ค้าปลีกไทยจะไปทางไหน ห้าง-ช็อปปิ้งมอลล์ ปะทะออนไลน์ (1)

คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ

 

ในช่วงปีที่ผ่านมา การค้าออนไลน์สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อวงการค้าปลีกไทยไม่น้อย ทั้งมีปัจจัยภายนอกเป็นแรงเสริมให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดคำถามว่า วงการค้าปลีกของไทยควรเดินไปในทิศทางใด และต้องรับมืออย่างไร

บทวิเคราะห์นี้น่าจะช่วยชี้ช่องทางการตั้งรับและปรับตัวให้กับธุรกิจค้าปลีกของไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย

อเมริกาไปแล้ว

วงการค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าหรือ shopping mall ของอเมริกาทยอยปิดตัวลงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าเชนสโตร์ขนาดใหญ่ Best Buy ที่ประกาศปิด 50 สาขา ตามด้วยห้างเมซีส์ ห้างเซียร์ เรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของวงการค้าปลีกในอเมริกาเลยทีเดียว โดยห้างที่มีตัวเลขการปิดตัวสูงสุดคือเรดิโอแช็ก (Radio Shack) ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีสาขาทั่วอเมริกา ที่ปิดตัวไปถึง 1,700 สาขา ในแง่ของธุรกิจค้าปลีก สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างที่เด่นชัด

ในอเมริกานั้น ธุรกิจออนไลน์เข้ามามีบทบาทและแย่งชิงตลาดไปมาก ด้วยว่าง่ายกว่า สะดวกกว่า รวมถึงในแง่ความน่าเชื่อถือ ธุรกิจค้าปลีกของอเมริกาจึงแทนที่ด้วยออนไลน์ไปแล้วทั้งหมด

คำถามที่ตามมาคือ อเมริกานำหน้าไทยไปกี่ปี เดิมที่เคยคิดว่าน่าจะนำหน้าไทยสัก 10 ปี แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผมเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า น่าจะห่างจากอเมริกาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ปีที่แล้วถือได้ว่าวงการค้าออนไลน์บ้านเราคึกคักมากที่สุด มีการทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นให้คนมาซื้อสินค้าออนไลน์

ในปีที่แล้ว เฉพาะเม็ดเงินที่ใช้ในสื่อโฆษณาของยักษ์ใหญ่ อย่างต่ำน่าจะถึง 4,000-5,000 ล้านบาท

จีนมาแล้ว

อีกหนึ่งปัจจัยที่มาเร็วกว่าคาด คือ การเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนรูปแบบที่หนึ่งคือ คนไทยซื้อสินค้าจากจีนโดยตรง เช่น ซื้อผ่าน AliExpress, wish.com ฯลฯ ซึ่งหลายเว็บไซต์ของจีนเริ่มขายของในระดับ global scale ราคาถูกมาก และสินค้าส่วนใหญ่จัดส่งฟรี

รูปแบบที่สองคือ สินค้าจีนบุกเข้ามาโดยใช้ช่องทาง social media ซึ่งเริ่มมีมากขึ้นแล้วเมื่อปลายปี ใช้สื่อ เช่น facebook หรือเว็บไซต์ เข้ามาทำโฆษณาที่เป็น retargeting คือเลือกกลุ่มเป้าหมายแล้วค่อยลงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทย เป็นลักษณะของธุรกิจรายย่อยจากจีนที่เข้ามา

และรูปแบบที่สามก็คือ สินค้าจีนเข้ามาขายใน marketplace Lazada ที่เริ่มเปิดตัว Taobao Collection ซึ่งเติบโตอย่างชัดเจน มีการเหมา charter flight นำสินค้าจากจีนเข้าไทยและอินโดนีเซีย

นี่คือสิ่งยืนยันว่าจีนมาแรงมาก ค้าปลีกกำลังโดนโจมตีจากจีนอีกขนาบหนึ่ง ธุรกิจนำเข้าเริ่มเปลี่ยนไป

หากคุณเป็นตัวกลางหรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าต้องรีบปรับตัวเร่งด่วนที่สุด เพราะโรงงานจากจีนได้เข้ามาลงทุนมากขึ้นแล้ว เช่น หากคุณนำเข้าสินค้าจากจีน คุณตั้งราคาเพิ่มขึ้น 100-200% มี operation ในการทำงาน คุณขายและทำแบรนดิ้งอย่างดี ปรากฏว่ามีคนไปเจอ sourcing สินค้าเดียวกัน ซึ่งเขาไม่ต้องทำแบรนดิ้งเลยสักนิด เพราะคุณทำไปแล้วและขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าคุณ

ดังนั้น การที่เป็นคนนำเข้าหรือเป็นเทรดดิ้งในวันนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทุกคนก็สามารถจะเข้าถึงสินค้าในแหล่งเดียวกันกับคุณได้ไม่ยาก

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ผลิตโรงงานอย่างจีนเองก็กำลังเข้ามาเปิดโรงงานและทำการตลาดโดยตรงทั้งในไทยและทั่วโลก โรงงานโลกอยู่แค่ปลายนิ้วจริง ๆ กดเพียงไม่กี่ทีก็สามารถนำสินค้าเข้ามาขายได้ไม่ยาก แชตคุยกับบรรดาโรงงานได้แล้วบนเว็บไซต์ จบทุกอย่างได้ไม่ถึง 5 นาที


แต่เกมนี้ต้องเข้าเร็วออกเร็ว หากอยากอยู่นาน ๆ ต้องมี dynamic ไปเรื่อย ๆ ต้องเปลี่ยนสินค้าหรือหาอะไรใหม่ ๆ เข้ามาขาย เพราะเมื่อใดที่หยุดก็จะมีสินค้าเหมือนกับเราเข้ามาขายในตลาดทันที ซึ่งราคาอาจถูกกว่าเพราะเขาก็ sourcing ได้แหล่งเดียวกับคุณ นอกเสียจากว่าคุณเป็นคนผลิตเอง มีอินโนเวชั่นเอง ผลิตในสิ่งที่จีนผลิตไม่ได้ คนอื่นผลิตไม่ได้ ถึงจะไปได้ เห็นได้ชัดว่าอินเทอร์เน็ตหรืออีคอมเมิร์ซย่นระยะ และทำให้ผู้ผลิตกลายเป็นผู้ค้าโดยตรงกับลูกค้าได้ทันที ซึ่งเทรนด์นี้กำลังมาแรง และเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยจริง ๆ