“กลุ่มสามารถ”ลั่นพร้อมสู้ศึกดิจิทัลดิสรัป จัดทัพใหม่ตั้งเป้ารายได้ปี’61ทะลุ 2 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่าในช่วงบ่ายของวันนี้ (26 ม.ค.2561) กลุ่มบริษัทสามารถได้ประกาศทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2561 โดยนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น ระบุว่าในปีที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในสายธุรกิจไอโมบาย ด้วยการตัดธุรกิจโทรศัพท์มือถือออกไปแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ จนมีธุรกิจ Digital Trunked Radio และธุรกิจให้เช่าเสาสัญญาณ (Co-Tower) ในกรมอุทยาน เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2561 จึงตั้งเป้าการขยายตัวทั้งรายได้ และกำไร โดยเฉพาะรายได้รวมตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ยังไม่สามารถเปืดเผยตัวเลขได้ แต่เพิ่มจากปี 2559 ที่ทำได้ 1.3 หมื่นล้านบาท

“ปี 2560 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของสายธุรกิจไอโมบาย แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบ ทั้งรายได้และภาพลักษณ์จากการตัดธุรกิจมือถือออก แต่จำเป็นต้องทำ เพื่อวางรากฐานให้ธุรกิจใหม่และสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต และจะเริ่มรับรู้รายได้ปีนี้ ส่วนธุรกิจ ICT Solutions โดยสามารถเทลคอม มีผลงานที่น่าพอใจ เซ็นต์สัญญาได้ 80 โครงการ รวมมูลค่า 6,000 ล้านบาท จึงมีงานในมือเกือบหมื่นล้านบาท อาทิ การจัดซื้อและว่าจ้างบํารุงรักษาระบบ Core Banking ธนาคารอาคารสงเคราะห์, การซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคมทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นต้น”

สำหรับสายธุรกิจ U-trans ได้ขยายอายุสัมปทานการให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ ในประเทศกัมพูชา โดยบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) เพิ่มอีก 7 ปี จากเดิม 32 ปี เป็น 39 ปี ตั้งแต่ปี 2544-2583 ขณะที่บริษัท เทด้า สร้างรายได้จากการบริหารงานก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูง และมีงานในมือแล้วกว่า 2 พันล้านบาท และอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโต คือ ธุรกิจกล้องวงจรปิด ของบริษัท วิชั่น แอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม ทำรายได้สูงสุดและมีกำไรเพิ่มขึ้นเกือบ 500%ในปีที่ผ่านมา

ส่วนปีนี้ แต่ละสายธุรกิจมีจุดมุ่งเน้นแตกต่างกัน เช่น สามารถดิจิทัล เน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างธุรกิจ, สามารถเทลคอมเน้นการทำสถิติสูงสุดทั้งมูลค่าสัญญาที่เซ็นได้และการเติบโตของรายได้ประจำ ส่วนสามารถยูทรานส์เน้นขยายธุรกิจและลงทุน ขณะที่สามารถฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ยังมีนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง ไม่จำกัดบทบาทแค่โฮลดิ้ง โดยเปิด SAMART Next Forum ค้นหาธุรกิจ และพร้อมลงทุนกับบริษัทสตาร์ตอัพที่น่าสนใจ

นายวัฒน์ชัยกล่าวต่อว่า ในปี 2561 คาดว่ากลุ่มสามารถเทลคอมจะมีรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประกอบกับความตื่นตัวของภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าใน 3 ปีนี้ จะมีการลงทุนด้านไอทีภายในประเทศมากถึง 5 แสนล้านบาท ทำให้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มโครงการในมือ ( Backlog ) ให้ได้ถึง 20,000 ล้านบาท เน้นการเพิ่มรายได้ประจำให้สูงขึ้น นอกเหนือจากบริการด้านไอซีทียังจะเปิดตัวบริการ Cyber Security Solution ภายใต้ชื่อบริษัท SAMART SecureInfo ให้บริการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลระดับสูงสุด

ขณะที่สามารถดิจิทัล หรือ SDC หลังการเปลี่ยนแปลงธุรกิจครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา ในปีนี้จะเห็นความคืบหน้าของธุรกิจใหม่ คือ Digital Trunked Radio ทั้งจากการจำหน่ายเครื่องลูกข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล และรายได้จากค่าใช้บริการรายเดือน (800 บาท/เครื่อง/เดือน) คาดว่าจะติดตั้งโครงข่ายได้ 1,000 แห่ง และจำหน่ายเครื่องลูกข่ายได้ 50,000-100,000 เครื่อง และบริษัทยังเริ่มต้นธุรกิจ Co-Tower โดยได้รับสัญญาสัมปทานในการติดตั้งเสาโทรคมนาคม ในกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเช่าใช้ ระยะเวลา 10 ปี โดยปีนี้ จะติดตั้ง Co-Tower ได้ 250-300 ต้น ส่วนบริการ Content ทั้ง BUG และ EDT มีการยกเครื่องบริการใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการมากขึ้น

สำหรับสามารถยูทรานส์ ล่าสุดตั้งบริษัทใหม่ SAMART Transolutions บริหารธุรกิจด้านคมนาคม โดยมี Cambodia Air Traffic Services เป็นหัวหอกสำคัญ และคาดว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนใน
ตลท.ได้ภายในปลายปีนี้ ส่วนบริษัท เทด้า มีโอกาสในการเพิ่มรายได้จากงบประมาณโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง อีกหลายพันล้านบาท

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทสามารถมีบริษัทในเครือกว่า 20 บริษัท และมี 4 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน)