ปรากฏการณ์ “ผ่านยกแผง” 86 ผู้สมัคร ฉลุยชิง “กสทช.”

ลุ้นระทึกชอตแรก 5 ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อคณะกรรมการสรรหา กสทช. นัดประชุมพิจารณาการประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติรอบแรก จากผู้สมัคร 86 คน ว่าใครจะผ่านเข้าสู่รอบแสดงวิสัยทัศน์บ้าง ปรากฏมติที่ประชุมให้ผ่านแบบยกแผงทั้งหมด

แม้ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับล่าสุด มาตรา 15 วรรค 2 และ 3 จะกำหนดแค่ว่า ให้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด แต่ตามระเบียบคณะกรรมการสรรหา กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. พ.ศ. 2560 ข้อ 5 ระบุว่าผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 6, 7 และ 14/2 แต่ปรากฏว่ามีผู้สมัครหลายคนที่คณะกรรมการสรรหาประกาศให้ผ่านเข้าแสดงวิสัยทัศน์ มีคุณสมบัติต้องห้ามชัดเจน

โดยเฉพาะ “ลักษณะต้องห้าม” ของกรรมการ ตามมาตรา 7 (12) พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน ที่ระบุว่าเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใด บรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือโทรคมนาคม ใน 1 ปีก่อนได้รับเลือก เพราะเมื่อไล่ดูรายชื่อผู้สมัครแล้วมีไม่น้อยที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารเบอร์ 1 เบอร์ 2 ขององค์กรที่ประกอบกิจการในกำกับ กสทช.หรือได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ กสทช. ไม่รวมถึงบรรดาอดีตบอร์ดและที่ปรึกษาบริษัท

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นการ “play safe” ว่ากระบวนการสรรหาจะเดินหน้าต่อไม่สะดุด เพราะถ้ามีผู้ที่ตกเกณฑ์คุณสมบัติอาจยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แม้ตาม พ.ร.บ.กสทช. มาตรา 15 วรรค 4 จะระบุว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการสรรหากรรมการต่อศาลปกครอง การฟ้องคดีดังกล่าว ไม่เป็นเหตุให้ระงับหรือชะลอการดำเนินการใด ๆ เว้นแต่ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นก็ตาม

“คณะกรรมการสรรหาเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าแสดงวิสัยทัศน์ค่อยคัดออกรอบเดียวไปเลย เมื่อคณะกรรมการสรรหาใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ในการเลือกใครคนใดคนหนึ่งปกติศาลจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้ดุลพินิจ เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายไว้วางใจให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจ เป็นผู้เลือกตัดสินใจ ต่างจากการตัดสินว่าใครผ่านเกณฑ์คุณสมบัติหรือไม่ ผู้ที่ตกเกณฑ์มักฟ้องได้ว่าตนไม่ขาดคุณสมบัติ”

กระบวนการสรรหา กสทช. จึงเดินหน้าต่อไปที่การแสดงวิสัยทัศน์วันที่ 19-21 ก.พ.นี้ จัดลำดับตามเลขที่สมัคร โดยมีเวลาแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้าคณะกรรมการ 5 นาที และให้กรรมการซักถามได้อีก 5-10 นาที ก่อนลงคะแนนเลือกแบบเปิดเผยพร้อมบันทึกเหตุผลที่เลือก โดยแต่ละคนเลือกผู้สมัครได้ไม่เกิน 2 เท่า ของกรรมการแต่ละด้าน จาก 7 ด้าน ได้แก่ ด้านโทรคมนาคม, โทรทัศน์, กระจายเสียง, วิศวกรรม, เศรษฐศาสตร์, กฎหมาย และคุ้มครองผู้บริโภค ขั้นนี้ต้องทำใน 30 วันนับแต่ได้รายชื่อ

ที่ต้องจับตาคือการคัดเลือกกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ที่มีผู้สมัครด้านละ 18 คน แต่กรรมการสรรหาต้องลงคะแนนเลือกให้เหลือแค่ด้านละ 2 คน รองลงไปคือโทรคมนาคมมีผู้สมัคร 12 คน วิศวกรรม 11 คน ส่วนเศรษฐศาสตร์ โทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง มีผู้สมัครด้านละ 9 คน

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต้องมีคะแนนเสียงสูงสุดและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหา

จากนั้นสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะส่งทั้ง 14 รายชื่อ ให้ประธานวุฒิสภาภายใน 30 วัน นับแต่คัดเลือกเสร็จ และที่ประชุมวุฒิสภาจะเลือกให้เหลือกรรมการ กสทช. ด้านละ 1 คน ให้เสร็จใน 30 วันนับแต่ได้บัญชีรายชื่อ

จากนั้นจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีใน 20 วันนับแต่ลงมติ เพื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการ “กสทช.” ทั้ง 7 คนต่อไป และคณะกรรมการสรรหา กสทช. ประกอบด้วย นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกรรมการสรรหา พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นรองประธาน นายสุทธิโชค เทพไตรรัตน์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. นางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด