ธุรกิจพันธุ์ใหม่กลับหัวตีลังกา “ดีแทค” ปรับ-ลด-ปลด-เปลี่ยน

หลังจากประกาศจุดยืนชัดเจนมาปีกว่า ว่ากับเป้าหมายต้องการเป็นแบรนด์ “ดิจิทัล” อันดับหนึ่งของไทย ภายในปี 2563 “ดีแทค” ได้ปรับเปลี่ยนหลายสิ่ง ตั้งแต่แนวทางการทำการตลาดที่หันมาเน้นช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ล่าสุดหลังเปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2560 “ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ซีอีโอ “ดีแทค” ย้ำอีกครั้งว่า จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเข้าสู่รูปแบบ “ดิจิทัล” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาบริการให้ตรงความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการให้บริการผ่านหน้าร้านแบบเดิม

โดยระบุด้วยว่า จากแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น และดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของไทยทำให้บริษัทตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้จากช่องทางดิจิทัลถึง 35% จากปัจจุบันมีสัดส่วนเลขหลักเดียว เช่นเดียวกับงานบริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลถึง 95% เพิ่มจากปัจจุบันเท่าตัว รวมไปถึงการโยกงบประมาณด้านการตลาดไปยังช่องทางดิจิทัล 65% หรือมากกว่าปัจจุบันกว่า 3 เท่า

เรียกว่า “โกดิจิทัล” อย่างเต็มตัวและเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางที่องค์กรต้องการจะไป และเป็น รวมถึงแนวโน้มการใช้งานของลูกค้าในอนาคต “ดีแทค” จึงประกาศเพิ่มตำแหน่งงานด้านดิจิทัลอีกกว่า 200 ตำแหน่ง ภายในปี 2563 ด้วย และว่าเตรียมปรับเพิ่มและลดการลงทุนในหลายด้าน รวมถึงปรับรูปแบบการจัดการในองค์กรเพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการการทำงาน และทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้คล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ประกาศว่าจะเพิ่มทีมด้าน “ดิจิทัล” อีกกว่า 200 ตำแหน่ง แต่ซีอีโอ “ดีแทค” ทิ้งท้ายว่า ขนาดองค์กรภายใน 2 ปีข้างหน้าจะต้องมีตำแหน่งงานประจำจำกัดจำนวนไว้ที่ไม่เกิน 4,000 คนอีกด้วย

ในขณะที่จำนวนพนักงานของ “ดีแทค”ในปัจจุบันมีอยู่ที่ 4,300 คน มากกว่าจำนวนที่ต้องการให้เป็นใน 3 ปีข้างหน้า 300 ตำแหน่ง ไม่รวมที่ต้องการรับคนด้านดิจิทัลเพิ่มอีกมากกว่า 200 ตำแหน่ง ไม่เพียงเท่านั้น “ดีแทค” ยังปรับโครงสร้างองค์กร โดยรวมกลุ่มงาน “ดิจิทัล” เข้ากับ “กลุ่มการตลาด”

โดยซีอีโอ “ดีแทค” ระบุว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านดิจิทัลแก่ลูกค้าได้ดีขึ้น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่ตอบสนองลูกค้าได้ตรงกับความต้องการในรายบุคคล และในช่วงเวลาที่ต้องการได้ทันที

เทียบกับคู่แข่ง จำนวนพนักงานประจำของ “ดีแทค” กับ “เอไอเอส และกลุ่มทรู” แตกต่างกันมาก เพราะ “เอไอเอส” มี 1.2 หมื่นคน แบ่งเป็นพนักงานประจำ 8,000 คน และเอาต์ซอร์ซ 4,000 คน ส่วน”กลุ่มทรู” มีมากถึง 2.5 หมื่นคน ซึ่งจะว่าไป คงนำมาเทียบกันไม่ได้ ด้วยว่า “ดีแทค” โฟกัสเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แต่ “เอไอเอส” และ “กลุ่มทรู” มีธุรกิจหลากหลายกว่ามาก

ดังนั้นคงยากที่ตอบได้ว่า ขนาดองค์กรที่เหมาะสมในแต่ละบริษัทควรมีจำนวนเท่าใด แต่สิ่งที่องค์กรยุคใหม่ต้องเป็นท่ามกลางเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” คือต้องมีความคล่องตัว และพร้อมเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องเผชิญหน้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและคู่แข่งหน้าใหม่ที่เข้ามาได้ง่ายขึ้น

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ “เอไอเอส” กล่าวว่า จำนวนพนักงานที่ 1.2 หมื่นคน ทั้งพนักงานประจำและเอาต์ซอร์ซที่มีเหมาะสมแล้ว และไม่มีนโยบายลดขนาดองค์กรแต่อย่างใด เพราะที่ “เอไอเอส”เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะ”คน” ในองค์กร ดังนั้นสิ่งที่ “เอไอเอส” ให้ความสำคัญคือการมุ่งพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและปรับปรุงกระบวนการทำงาน,โครงสร้าง และวัฒนธรรมองค์กรให้มีความคล่องตัว ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และเอื้อต่อการพัฒนาไปสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรม” ที่เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่

ซึ่งคำว่า “คนรุ่นใหม่” ไม่ได้จำกัดที่ “อายุ”แต่หมายถึง “คนที่มีความคิดที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ”

“เราไม่มีนโยบายลดคน แต่คนที่มีอยู่ต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้ได้ ปกติเมื่อมีพนักงานลาออก เราก็ต้องหาคนมาเสริม เพราะธุรกิจยังมีการเติบโต ทั้งเรายังมีธุรกิจที่หลากหลายขึ้น เช่น มีฟิกซ์บรอดแบนด์และการรุกตลาดองค์กรมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มธุรกิจคอนเทนต์ใหม่ ๆ จึงต้องเพิ่มทีมที่มีความสามารถใหม่ ๆ ซึ่งมีทั้งที่พัฒนาคนที่มีอยู่เดิม และรับคนพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม โดยจะต้องทำองค์กรให้ lean”


ต้องยอมรับว่า จากกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ในหลายธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเข้ามาของคู่แข่งที่ง่ายขึ้น เช่น กรณีแบงก์ไทยพาณิชย์กับการประกาศวิสัยทัศน์ 2020 ที่ปรับองค์กรมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปีนี้ประกาศใช้กลยุทธ์ “กลับหัวตีลังกา”ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งสำคัญ เพื่อผลักดันองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น