“ทีโอที” ปรับทัพธุรกิจมือถือ ผนึก DTAC-AIS ฟื้น MVNO

ประกาศผลเรียบร้อยกับการเลือกพันธมิตรคลื่น 2300 MHz ของ บมจ.ทีโอที ซึ่งชัยชนะเป็นของ “ดีแทค” ตามมติบอร์ด 23 พ.ค. 2560

โดย “มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า ข้อเสนอดีแทคทั้งด้านเทคนิคและผลตอบแทน บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด และบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอร์รี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้คะแนนสูงสุดจากข้อเสนอ 6 บริษัท โดยทิ้งห่างจากอันดับ 2 ถึง 30%

“แค่เฉพาะสถานีฐานที่เสนอมากว่า 20,000 แห่ง ก็เยอะกว่าที่เราวางแผนจะมีแค่ราว 8,000 แห่ง ทั้งยังจะติดตั้งให้เสร็จภายใน 2- 3 ปี จากที่เราวางไว้ 5 ปี ผลตอบแทนที่ให้ต้องถือว่าทุ่มมาก ทิ้งห่างคู่แข่งมาก”

มั่นใจไม่ขัด กม.

สำหรับโมเดลธุรกิจที่ใช้จะเป็นเหมือนโมเดล “BFKT” ที่กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ทำสัญญากับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่ง กสทช.เคยพิจารณาแล้วว่า ดำเนินการได้ตามกฎหมาย จึงไม่กังวลว่าจะมีปัญหาในแง่กฎหมาย

โดยกลุ่มดีแทคจะลงทุนสถานีฐานราว 20,000 แห่ง ในนามของ “บริษัท เทเลแอสเสท จำกัด” ซึ่งจะให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมและรับจ้างบำรุงรักษาโครงข่ายให้กับทีโอที ซึ่งเป็นผู้บริหารคลื่น 2300 MHz ทั้ง 60 MHz เอง ส่วน “บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด” จะรับซื้อความจุโครงข่าย 60% แลกกับการจ่ายผลตอบแทนคงที่ให้ทีโอที ปีละ 4,510 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่ทีโอทีได้สิทธิ์ใช้คลื่นถึงปี 2568

Advertisment

“ข้อกังวลว่าคลื่นย่านนี้จะถูก กสทช.เรียกคืน ต้องบอกว่า กสทช. มีอำนาจในการเรียกคืนได้ แต่ทีโอทีใช้คลื่นย่านนี้มานานแล้วสำหรับการให้บริการทางไกลชนบท และได้มีการขออนุญาตปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อให้ใช้คลื่นมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่ง กสทช. ก็ได้อนุมัติเมื่อ 29 ต.ค.2558 ขณะที่การตกลงเป็นพันธมิตรกับดีแทค เป็นการนำไปใช้ประโยชน์กับประชาชนและเป็นการใช้คลื่นให้เต็มประสิทธิภาพอย่างชัดเจนทั้งในแง่รายได้ที่ทีโอทีจะได้รับและความจุคลื่น 60% ที่ดีแทคจะนำไปให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีใหม่ให้ผู้ใช้บริการได้ใช้บรอดแบนด์คุณภาพสูง กับอีก 20% ที่ทีโอทีจะนำไปใช้ให้บริการฟิกซ์บรอดแบนด์ในพื้นที่ชายขอบที่ยากแก่การลากสายให้ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้นในแง่ของอุตสาหกรรม ประชาชน การซัพพอร์ตนโยบายรัฐ จึงไม่เห็นประเด็นที่ควรจะเรียกคืนคลื่นนี้”

 

Advertisment

“เอไอเอส” ยังร้องเพลงรอ

การจับคู่พาร์ตเนอร์ธุรกิจโมบายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เคสแรกของทีโอที แต่ปลายปี 2558 บอร์ดทีโอทีได้เห็นชอบในการเลือก “AIS” เป็นพาร์ตเนอร์มาแล้วเช่นกัน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาระยะยาวอย่างเป็นทางการได้

โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างสัญญากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งบอร์ดล่าสุด (23 พ.ค. 2560) เพิ่งเห็นชอบการเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาเช่าเสาและอุปกรณ์จากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด (AWN) เป็นบริษัท ซุปเบอร์บรอดแบนด์ เน็ตเวอร์ค จำกัด ในเครือ AIS เช่นกัน ซึ่งหากไม่มีปัญหาใดอีกก็น่าจะลงนามในสัญญาระยะยาวได้ภายใน มิ.ย.- ก.ค. นี้

ขณะเดียวกันด้วยประสบการณ์จากการทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับ AIS จะทำให้ทีโอทีสามารถประสานกับทั้ง กสทช. คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และอัยการสูงสุด เพื่อให้ลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับดีแทคได้ทันไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะยิ่งช้า ยิ่งทำให้ทีโอทีสูญเสียรายได้

“เมื่อรวมรายได้จากดีลดีแทคและ AIS จะทำให้ทีโอทีมีรายได้จากธุรกิจโมบายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 15,000 ล้านบาท จึงคาดการณ์ว่าในปี 2562 ทีโอทีจะกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง หลังจากเริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2559”

