ลุ้นเคาะประมูลดาวเทียม ธ.ค. “เอกชน” โอดราคาขั้นต่ำไม่เอื้อแข่งขัน

กสทช.เปิดประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมไปเมื่อปีที่แล้วแต่ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมเพียงรายเดียวจึงต้องยกเลิกการประมูล และกลับมาปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตอีกรอบ ล่าสุด (30 ส.ค. 2565) กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) (ฉบับแก้ไขปรับปรุง)

ย้ำปรับใหม่เอื้อแข่งขัน

พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.เปิดเผยว่า กสทช.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่สำคัญ เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าร่วมแข่งขัน โดยเพิ่ม Package จากเดิม 4 ชุด เป็น 5 ชุด เพื่อให้มีความยืดหยุ่น คุ้มค่าในการลงทุนและมีความเป็นไปได้ในการรักษาสิทธิข่ายงานดาวเทียม และตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทยที่มีสิทธิอยู่เดิมให้มากที่สุด โดยผ่อนคลายคุณสมบัติผู้เข้าร่วมในแต่ละชุดที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพื่อให้เกิดผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น

และปรับหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือก และเงื่อนไขการพิจารณา ให้เหมาะสมกับแต่ละ Package รวมถึงปรับปรุงราคาขั้นต่ำแต่ละ Package ให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ตามกลไกตลาด และก่อให้เกิดการแข่งขันเสรี เป็นธรรมมากขึ้น จึงปรับปรุงราคาขั้นต่ำ และทบทวนวิธีการคำนวณราคาขั้นต่ำ

โดยกำหนดให้ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตในแต่ละชุด กรณีที่มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมมากกว่า 1 ราย มีราคาขั้นต่ำ ต่ำกว่ากรณีที่มีผู้ขอรับใบอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเพียงรายเดียว เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น

พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์กล่าวว่า ในการกำหนดราคาได้พิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการจัดระบบประมูลสองรายให้ราคาถูกลง เพื่อบีบให้เอกชนเข้าแข่งขัน โดยเฉพาะในชุดข่ายที่สำคัญอย่างชุดที่ 2 และ 3 และมีเกณฑ์ตรวจสอบผู้เข้าประมูล เพื่อป้องกันการฮั้วประมูลไว้แล้ว และชุดข่ายที่ไม่มีใครใช้อย่างชุดที่ 4 มีราคาแค่แปดล้าน ก็เพื่อเอื้อให้เกิดรายใหม่เข้ามา

“จะนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ ก่อนนำเสนอบอร์ดใหญ่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ให้ทันประมูลครั้งใหม่ที่จะเกิดราว ธ.ค.ปีนี้”

ตารางดาวเทียม

ติงราคาไม่สมเหตุผล

อาจารย์วิภาพันธ์ ประสมปลื้ม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงใน 2 ประเด็น คือ 1.ความสมเหตุสมผลของราคา โดยระบุว่าการกำหนดราคาขั้นต่ำไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยจริง และอาจไม่ได้ใช้การศึกษาเชิงวิศวกรรมดาวเทียมมาช่วย เนื่องจากใบอนุญาตวงโคจรแพ็กเกจที่ 1, 4 และ 5 ยังไม่มีการใช้จริง จึงยังไม่เห็นประโยชน์ใช้สอย ขณะที่แพ็กเกจ 2 และ 3 ใช้จริงมากกว่า แต่ราคาขั้นต่ำสูงถึง 500 ล้านบาท ทั้งความสำคัญจำเป็นของแพ็กเกจ 2 และ 3 ที่ราคาแพงขึ้นจึงไม่เอื้อรายใหม่

และในแพ็กเกจ 3 ในวงโคจรที่ 119.5 องศาตะวันออก มีไทยคม 4 ที่จะหมดอายุใช้อยู่ จึงควรจัดสรรแพ็กเกจตามความจำเป็นก่อน

ส่วนประเด็น ที่ 2. การที่ภาครัฐต้องการมีดาวเทียมนั้น หากประมูลแข่งกับเอกชนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีข้อกำหนดให้ภาครัฐเข้าดำเนินกิจการที่จำเป็นต่อความมั่นคง และบริการสาธารณะที่จำเป็น แต่ไม่มีเอกชนลงทุนทำได้ ขณะที่ภาครัฐไม่มีศักยภาพเท่าเอกชน หากจะเข้าร่วมด้วยก็ควรทำให้เป็นธรรม และในประกาศหลักเกณฑ์ต้องไม่กำหนดให้เอกชนแบ่งให้ภาครัฐใช้ช่องสัญญาณฟรี หากต้องใช้ก็ไม่ควรบังคับ และไม่ควรกำหนดเงื่อนไขหลังประมูล ให้หน่วยงานรัฐใช้แต่ดาวเทียมรัฐ

