ชำแหละแผนลงทุนไอทีไทย “ไอดีซี” ชี้ AI-IOT-5G มาแรง

รัฐบาลเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 เต็มสูบขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนด้านไอทีของไทย โดย “จาริตร์ สิทธุ” ผู้บริหารประจำไอดีซีประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2560 เม็ดเงินลงทุนไอทีในไทยสูงถึง 4.2 แสนล้านบาท เติบโต 12.4% ซึ่ง”สมาร์ทโฟน” คือมีแรงขับเคลื่อนสำคัญกว่า 40% ขณะที่การเติบโตของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) อยู่ที่ 3.5%

สำหรับสัดส่วนการลงทุนด้านไอที อยู่ใน “ดีไวซ์” ราว 2.5 แสนล้านบาท โตขึ้น 10.7% โดย 60% ของมูลค่ามาจากสมาร์ทโฟน ลดลงจากปีก่อน 2 พันล้านบาท “ไอที เซอร์วิส” เกือบ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% “อินฟราสตรักเจอร์” ราว 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และ “ซอฟต์แวร์” กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

“ไอที เซอร์วิส” ดาวรุ่ง

แต่ในปี 2561 คาดว่าการลงทุนด้านไอทีจะอยู่ที่ราว 4.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ลดลงคือแค่ 2.8% เนื่องจากฐานเงินลงทุนที่สูงขึ้น แต่ด้านที่จะเติบโตมากจะไปอยู่ที่ “ไอที เซอร์วิส” 9% ตามด้วยอินฟราสตรักเจอร์ 6% และซอฟต์แวร์ 7% แต่ “ดีไวซ์” จะติดลบ 1% จากตลาดพีซีที่ไม่เติบโต แม้ยังมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดกว่า 2.4 แสนล้านบาท

ทั้งยังคาดการณ์ถึงปี 2564 ว่าการลงทุนไอทีในไทยจะโตต่อเนื่องไปที่ 4.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% ตลาดที่เติบโตมากที่สุดยังเป็น “ไอที เซอร์วิส” 21% ซอฟต์แวร์ 19% อินฟราสตรักเจอร์ โต 0.3% ตลาดดีไวซ์ยังติดลบ 1%

หากเจาะการจับจ่ายของผู้บริโภค พบว่าในปีที่แล้วมีมูลค่าราว 1.77 แสนล้านบาท 75% มาจากสมาร์ทโฟน ที่มียอดขายราว 22 ล้านเครื่อง เพิ่มจากปี 2559 ที่มีมูลค่า 1.34 แสนล้านบาท ขณะอุปกรณ์ไอทีอื่น ๆ เช่น พีซี, พรินเตอร์หดตัวลง

ตลาดสมาร์ทโฟนปัจจุบันเปลี่ยนเเปลงจากการขับเคลื่อนด้วยผู้ที่ซื้อเครื่องครั้งเเรก เป็นการซื้อเครื่องที่ 2-3 และการเลือกซื้อในราคาที่สูงขึ้น จากปี 2559 ที่ราคาเครื่องต่ำ 7,000 บาท มีสัดส่วนถึง 81% แต่ปีที่แล้วกลุ่มนี้ลดสัดส่วนเหลือ 56% ส่วนแนวโน้มปีนี้คาดว่าจำนวนเครื่องที่ขายได้ไม่ต่างจากปีก่อน แต่มูลค่าจะแตะถึง 1.81 แสนล้านบาท

“การเติบโตของสมาร์ทโฟนกลุ่มราคาต่ำกว่า 3,000 บาท เริ่มลดลง อีกทั้งแต่ละเเบรนด์เริ่มสร้างมาตรฐานราคาไฮเอนด์ที่ 30,000 บาทขึ้นไป ดังนั้นผู้บริโภคจะซื้อสมาร์ทโฟนที่จะเเพงขึ้น ส่งผลให้จำนวนยอดขายอาจจะไม่เพิ่มมาก เนื่องจากตลาดเริ่มอิ่มตัว แต่เม็ดเงินโตได้อีก”

