ปูพรมขยายเครือข่ายค้าปลีก คอมเซเว่นผุดแฟรนไชส์บานาน่าไอที

“คอมเซเว่น” ปูพรมขยายเครือข่ายค้าปลีก “ไอที-มือถือ” ผุด “แฟรนไชส์” เพิ่มสาขา “บานาน่าไอที” ลุยเปิด 200 สาขาภายในสิ้นปีนี้ พร้อมปรับโฉม “เว็บไซต์-แอปพลิเคชั่น-อัพสปีดบริการส่งสินค้า” เสริมศักยภาพการขายผ่านช่องทางขายออนไลน์ และตั้งบริษัทใหม่ Novus บุกตลาดองค์กรโดยเฉพาะ มั่นใจเข็นรายได้รวมโต 20% ตั้งเป้า 3 ปี ปั๊มรายได้จากออนไลน์-ลูกค้าองค์กร ขยับจาก 10% เป็น 40% ของรายได้รวม 

นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลประกอบการของบริษัทในปี 2560 ที่ผ่านมา น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% เนื่องจากมีการนำสมาร์ทโฟนแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาจัดจำหน่ายมากขึ้น เช่น ซัมซุง, ออปโป้, วีโว่ และหัวเว่ย รวมถึงมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มขยายฐานลูกค้าเข้าไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่สัดส่วนรายได้ 90% ยังมาจากการขายปลีกสินค้าไอที

ส่วนรายได้จากองค์กรอยู่ที่ 6% และจากออนไลน์ประมาณ 4% ซึ่งเป้าหมายในปีนี้ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ฝั่งลูกค้าองค์กร และออนไลน์รวมกันให้ได้มากกว่า 10% มีรายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%

“เรายังมีแชร์ในตลาดลูกค้าองค์กรน้อยมาก ขณะที่ตลาดองค์กรมีมูลค่ามากถึง 50,000 ล้านบาท เรามองว่าตลาดใหญ่พอที่จะให้เราเข้าไปทำตลาดได้ โดยจะเน้นเทคโนโลยีเป็นตัวนำ มุ่งไปในเรื่องซีเคียวริตี้และคลาวด์ เพราะองค์กรส่วนใหญ่กำลังทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่ดิจิทัล โดยแผนระยะยาวของบริษัท คือต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากลูกค้าองค์กรและออนไลน์รวมกันเป็น 40% ภายในปี 2563”

สำหรับกลยุทธ์ในธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีในปีนี้จะยังเน้นไปที่การขยายสาขาเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีราว 420 สาขา แบ่งเป็นบานาน่าไอที 150 สาขา สตูดิโอเซเว่น 90 สาขา บานาน่าโมบาย 20 สาขา บีเคเค 40 สาขา และแบรนด์ช็อป เช่น ออปโป้, วีโว่, ซัมซุง รวม 30 สาขา ศูนย์ไอแคร์ 25 สาขา รวมถึงการรับผิดชอบในการบริหาร “ทรูช้อป” 63 สาขา และโซนไอทีในห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส อีก 30 สาขา โดยในปี 2561 จะเพิ่มช็อปต่าง ๆ รวมกันประมาณ 50 สาขา

ขณะเดียวกัน บริษัทจะเริ่มขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกสินค้าไอทีภายใต้แบรนด์ “บานาน่าไอที” ในรูปแบบ “แฟรนไชส์” ด้วย โดยตั้งเป้าเปิดให้ได้ 200 สาขา และคาดว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของบริษัทภายในปีนี้ โดยปัจจุบันมีผู้ที่แสดงความสนใจที่จะเปิดแล้ว 80 ราย

“การลงทุนร้านแฟรนไชส์แต่ละแห่งจะอยู่ที่ 1 ล้านบาท ส่วนสาขาที่เปิดเองถ้าเป็นบานาน่าไอทีจะอยู่ที่ 5-10 ล้านบาท ส่วนสตูดิโอเซเว่นจะอยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อสาขา”

นอกจากนี้ บริษัทยังจะมีการปรับปรุงเว็บไซต์ให้ทันสมัย และให้ใช้งานง่ายขึ้น รวมถึงทำแอปพลิเคชั่นใหม่ เพื่อช่วยให้ประสบการณ์ในการใช้งานของลูกค้าดีขึ้น โดยจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) มาใช้ด้วย พร้อมปรับปรุงการจัดส่งสินค้าให้เร็วขึ้น โดยจะต้องส่งให้ได้ภายใน 3 ชั่วโมง สำหรับในกรุงเทพฯ และในวันรุ่งขึ้นสำหรับต่างจังหวัดและได้เพิ่มสินค้าใหม่ คือ เกมคอนโซล “เพลย์สเตชั่น 4” (Play Station 4)

เนื่องจากมองว่าตลาดเกมยังเติบโตได้อีกมาก แต่ถือเป็นการทดลองตลาด จึงยังไม่ได้คาดหวังด้านรายได้มากนัก ปัจจุบันมีวางขายในร้านบานาน่าไอทีแล้ว 40 สาขา ขณะที่การขายอุปกรณ์เสริมสินค้าไอที และโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ ก็ยังคงมีการเติบโตขึ้น คาดว่าที่จะมาแรงต่อไป คืออุปกรณ์ VR แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีคอนเทนต์รองรับมากพอ

สำหรับการรุกตลาดองค์กร ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดบริษัทใหม่ “Novus” ขึ้นมารับผิดชอบด้านการทำตลาดลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ นายสุระกล่าวถึงภาพรวมตลาดโทรศัพท์มือถือในปีที่ผ่านมาว่า เฉพาะตลาดสมาร์ทโฟนคาดว่ามียอดขายรวม 15 ล้านเครื่อง ไม่เติบโตจากปีก่อนหน้านั้น แต่ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องสูงขึ้น สำหรับราคาเฉลี่ยของสินค้าของบริษัทจะอยู่ที่ 7,500 บาท

“ช่วงเวลาในการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 1-2 ปี ส่วนตลาดโน้ตบุ๊กปีที่ผ่านมา คาดว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านเครื่อง ไม่ได้เติบโตจากปีก่อน แต่ราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งสินค้าที่บริษัทขายอยู่จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 17,000 บาท แนวโน้มการเติบโตยังดีอยู่ ขณะที่การแข่งขันดุเดือดมากจึงคิดว่าปีนี้จะไม่ดุเดือดกว่าปีที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากกำไรน้อย แต่ละรายจึงต้องหาจุดเด่นเพื่อสร้างการจดจำให้ลูกค้า โดยปรับกลยุทธ์การตลาดและปรับสินค้าให้ตรงตามแคแร็กเตอร์บริษัท และฐานลูกค้า เพื่อสร้างการเติบโตในช่องทางของตนเอง”