ไลเซนส์ฟีไทยแพงกว่า ปท.อื่น

นายเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร บมจ.ไทยคม กล่าวว่ากิจการดาวเทียมในระดับมหภาคกำลังมีผู้เล่นรายใหม่ โดยไม่เกิน 3 ปีจะมีการยิงดาวเทียม SES, Utel Sat, Oneweb, YSat เป็นต้น ทั้งหมดเป็นดาวเทียมที่มี Capacity ใหญ่สุดในโลกที่กำลังจะเข้ามาในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยคม

หลังได้ใบอนุญาตแล้ว ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนหลัก คือค่าใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมราว 4% ค่าวงโคจรรายปี 0.25% ส่วนค่าประมูลยังไม่รู้ว่าจะเป็นเท่าไร เท่ากับต้นทุนของไทย 4.25% แล้ว ขณะที่ของสิงคโปร์อยู่ที่ 1% มาเลเซีย 0.5% เวียดนาม 1.8 แสนบาทต่อดาวเทียมหนึ่งดวง

ขณะที่อังกฤษ ญี่ปุ่น และลักเซมเบิร์ก ไม่คิด เท่ากับไทยแพงกว่าประเทศอื่น ๆ

“ไทยคมก็ไม่ได้หารายได้จากช่องสัญญาณเป็นหลัก แต่เน้นโซลูชั่น End to End ซึ่งจะหารายได้ได้ต้องมีโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ที่ต้นทุนไม่ควรแพง”

ไทยคมยก 6 เหตุผลไม่เห็นด้วย

ไทยคมไม่เห็นด้วยกับร่างฯใน 6 ประเด็นได้แก่ 1.ร่างประกาศไม่สอดคล้องกับวงโคจรปัจจุบัน กสทช. ควรพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน บางวงโคจรควรนำมาประมูลก่อน บางวงโคจรชะลอได้ 2.ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์อุตสาหกรรมดาวเทียมโลก แม้ปกติไม่ประมูลค่าใช้จ่ายก็สูงกว่าต่างประเทศ ทำให้แข่งได้ยาก 3.ชุดข่ายดาวเทียมที่ 3 มีความสำคัญมาก มีลูกค้าทั้งเอเชีย-แปซิฟิก และไทยคม 4 ที่ใช้อยู่กำลังจะหมดอายุ ผู้ที่ชนะควรมีแผนดำเนินการดาวเทียมทุกด้าน หากเกิดความล่าช้าจากระเบียบอาจยิงดาวเทียมไม่ทัน

4.ราคาขั้นต่ำไม่สมเหตุสมผล เช่น วงโคจร 119.5E ราคาตั้งต้นเพิ่มขึ้น หรือวงโคจรอื่น ที่ไม่เคยใช้งานควรลดราคา 5.กำหนดไทม์ไลน์ที่แน่นอน เพราะมีผลต่อแผนการดำเนินธุรกิจของเอกชน

และ 6.ถ้าภาครัฐจะเข้ามาควรเป็นในพื้นที่ที่ขาดแคลนบริการสาธารณะ หรือหากจะเข้ามาก็ควรเจรจาร่วมกันให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ไม่เป็นภาระเอกชน

แนะประมูลเฉพาะที่มีการใช้

นายศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มิว สเปซ กล่าวว่า การขอไฟลิ่งดาวเทียมในชุดข่ายต่าง ๆ กสทช. ควรระบุเงื่อนไขและข้อจำกัดด้วย เพราะการใช้งานดาวเทียมต้องใช้ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ในทางปฏิบัติผู้ชนะอาจใช้งานได้ไม่เต็ม Capacity ดังนั้นราคาตั้งต้นที่ 500 ล้านบาท แพงไปกับการใช้ได้แค่บางส่วน ส่วนวงโคจร 126E แม้ราคาถูก แต่ต้องใช้เวลาประสานวงโคจรอีกนานกว่าจะยิงดาวเทียมได้ ขณะที่วงโคจร 142 มีดาวเทียมใช้จริง หากมีคนที่ชนะต้องไปแย่งชิงคนเก่า

และในชุดที่ไม่มีดาวเทียม (126E) ไม่ควรนำมาประมูลควรหาวิธีให้เอกชนสร้างรายได้จากช่องว่างนั้นได้จริงให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านแล้วค่อยหาทางเก็บรายได้ ส่วนที่ภาครัฐขอใช้ 1% ของ capacity ในกรณีที่ผู้ประมูลบางชุดไม่ครอบคลุมประเทศไทยภาครัฐจะนำ 1% ไปใช้ได้อย่างไร ส่วนค่าธรรมเนียม 0.25% ถ้ามีรายได้ในไทยก็ควรคิดแค่นี้ ถ้าให้บริการในประเทศอื่น ค่าธรรมเนียมควรลดต่ำลง เพราะต้องไปสู้กับต่างชาติ

ทั้งหมดเป็นข้อคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงซึ่งต้องจับตาดูกันต่อว่า กสทช.จะนำไปปรับแก้หรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะกดปุ่มเปิดประมูล