“สื่อสาร-การเงิน-รง.” ทุ่มหนัก

ขณะที่สถาบันการเงินและประกันภัยลงทุนด้านไอทีเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มช่องทางและบริการใหม่ ๆ รองรับพฤติกรรมผู้บริโภค ในปีที่ผ่านมาใช้เม็ดเงินลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3 พันล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะเพิ่มอีก 3.2 พันล้านบาท และเพิ่มอีก 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 โดยจะเห็นการลงทุนทำโครงการที่มีขนาดเล็กลงให้บริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปีที่แล้วมีการลงทุนไอทีราว 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.03 หมื่นล้านบาท ยังเติบโตต่อเนื่อง ปีนี้คาดลงทุนเพิ่มอีก 4.2 พันล้านบาท เพื่อบริหารจัดการต้นทุน สร้างรายได้จากบริการใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า คาดว่าในปี 2564 จะมีมูลค่าการลงทุนเฉียด 6 หมื่นล้านบาท

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะได้เห็นการลงทุนด้านไอทีเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากที่เพิ่มในปีที่แล้ว 700 ล้านบาท ปีนี้จะเพิ่มการลงทุนอีก 1.7 พันล้านบาท และปี 2564 จะเพิ่มอีก 5.8 พันล้านบาท ทำให้มูลค่าการลงทุนทะลุ 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการแข่งขันสูงทั้งในประเทศและระดับโลก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) และโรโบติก เข้ามาเพิ่มศักยภาพและทดแทนแรงงาน ซึ่งไทยมีการลงทุนสูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะ IOT เพิ่มขึ้น 8% ทุกปี เพื่อเก็บดาต้าสำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น รวมถึงใช้ 3D printing มาใช้ผลิตต้นแบบ

“ไทยแลนด์ 4.0 EEC และมาตรการลดหย่อนภาษีช่วยกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นให้มีการลงทุน โดยดาต้าอะนาไลติกส์ จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ในการช่วยตัดสินใจ”

IOT-AI-5G มาแรง

ขณะที่ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” จะมีบทบาทสำคัญ คาดว่า 20% ขององค์กรขนาดใหญ่ในไทยจะกำหนดกลยุทธ์การสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ชัดเจน และภายในปี 2563 จะเริ่มใช้เป็นเครื่องมือหลักในการแข่งขัน แต่ปัญหาคือมีการสำรวจพบว่า 65% ขององค์กรมีกลยุทธ์ไปสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม เเต่แค่ 9% ที่โครงสร้างองค์กรพร้อม ดังนั้นสิ่งสำคัญต้องเปลี่ยน “ไมนด์เซต-ตัวชี้วัด”

“ปีนี้ 30% ของผู้บริหารด้านไอทีให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า สร้างรายได้จากดาต้า ขณะที่ทุกองค์กรจะพยายามปกป้องข้อมูลให้มากที่สุด 30% ของผู้บริหารด้านไอทีจะหันกลับมาสนใจการตรวจสอบผู้ใช้งานระบบและการสร้างความเชื่อมั่นในระบบไอที สร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยกับประสบการณ์ลูกค้า”

ปี 2562 ผู้ช่วยดิจิทัลและบอตจะเข้ามามีบทบาทแค่ 3% ของธุรกรรมทั้งหมด แต่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม 10% ของยอดขาย


ขณะที่ปี 2563 จะมี 1 ใน 3 ของ 500 บริษัทใหญ่สุดของไทย ได้บริการดิจิทัลผ่านระบบ API แบบเปิด เพื่อช่วยขยายบริการดิจิทัลให้ไปได้ไกลกว่าแค่ลูกค้าของตน และ 25% ของตำแหน่งงานด้านเทคนิคที่เปิดใหม่ จะต้องการผู้สมัครที่มีทักษะการวิเคราะห์และ AI ทั้งเทรนด์โมบายเพย์เมนต์จะเป็นแบรนด์การรับชำระเงิน ผู้บริโภค 60% ไม่ใช้เงินสดช่วยให้รายได้ของผู้ประกอบการขนาดย่อมโตขึ้น 10%และภายในปี 2564 บริการ 5G จะช่วยผลักดันการใช้งาน IOT มากขึ้นและกระตุ้นให้ 50% ของ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในไทยลงทุนในโซลูชั่นด้านการจัดการการเชื่อมต่อเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท