ยักษ์ใหญ่ทุ่มเงินชิงสตาร์ตอัพ ดึงนวัตกรรมปั้นธุรกิจใหม่รับมือดิสรัปต์

แฟ้มภาพ

ทุนยักษ์ใหญ่รุมแย่งสตาร์ตอัพ หวังใช้นวัตกรรมเร่งสร้าง new S-curve หนีดิสรัปชั่น กูรูชี้ปี”61 กองทุน CVC เปิดตัวอีกเพียบ แนะรุ่นใหม่พัฒนา Deep Tech “อินทัช” พร้อมทุ่ม 200 ล้านบาท/ปี ตุนเข้าพอร์ตต่อเนื่อง ฟาก ปตท.เตรียมเปิดตัวธุรกิจใหม่ไอเดียสตาร์ตอัพ ปี”62 SIRI Venture จัดให้อีก 1.5 พันล้าน 3 ปี

นายศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ตอัพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นเทรนด์ของโลกที่บรรดาบริษัทใหญ่จะต้องหาทางทรานส์ฟอร์ม เพื่อรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชั่น ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งการดึงสตาร์ตอัพเข้ามาร่วมเป็นวิธีที่ทำให้ได้นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจึงมีหลายองค์กรลงทุนในสตาร์ตอัพ ผ่านการตั้งกองทุน Corporate Venture Capital (CVC)

รุมแย่ง Deep Tech

“CVC เริ่มเห็นเยอะในไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว และปีนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นแน่นอน เดี๋ยวนี้สตาร์ตอัพหาเงินไม่ยาก แต่สตาร์ตอัพเก่ง ๆ มีไม่เยอะ ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การแข่งกันเพื่อแย่งชิงสตาร์ตอัพดี ๆ ซึ่งหมายถึงต้องแย่งกับกลุ่มทุนจากต่างประเทศด้วย”

ขณะที่สตาร์ตอัพไทย ยังมีบางกลุ่มที่มุ่งโฟกัสแต่แชร์ริ่งอีโคโนมี ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะที่มีมากเกินไป และเริ่มมีผู้ครองตลาดได้แล้ว การจะไล่ชิงมาร์เก็ตแชร์ให้ทันจึงไม่ง่าย ส่วนสตาร์ตอัพที่โฟกัส “Deep Tech” ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงยังขาดแคลน โดยเฉพาะที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่เดิม อย่างการเกษตร เฮลท์แคร์ การท่องเที่ยว

ส่วนกฎระเบียบภาครัฐยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในสตาร์ตอัพอยู่บ้าง อาทิ การออกหุ้น ESOP ให้พนักงานซื้อหุ้นในราคาที่กำหนดได้ แต่เชื่อว่าจะถูกแก้ไขให้ดีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยเชื่อว่าไทยยังสามารถเป็นดิจิทัลฮับได้ เนื่องจากมีบริษัทใหญ่ ๆ สนับสนุนสตาร์ตอัพมากขึ้น สร้างแรงกระเพื่อมในวงการได้มาก มั่นใจว่าจะก้าวสู่เป้าหมาย ที่จะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจด้วยสตาร์ตอัพได้ระดับ 1% ของจีดีพี ในไม่กี่ปีจากนี้

อินทัชจัดให้ 200 ล้าน/ปี

นายณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานพัฒนาธุรกิจและบริษัทร่วมทุน และหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อินทัชเตรียมเงินลงทุนไว้อย่างน้อย 200 ล้านบาท/ปี

สำหรับลงทุนในเทคสตาร์ตอัพระดับ series A ขึ้นไป ซึ่งมีผลิตภัณฑ์และบริการที่นำมาใช้กับธุรกิจในกลุ่มได้

“โลกธุรกิจเปลี่ยนไปมาก การแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ มีหน้าใหม่เข้ามาดิสรัปต์บริษัทใหญ่ อาทิ ฟินเทค ดังนั้นองค์กรขนาดใหญ่จำเป็นต้องร่วมมือกับสตาร์ตอัพเพื่อรับมือ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพรับมือกับการแข่งขัน แสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในไทยจึงมีการตั้ง CVC มาลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้น แม้กระทั่งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ หรือบริษัทที่มีแผนก R&D และพนักงานที่เชี่ยวชาญ”

ในปี 2560 อินทัชลงทุนในสตาร์ตอัพไป 3 บริษัท อาทิ “Digio” ผู้พัฒนาระบบ e-Payment solution ให้แก่ธนาคารชั้นนำหลายแห่ง ล่าสุดได้ออกเครื่องรูดบัตรเครดิตขนาดเล็ก (Mini EDC) ราคาถูกกว่าเครื่อง EDC ทั่วไปมาก และใส่ซิมการ์ดเข้าไปที่ตัวเครื่องพร้อมทำธุรกรรมผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือได้ทันที หรือ “Shopback” เป็นเว็บไซต์ให้เงินคืนสำหรับผู้ที่ช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งให้บริการอยู่ 6 ประเทศ

ขณะที่ทิศทางปีนี้จะเน้นสตาร์ตอัพ Deep Tech เช่น artificial intelligence (AI), big data, machine learning augmented reality (AR), virtual reality (VR) และ internet of things (IOT)

ปี”62 new S-curve ปตท.

