าน CNBC ว่า ใครที่ใช้ iMessage ควรปิดระบบแบ็กอัพบน iCloud หากไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสอดส่องดูข้อความภายหลัง แต่ก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยงว่า หากทำมือถือหาย ข้อความทั้งหมดก็จะหายไปด้วย ส่วนคนที่ใช้เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ ควรไปที่ตั้งค่าและเปิดใช้งาน end-to-end encryption เสียตั้งแต่บัดนี้ หรือเปลี่ยนไปใช้ Signal ให้รู้แล้วรู้รอดไป