กทปส.โชว์เคส 17 โครงการนวัตกรรม 

ประธาน กสทช. เผย อยากให้คนรู้จักงานของ กทปส. มากกว่าการหนุนฟุตบอลโลก ชี้ อยากเห็นโครงการด้านสภาพแวดล้อมตามแนวทางรัฐบาล 

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า

การแสดงผลงานดังกล่าวเป็นการนำเสนอบางส่วนของกองทุน หรือเป็น Show Case โครงการที่น่าสนใจและเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งกองทุน กทปส. ได้สนับสนุนโครงการต่างๆ ที่สร้างประโยชน์สาธารณะอย่างกว้างขวาง 

“ก็อยากให้ประชาชนได้เห็นว่า กองทุนนี้มีภารกิจต่างๆ มากมาย ไม่ได้มีแค่การสนับสนุนฟุตบอลโลก” ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สรณ กล่าว

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สรณ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลและประเทศได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นขับเคลื่อนที่อยากเห็นในโครงการที่จะเสนอมาให้กองทุนพิจารณาสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ก็มีบ้างแล้ว 

อย่างไรก็ตาม กองทุนจะยังคงโฟกัสโครงการต่างๆ ทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมในประเด็นอื่นๆ เช่นเดิม ไม่อยากจะโฟกัสจุดใดจุดหนึ่งมาห เพราะจะเป็นการจำกัดตัวเอง 

ด้านนางสาว ชนัณภัสร์ วานิกานุกูล ผู้อำนวยการส่วน รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานและสนับสนุนการพัฒนาวิจัยของ กทปส. ในปีนี้ยังคงเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการกองทุนระยะ ๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๖) มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงครอบคลุม มุ่งส่งเสริม ผลงาน “นวัตกรรม/งานวิจัย” การพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภค และมุ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไกการจัดสรรเงินกองทุน

“กทปส. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ของประเทศ ผ่านเงินกองทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะ ดังเจตนารมณ์ตามชื่อกองทุนเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป” นางสาว ชนัณภัสร์ กล่าว

โดย โครงการต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงในงาน BTFP SHOWCASE BY NBTC ที่จัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 17 โครงการ ได้แก่ 

 ผลงานตัวอย่างโครงการที่พร้อมต่อยอดโครงการเพื่อขยายผลโครงการ ทั้งเชิงพาณิชย์ และเชิงประโยชน์สาธารณะ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่

1. โครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) หน่วยงาน : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

2. โครงการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยภาพทางรังสี  หน่วยงาน : ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

3. โครงการพัฒนาและขยายผลระบบรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

4. โครงการโปรแกรมประยุกต์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและค้นหาตำแหน่งของวัตถุในอวกาศ หน่วยงาน : ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ กองทัพอากาศ 

5. โครงการระบบสอดส่องคุณภาพพื้นผิวจราจรโดย Machine Learning ด้วยข้อมูลจาก Sensor ในยานพาหนะผ่านโครงข่าย IoT หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

6. โครงการศึกษาแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบสื่อสารรวมทั้งการสร้างแบบจำลองและระบุตำแหน่งในถ้ำ หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

7. โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หน่วยงาน : มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

ผลงาน 10 โครงการคัดสรร จาก กทปส. สร้างผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในวงกว้าง ได้แก่ 

1. โครงการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตน หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

2. โครงการแอปพลิเคชันเพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่บริหารจัดการข้อมูลผลิตผลและการตลาดสำหรับเครือข่ายเกษตรกรหน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

3. โครงการ Stop Fake, Spread Facts หน่วยงาน : สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

4. โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หน่วยงาน :สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารสาสตร์ (NIDA)

5. โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการตรวจจับโดรนเพื่อป้องกันการบินโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

6. โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนการเลี้ยงดู เด็กเชิงบวกออนไลน์สำหรับผู้ปกครองเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้ต็มศักยภาพและป้องกันผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น หน่วยงาน : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

7. โครงการเปาเปาผจญภัยในโลกนิทาน หน่วยงาน : บริษัท เอลิควอร์ กรุ๊ป จำกัด

8. โครงการพัฒนาองค์ความรู้เสริมสร้างทักษะการเล่าเรื่อง และกลยุทธ์เนื้อหาข้ามสื่อ (Transmedia Storytelling and Content Strategy Workshop and Knowledge Lab) หน่วยงาน : สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์

9. โครงการบริการการแพทย์โดยใช้ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเทคโนโลยี Blockchain ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการทำงาน และเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยนเรศวร

10. โครงการพัฒนาศักยภาพทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ผ่านเครือข่ายสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมไทย หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่ผ่านมา กทปส. มีผู้ขอรับทุนสนับสนุนเป็นสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นผู้ขอรับทุนสนับสนุนที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสมาคม มูลนิธิ โดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ในแผนดำเนินงานในปี 2566 กทปส. จะทำการปรับปรุงประกาศและหลักเกณฑ์การให้ทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถการยื่นขอรับทุนให้กว้างมากขึ้น