ปั๊มรายได้เพิ่มจาก 300 ล้าน/ปี

นอกจากจะพึ่งพารายได้จากข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับเอกชนแล้ว “มนต์ชัย” ย้ำว่า ในส่วนของทีโอทีได้เร่งวางแผนการใช้คลื่นให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย โดยคลื่น 2300 MHz จะมีความจุ 40% ทีโอทีจะดำเนินงานเอง แบ่งเป็น 20% สำหรับการใช้งานฟิกซ์บรอดแบนด์ในพื้นที่ที่ลากสายได้ยากหรือมีจำนวนลูกค้าเบาบางจนการลากสายจะไม่คุ้มกับการลงทุนในแบบเดิม

“เป็นการเสริมธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ให้ทีโอทีเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้นถือเป็นอาวุธในตลาดนี้ ส่วนอีก 20% ทีโอทีจะเปิดรับ MVNO (ผู้เช่าใช้โครงข่าย) ให้มาช่วยทำตลาด”

และล่าสุดบอร์ดเพิ่งอนุมัติงบประมาณอีก 25 ล้านบาทสำหรับการปรับแบรนด์ TOT 3G รับกับการแข่งขันในตลาดโมบาย “รังสรรค์ จันทร์นฤกุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บมจ. ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดิมธุรกิจโมบายของทีโอทีบนคลื่น 2100 MHz ภายใต้การทำตลาดของทีโอทีเองและ MVNO มีรายได้ราว 300 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของ 3 ค่ายมือถือรายใหญ่

เดิม MVNO ของทีโอที มีอยู่ 5 ราย ได้แก่ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย ภายใต้แบรนด์ i-mobile3GX บริษัท เอ็มคอมซัลท์ เอเชีย จำกัด ภายใต้แบรนด์ MOJO3G บริษัท ล็อกซเล่ย์ โมบาย จำกัด ในเครือ บมจ. ล็อกซเล่ย์ ภายใต้แบรนด์ TuneTalk บริษัท ไออีซี เทคโนโลยี จำกัด ในเครือ บมจ. อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (ไออีซี) ภายใต้แบรนด์ IEC 3G และบริษัท 365คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ปัจจุบันคือบริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น) ภายใต้แบรนด์ 365

“ปัจจุบันเหลือทำตลาดอยู่เพียง 2 ราย ได้แก่ บริษัท โมบาย เอท เทลโค(ไทยแลนด์) จำกัด ภายใต้แบรนด์ Buzzme ที่เป็นคู่ค้าเข้ามาทำตลาดแทน IEC3G กับบริษัท ล็อกซเล่ย์ โมบาย มีลูกค้ารวมกันราว ๆ หมื่นกว่าราย ส่วน MVNO รายอื่น ๆ สำหรับอยู่ระหว่างการเจรจาเคลียร์หนี้กันอยู่”

ขณะที่ TOT3G มีลูกค้าราว 1.2 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานและลูกค้าของทีโอทีที่บริษัทได้นำเสนอแพ็กเกจคอนเวอร์เจนซ์ให้

AIS ไม่หวั่นดีเลย์ลงนาม

ด้าน “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(AIS) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อตกลงพาร์ตเนอร์กับทีโอที มีในส่วนของทรัพย์สินสัมปทานที่ยังพิพาทกันอยู่ แต่ AIS ยกให้ทีโอทีไปใช้ก่อน ซึ่งมี 2 ส่วนได้แก่ เสาส่งสัญญาณ ทีโอทีได้ค่าเช่าปีละ 3,600 ล้านบาทกับ อุปกรณ์ 2G จ่ายค่าเช่าอีกปีละ 2,000 ล้านบาท ดังนั้นทีโอทีจะมีรายได้จากทรัพย์สินสัมปทานที่ AIS ส่งคืนทั้งหมดปีละ 5,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสัญญาโรมมิ่งบนคลื่น 2100 MHz อีกปีละ 3,900 บาทด้วย รวมมีรายได้จาก AIS ปีละ 9,500 ล้านบาท

“ตัวเสาอย่างไร AIS ก็เช่ายาวอยู่แล้ว แต่อุปกรณ์ 2G อาจจะเช่าไม่ตลอด ส่วนการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาระยะยาวไม่ได้มีผลกระทบกับ AIS”

เปิดรับ MVNO เพิ่ม

รังสรรค์ ย้ำว่า MVNO ปัจจุบันใช้คลื่น 2100 MHz หากทีโอทีสามารถทำสัญญาพันธมิตรระยะยาวกับ AIS ได้เสร็จภายในกลางปีนี้ ก็จะเรียก MVNO ที่เหลือมาทำสัญญาใหม่ และคาดว่าในปีนี้น่าจะมีรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 1,000 ล้านบาท”

ส่วน MVNO บนคลื่น 2300 MHz น่าจะเปิดรับข้อเสนอได้ราวปีหน้า เนื่องจากต้องรอการเปิดใช้โครงข่ายก่อน และด้วยข้อเสนอโครงข่ายของดีแทคที่มีสถานีฐานเยอะมากทำให้ทีโอทีต้องปรับแผนการใช้ความจุในส่วน 40% ที่ดำเนินการเอง จากเดิมที่วางแผนไว้ว่า ที่คาดว่าจะรองรับลูกค้าฟิกซ์บรอดแบนด์ได้ราว 3 แสนรายและลูกค้าโมบายได้ราว 1.2 ล้านเลขหมาย น่าจะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก โดยเฉพาะส่วนของโมบาย อาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 5 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าอีก 1- 2 เดือนจะสามารถสรุปตัวเลขขีดความสามารถของโครงข่ายและเป้าหมายลูกค้าในแต่ละส่วนได้