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บมจ. ปตท.และประธานกรรมการ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า ปตท.ตระหนักถึงความสำคัญเพื่อรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชั่นที่กระทบกับธุรกิจดั้งเดิมของบริษัท อาทิ การเกิดขึ้นของพลังงานทดแทน ดังนั้น 1 ในแนวทาง PTT 3D คือ กลยุทธ์ design now การเร่งสร้างธุรกิจใหม่เพื่อก้าวไปสู่อนาคต

“ปี 2562 จะเริ่มเห็นธุรกิจใหม่ของ ปตท. ซึ่งเกิดจากการพัฒนานวัตกรรมทั้งจากทีมวิจัยซึ่งแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมที่เชี่ยวชาญอยู่เดิม และจากสตาร์ตอัพที่กองทุนของ ปตท.เข้าไปลงทุน หรือสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีแนวคิดและนวัตกรรมแปลกใหม่”

สำหรับนวัตกรรมใหม่ที่ ปตท.ให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.ด้านไฟฟ้า Electricity value chain 2.ด้าน Smart ทั้ง smart energy smart city smart grid 3.ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ 4 Circular economy 5.ด้าน Automation robotics และ IoT 6.การทำเพื่อตอบสนองนโยบาย อาทิ การส่งเสริมศูนย์นวัตกรรม

“การดึงสตาร์ตอัพเข้ามาเสริมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไปสู่ new S-Curve ซึ่ง ปตท.เปิดกว้างหมดทั้งใช้ CVC การทำโครงการส่งเสริม การซื้อกิจการโดย CVC ดึงสตาร์ตอัพเข้าพอร์ตทุกปี และกำลังปั้นให้พร้อมเป็นธุรกิจดาวรุ่ง”

SIRI Venture ทุ่ม 1.5 พันล้าน

นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด CVC ภายใต้การร่วมทุนของ บมจ. แสนสิริ และธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า CVC เป็นเทรนด์ของบริษัทใหญ่ 3 ปีนี้ SIRI Venture เตรียมงบประมาณไว้ 1.5 พันล้านบาทสำหรับสตาร์ตอัพที่สามารถต่อยอดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ อาทิ Construction Tech, Prop Tech, Living & Food Tech และ Health Tech

โดยปี 2560 ลงทุนไปแล้วกว่า80 ล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุดเป็นพาร์ตเนอร์กับเครือข่ายสตาร์ตอัพรายใหญ่ “Plugand Play” จากซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา และ “SOSA” จากอิสราเอลขณะที่นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือไทยพาณิชย์ กล่าวว่า CVC จะเกิดขึ้นอีกมากในไทย เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แข่งกันแค่ภายในประเทศ แต่ต้องรับมือการแข่งขันจากต่างประเทศด้วย

“เงินลงทุน 1 พันล้านบาท ถือว่าน้อยมาก เมื่อมองในภาพใหญ่ระดับโลก ดังนั้นการลงทุนในสตาร์ตอัพสามารถร่วมมือกันได้ระหว่างรายใหญ่ ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างวิ่งแย่งกัน ขณะนี้ CVC กำลังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ และสตาร์ตอัพไทยแม้จะเคลื่อนตัวได้เร็ว แต่ระดับความลึกในการพัฒนายังไม่ได้ ยังไม่มี original technology แต่เชื่อว่าอีก 5 ปี จะเกิด core faculty ที่ช่วยให้เกิดสตาร์ตอัพที่มีคุณภาพและแตกต่าง”

ที่ผ่านมา ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ลงทุนในสตาร์ตอัพ เช่น PayKey ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กจากอิสราเอล และ IndoorAtlas ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุพิกัดตำแหน่งในพื้นที่ในร่มจากฟินแลนด์ รวมมูลค่าการลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำลังขออนุมัติเงินลงทุนเพิ่มจากบอร์ด

ปี 60 ระดมทุน 105 ล้าน US

ในปี 2560 มีบริษัทจำนวนมากตั้ง CVC อาทิ กลุ่ม บมจ. ปตท. ตั้ง express solutions (ExpresSo) กลุ่ม บมจ. เอสซีจี ตั้ง AddVentures by SCG กลุ่ม บมจ.เจมาร์ท ตั้ง J Venture กลุ่มดุสิตธานี ตั้ง Dusit Colours บมจ. ล็อกซเล่ย์ ร่วมกับกองทุนสิงคโปร์ “TIH” ตั้ง K2 เวนเจอร์ แคปปิตอลข้อมูลจาก Techsauce ระบุว่า ในปี 2560 มีกองทุนและ corporate ลงทุนในไทย กว่า 96 ราย เพิ่มจากปี 2559 ที่มีราว 74 ราย ขณะที่ยอดการลงทุนในสตาร์ตอัพ เฉพาะที่มีการเปิดเผยข้อมูลและไม่รวมการระดมทุนผ่าน ICO (การออกเหรียญเงินดิจิทัล) มีไม่ต่ำกว่า 105.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 86.02 ล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อน โดยมี 90 สตาร์ตอัพที่ระดมทุนได้ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 75 รายในปีก่อน