เทเลนอร์ เอเชีย ปักธงสิงคโปร์ รุกตลาดกลุ่มประเทศในภูมิภาค

telenor asia

กลุ่มเทเลนอร์ ปักธงสำนักงานเอเชียที่ “สิงคโปร์” มีอิสระในการบริหารงานในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น พร้อมรุกตลาดกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 กลุ่มเทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการลูกค้า 175 ล้านรายในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและภูมิภาคเอเชีย ประกาศจัดตั้ง “เทเลนอร์เอเชีย” ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่มีอิสระในการบริหารงานในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น และมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ โดยเทเลนอร์เอเชียจะมีอำนาจเต็มในการดูแลและรับผิดชอบการดำเนินงานของธุรกิจในประเทศไทย บังกลาเทศ มาเลเซีย และปากีสถาน

นายเยอเก้น โรสทริป (Jørgen Rostrup) EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า “ทีมที่แข็งแกร่งของเราที่สำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์พร้อมจะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจที่เราเข้าไปดำเนินงานและแสวงหาโอกาสในการสร้างพันธมิตรในระดับโครงสร้างใหม่ ๆ

รวมถึงการทำ IPO ที่มีศักยภาพในอนาคต รากฐานของการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มเทเลนอร์ในเอเชียคือการที่บริการของเราช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนและส่งเสริมสังคมตลอดมา ทั้งนี้ จากผลการสำรวจที่จัดทำโดยกลุ่มเทเลนอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ใช้งาน 8,000 คนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 93% กล่าวว่า การเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตบนมือถือช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของพวกเขา”

ทั้งนี้ ตลาดในแต่ละประเทศจะมีทีมงานบริหารการลงทุน (Investment Management Teams) เข้าไปดูแล ทีมเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ และเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของเทเลนอร์ในฐานะกรรมการของแต่ละประเทศ โดยทีมงานในสิงคโปร์จะเสริมความแข็งแกร่งด้วยความเชี่ยวชาญในด้านการเงิน การปฏิบัติการ การบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลกิจการ การบริหารงานบุคคล และการดำเนินงานที่ยึดมั่นหลักการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ

นายเยอเก้น โรสทริป (Jørgen Rostrup) EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป

ในปี พ.ศ. 2564 เทเลนอร์ เอเชีย ได้ลงนามในข้อตกลงควบรวมกิจการในประเทศมาเลเซียและไทย การควบรวมกิจการนี้ใหญ่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อการควบรวมกิจการของทั้งสองแห่งเสร็จสิ้น การดำเนินธุรกิจของเทเลนอร์เอเชียจะประกอบด้วยบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำที่มีขนาดใหญ่ในตลาดเอเชียถึงสามแห่ง

Advertisment

เพื่อการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายกระแสเงินสด (Cash Flow) 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2568 เทเลนอร์เอเชียจะให้ความสำคัญต่อการทำงานผนึกกำลังจากการควบรวมกิจการทั้งสองแห่งนี้ และสร้างโอกาสสูงสุดใน 3 ปัจจัยหลัก คือ

  1. เพิ่มการใช้งานมือถือและการใช้ดาต้าในบังกลาเทศและปากีสถาน โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 150 ล้านรายในสองประเทศนี้ที่ยังไม่มีอุปกรณ์มือถือ และ 50% ของฐานลูกค้าปัจจุบันสมัครใช้บริการเสียงเท่านั้น
  2. ขยายตลาดกลุ่มผู้ประกอบการ B2B (Business to Business) ส่วนแบ่งรายได้ในปัจจุบันของเทเลนอร์เอเชียจากส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 5% โดยมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยในช่วงเกิดโรคระบาดที่ผ่านมาภาพรวมของตลาดโทรคมนาคมในส่วนนี้ลดลง แต่รายได้ B2B ของเทเลนอร์เอเชียเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
  3. มุ่งสู่การเป็นมากกว่าเป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อมือถือ โดยจะเพิ่มบริการสำหรับลูกค้าในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ประกันภัย ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และบริการเกมต่าง ๆ