KBTG ผนึกสถานศึกษาเร่งเวลาสู่การทำงาน ปั๊มแรงงานดิจิทัลแสนรายสู่ตลาด

KBTG ผนึก สจล. นำร่องเปิดตัว KBTG Kampus มุ่งรีสกิล อัพสกิล และผลิตใหม่แรงงานดิจิทัล 1แสนรายในปี 2573 หวังเสริมอีโคซิสเต็ม ศก.ดิจิทัลไทย

วันที่ 19 ตุลาคม 2565 นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า การเปิดตัว KBTG Kampus มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาทางการศึกษาด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย

รวมทั้งเสริมสร้าง Ecosystem ของการเรียนทางด้านเทคโนโลยี (Tech Education) ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น KBTG จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ แพลตฟอร์ม EdTech และ Tech Community ต่างๆ ในการจัดทำโปรแกรมพัฒนาทักษะและทำวิจัย นำร่องเจ้าแรกร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.-KMITL)

“ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อย่างไรก็ตามการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไทยแม้ไทยจะเติบโตเร็ว แต่การผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยียังอยู่ลำดับที่ 7 ในเอเชีย และอันดับ 4 ในอาเซียน จึงเป็นโอกาสที่เราจะต้องสร้างอีโคซิสเต็มด้านการศึกษาให้เกิดบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล”

นายเรืองโรจน์ กล่าวอีกด้วยว่า อีโคซิสเต็มของเทคโนโลยีนั้นประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ 1.Company ที่แข็งแกร่งพร้อมแข่งขัน 2. Startup ที่มีผลต่อการเร่งสร้างนวัตกรรม 3. Research คือ “กระดูกสันหลัง” ที่สำคัญที่สุดของเทคโนโลยี ซึ่งจะขาดส่วนสุดท้ายไม่ได้คือ 4. Education โดย KBTG ได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนไทยอย่างกว้างขวาง ในทุกช่องทางกว่า 1.7หมื่นคอร์สเรียน ซึ่งสามารถ Reskill แรงงานได้ราว 1,000 กำลังแรงงาน (Man-day) ต่อปี

“การพัฒนากำลังคนไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะหากเรามีแค่ KBTG เราทำได้ปีละ 1,000 คน แต่ถ้าเรามีพาร์ตเนอร์ ร่วมกันออกแบบทางการศึกษาและพัฒนางานวิจัย เราจะสามารถรีสกิลอัพสกิลคนได้ถึง 100,000 คนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี ภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งจะสร้างประโยชน์มหาศาลต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย”

ดังนั้น KBTG จึงได้ร่วมพัฒนา KBTG Kampus โดยนำร่องกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจะขยายความร่วมมือไปยังสถาบันอื่นๆ เพื่อมุ่งเป้าพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ทุกแขนง พร้อมกับประสบการณ์ในการทำงานในบริษัทจริงๆ ได้เงินเดือนจริง เพื่อนำไปขอเป็นเครดิตสำหรับการสำเร็จการศึกษาและสามารถร่วมงานกับบริษัทต่อไปได้

“การที่นักศึกษาปีที่ 3 สามารถเริ่มทำงานได้เลย จะช่วยลดเวลาในชีวิต ลดเวลาในการหาทางที่ใช่และพัฒนาทักษะที่ขาดได้ นอกจากจะทำให้พวกเขาก้าวหน้าได้เร็วกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน จะทำให้มีกำลังคนในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ แรงงานด้านดิจิทัลที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียนก็ยังสามารถเข้าร่วมแคมปัสเพื่อ รีสกิล-อัพสกิล ด้านเทคโนโลยีได้เช่นกัน

โดย KBTG Kampus จะเร่งกระบวนการเรียนรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีเชิงลึก แลพประสบการณ์ทำงานเป็น 3 ด้านดังนี้

