ดีอีปิดจุดอ่อน “เน็ตประชารัฐ” ทุ่ม 4 พันล.เพิ่มจุดเชื่อมต่อ-อบรมทักษะ

กระทรวงดีอีเดินหน้าปิดจุดอ่อน “เน็ตประชารัฐ” เต็มสูบ เตรียมกันเงินเหลือติดตั้งโครงข่าย 4,000 ล้านบาท ใช้ทั้งบำรุงรักษา และปูพรมอบรมทุกหมู่บ้าน พร้อมใช้เงิน “บิ๊กร็อก” 580 ล้านบาท ลากสายไฟเบอร์ให้ “โรงเรียน-รพ.สต.” 5,000 แห่ง ทดแทนเน็ตผ่านดาวเทียมสายทองแดง ขณะที่เอกชนเตรียมเฮ ! “ก.พ.” เคาะเกณฑ์ “โอเพ่นแอ็กเซส” ก่อนเปิดให้เชื่อมต่อฟรี มี.ค.นี้

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง “เน็ตประชารัฐ” มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจาก บมจ.ทีโอที ได้ติดตั้งโครงข่ายครบ 24,700 หมู่บ้านเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 18 ธ.ค. 2560 และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจรับ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างทักษะและกระตุ้นประชาชนให้ใช้ประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น งานจึงไม่ได้เสร็จแค่ติดตั้ง กระทรวงดีอีได้เพิ่มโครงการเพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างเทรนเนอร์ให้ทุกหมู่บ้านเพื่อสอนการใช้งานที่ถูกต้องและปลอดภัย โดยจะใช้งบประมาณที่เหลือจากการติดตั้งโครงข่ายประมาณ 4,000 ล้านบาท จากงบประมาณที่ ครม.อนุมัติ 13,000 ล้านบาท

โดยจะนำเงินส่วนที่เหลือมาใช้กับการบำรุงรักษาโครงข่ายและอบรมบุคลากรในพื้นที่ ซึ่งตั้งงบประมาณสำหรับกิจกรรมเทรนเนอร์แล้ว 450 ล้านบาท

และยังเพิ่มการเชื่อมต่อตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกโรงเรียนรัฐมีอินเทอร์เน็ตใช้งานด้วย เนื่องจากโครงการเดิมไม่ได้ครอบคลุมส่วนนี้ โดยกระทรวงดีอีเพิ่งได้รับอนุมัติงบประมาณอีกราว 600 ล้านบาท จากงบประมาณกลางรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2560 (บิ๊กร็อก) ของรัฐบาลที่มีวงเงินรวม 1.9 แสนล้านบาท

โดยจะลากสายไฟเบอร์ออปติกเชื่อมโครงข่ายเน็ตประชารัฐให้โรงเรียน 4,200 แห่ง รวม 420 ล้านบาท และ โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 800 แห่ง เป็นเงิน 160 ล้านบาท ซึ่งจะติดตั้งให้เสร็จภายใน ก.ย. 2561 แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้งานจะเป็นงบประมาณของแต่ละหน่วยงานเอง

“รองนายกฯ (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ให้ใช้งบฯบิ๊กร็อกเสริมในส่วนที่ขาดไปจากโครงการเน็ตประชารัฐ ตามที่โรงเรียนและ รพ.สต.ร้องขอมา เนื่องจากแม้บางส่วนจะมีอินเทอร์เน็ตใช้งานอยู่แล้ว แต่ยังเป็นเทคโนโลยีบนสายทองแดง หรืออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้งานมาก รองนายกฯสมคิด จึงได้สั่งการว่า ไม่ต้องรอให้ถึงปี 2562 ตามแผนเดิม แต่ให้ดีอีรับมาทำเลย”

ขณะที่การเชื่อมต่อโครงข่ายหลักของเน็ตประชารัฐไปสู่บ้านเรือนประชาชนหรือองค์กรที่ต้องการใช้บริการ (ลาสต์ไมล์) ตามนโยบาย “โอเพ่นแอ็กเซส” ได้เตรียมเสนอร่างเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการเชื่อมต่อ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา ราวต้นเดือน ก.พ. นี้ โดยจะเปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถเข้ามาเชื่อมต่อได้ ภายใต้ความเหมาะสมทางเทคนิคและตามระเบียบการเชื่อมต่อโครงข่าย ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยประกาศเป็นมาตรฐานกลางไว้อยู่แล้ว

“ผู้ประกอบการทุกรายที่ยื่นขอเข้ามาและมาตรฐานทางเทคนิคสามารถรองรับได้ก็จะเชื่อมต่อได้ทุกราย ไม่ต้องเสียค่ากินเปล่าในการเข้ามาเชื่อมต่อ เสียเพียงค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเชื่อมต่อเอง โดยใครมายื่นก่อนก็ได้สิทธิ์ก่อน ซึ่งโครงข่ายที่ติดตั้งไว้ ในแต่ละจุดสามารถรองรับการเชื่อมต่อได้ราว16 ราย ถ้าเสนอบอร์ดทันคาดว่า มี.ค.นี้ก็จะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเชื่อมต่อได้”

โดยยื่นความจำนงกับกระทรวงดีอีจากนั้นจะประสานกับทีโอที ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงข่ายชั่วคราว ก่อนที่จะโอนการบริหารโครงข่ายนี้ให้กับบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่ตั้งขึ้นตามมติ ครม. เพื่อรวมโครงข่ายบรอดแบนด์ของประเทศ

เมื่อรวมกับโครงการติดตั้งและให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชายขอบ ที่ กสทช. รับผิดชอบ 3,900 หมู่บ้าน ที่จะเสร็จ ส.ค. 2561 และอีก 15,000 หมู่บ้านที่ได้รับมอบหมายใหม่ สิ้นปี 2561 ทุกหมู่บ้านจะมีบรอดแบนด์ใช้