1. KBTG Kampus ClassNest ออกแบบพัฒนาหลักสูตร Bootcamp เพื่อปั้นบุคลากรเทคฯ รุ่นใหม่ สืบเนื่องปีที่ผ่านมา KBTG Kampus ClassNest ได้จัด Bootcamp มาแล้ว 2 หลักสูตรด้วยกัน คือ Java Software Engineering ที่ทำร่วมกับ Skooldio และ Cyber Security ที่ทำร่วมกับ Thrive Venture Builder

ซึ่งมีผู้สมัครรวมแล้วกว่า 1,000 คน และในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ KBTG กำลังจะเปิดตัว Bootcamp ให้แก่ Developer มือใหม่ที่อยากจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษา Go กับ Go Software Engineering Bootcamp หลักสูตร 2 เดือนเต็ม โดยร่วมกับ KMITL และ Thrive Venture Builder สำหรับผู้ที่เรียนจบ Bootcamp นี้ สามารถเก็บ Nano Credit สมัครเรียนปริญญาโท หรือผู้ที่กำลังเรียนปริญญาตรีอยู่กับ KMITL ก็สามารถนำหน่วยกิตจาก Bootcamp ไปนับเป็นหน่วยกิตรวมได้เช่นกัน โดย KBTG จะสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ทั้งยังสามารถยื่นคะแนน Post-Test ตรงเข้าสัมภาษณ์รอบสุดท้ายกับ KBTG ได้เลย หากได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานและผ่านการทดลองงานก็จะได้รับเงินค่าเล่าเรียนคืนเต็มจำนวน

2. KBTG Kampus Apprentice เปิดให้นิสิตนักศึกษาระดับชั้นปีที่ 3-4 ได้เข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานและพัฒนาทักษะผ่านการปฏิบัติงานจริงที่ KBTG โดยสามารถเก็บหน่วยกิตการศึกษาจากการทำงาน และนำผลงานไปใช้เป็นโปรเจคจบ และเข้าทำงานกับ KBTG ได้ทันทีหลังจบการศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทดลองงานอีก
ปัจจุบัน KBTG ร่วมมือกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำร่องโปรแกรม Apprentice กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ใน 2 สาขา ได้แก่ Data Science และ Software Engineering และจะขยายผลไปยังคณะและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคต ทดแทนการเรียนในห้องเรียนด้วยการสัมผัสโลกทำงานจริงเป็นเวลารวม 2,000 ชั่วโมง

3. KBTG Kampus Co-Research ต่อยอดความร่วมมือจากโครงการ Tech Kampus สู่การทำงานวิจัยร่วมกัน ระหว่าง KBTG พันธมิตร และมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยี เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจ S-Curve ใหม่ๆ พร้อมยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อนการทำวิจัยทางด้าน Deep Tech จากรั้วมหาวิทยาลัยออกมาสู่โลกภายนอก ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้งานจริงในระดับภูมิภาค

“การพัฒนากำลังคนมีความจำเป็นกับอุตสาหกรรมดิจิทัลมาก โดยเฉพาะในไทย มันมีเหตุผลที่ผมต้องเปิดบริษัทที่เวียดนาม หรือเปิดแล็ปด้านบล็อกเชนที่เมืองจีน นั่นเป็นเพราะบ้านเราไม่มีคนที่มีทักษะ Deep tech เหลือเลย ผมมีเรซูเม่จากทั่วประเทศที่หาคนทำงานจนวนกลับที่เรซูเม่เดิมก็หาคนไม่ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่เราต้องช่วยกันสร้างอีโคซิสเต็มคนทำงานด้าน Deep Tech วางเรื่องการแข่งขันลงไปก่อน แล้วภาคเอกชนและสถานศึกษาหันมาเป็นพาร์ตเนอร์กัน”

นายเรืองโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า KBTG มีความตั้งใจที่จะต่อยอดโครงการนี้ไปสู่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้เรียนในวงกว้าง มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง รวมถึงแพลตฟอร์ม EdTech และกลุ่มคนที่มีความต้องการแรงกล้าในการยกระดับวงการเทคไทยหรือร่วมพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม เพื่อยกระดับ Tech Education Ecosystem ไปด้วยกัน