ถอดรหัส “SHIPPOP” โกยกำไรตั้งแต่ปีแรก

เป็นที่รู้กันว่าจำนวน “สตาร์ตอัพ” ที่ประสบความสำเร็จอยู่รอดได้มีน้อยราย และกว่าจะเริ่มมีกำไรในธุรกิจยิ่งต้องใช้เวลาเพื่อขยายให้โตเพียงพอเสียก่อน แต่ “SHIPPOP” ชิปป๊อป บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ครบวงจรที่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้น เม.ย. 2559 และกล้าประกาศว่า “มีกำไร” ตั้งแต่ปีแรก และยังมีกำไรต่อเนื่อง

โดย “สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2560 มีรายได้เกือบ 70 ล้านบาท เติบโตขึ้น 635% จากปีก่อน มียอดจัดส่งสินค้า 2 ล้านชิ้น คิดเป็น 3.1% ของมูลค่าระบบการขนส่งทั้งหมด ขณะที่มีการเชื่อมระบบเข้ากับบริษัทโลจิสติกส์ในไทยแล้วกว่า 80% เชื่อมกับอีมาร์เก็ตเพลซแล้วกว่า 60% ส่วนการระดมทุน ล่าสุดกำลังจะเข้าสู่ซีรีส์ A ซึ่งทำให้ใช้เวลาปีกว่า ๆ บริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าเป็น 300 ล้านบาทได้

“ในตลาดโลจิสติกส์มีขนส่งแบรนด์ใหญ่ 20 ราย เราเชื่อมต่อระบบเข้าทั้งหมดแล้ว เหลือแต่รายเล็ก ๆ ที่กำลังเจรจา แต่จากผลสำรวจของไปรษณีย์ไทยเองระบุว่า ยอดส่งอีคอมเมิร์ซกว่า 2 ล้านชิ้นต่อวัน เฉพาะไปรษณีย์ไทย มีมาร์เก็ตแชร์ 60% เคอรี่ 20% ฉะนั้นจะเท่ากับว่า SHIPPOP เชื่อมกับระบบได้เกือบทั้งตลาดแล้ว”

หัวใจสำคัญ “ทีมงาน-โฟกัสถูกตลาด”

ขณะที่ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” หนึ่งในผู้ลงทุนกับสตาร์ตอัพอย่าง “SHIPPOP” ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ SHIPPOP ประสบความสำเร็จคือ “การบริหารธุรกิจของทีมงาน” ที่ทั้งหมดทำโดยพนักงานแค่ 15 คน อายุเฉลี่ยไม่ถึง 25 ปี แต่สร้างรายได้ถึง 70 ล้านบาท ขยายงานไปต่างประเทศได้ เป็นจุดเด่นขององค์กรที่มีขนาดเล็ก มีความคล่องตัวสูง

นอกจากนี้ ยังโฟกัสที่ธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูงมากจากการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดอีคอมเมิร์ซ และเป็น “first mover” ในอุตสาหกรรมนี้ ขณะที่แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาในรูปแบบของเกตเวย์บริการโลจิสติกส์สำหรับอีคอมเมิร์ซ ออกมาแบบให้พร้อม “ปลั๊กอิน” กับพาร์ตเนอร์ทั้งในและต่างประเทศได้ทันที จึงทำให้การขยายตัวทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์อีคอมเมิร์ซในมาเลเซีย ตั้ง JV ร่วมกันทำตลาดมาเลเซียตั้งแต่ปลายปี 2560 (www.shippop.my) และได้ขยายไปสิงคโปร์แล้ว

ดังนั้นแม้ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศจะขยายเข้ามาในตลาดไทย บางรายนำระบบโลจิสติกส์มาด้วย แต่ก็จะไม่กระทบกับ SHIPPOP เนื่องจากมีฐานลูกค้าจำนวนมากในมือ ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณยอดส่งมากเพียงพอที่จะไปต่อรองราคากับบริษัทโลจิสติกส์ได้

“สุทธิเกียรติ” ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าอีคอมเมิร์ซรายเล็กหรือรายใหญ่ ราคาค่าส่งยังมีความสำคัญ SHIPPOP จึงใช้การเจรจาต่อรองกับบริษัทโลจิสติกส์เพื่อให้ลูกค้าได้อัตราค่าส่งที่ดีที่สุด ขณะที่รายได้ของบริษัทจะมาจากส่วนต่างของค่าบริการที่ลูกค้าจ่ายกับอัตราที่ดีลกับโลจิสติกส์ได้

คุณภาพ+แก้ปัญหาได้จริง

“การแข่งขันของบริการโลจิสติกส์ จะเน้นราคาในช่วงแรก แต่ก็ไม่ใช่เน้นที่ถูกที่สุด เพราะถ้าถูกมาก ลูกค้าก็อาจจะระแวงเกี่ยวกับคุณภาพ ดังนั้นคุณภาพบริการต้องดีลูกค้าถึงจะติด และถ้าลูกค้าติดแล้วก็จะไม่ค่อยอยากเปลี่ยนระบบ เพราะต้องเสียเวลาเทรนวิธีการส่งให้พนักงานใหม่ และไม่อยากเสี่ยงกับการเสียภาพลักษณ์ ถ้าเจ้าใหม่บริการไม่ดี”

ขณะที่การพัฒนาระบบของ SHIPPOP ยังมองขาดถึงปัญหาที่แท้จริง ทั้งการที่ต้องใช้เวลามากในการพิมพ์จ่าหน้าซองแปะลงกล่อง ต้องเปรียบเทียบค่าส่งของแต่ละบริษัทเพื่อหาราคาที่ดีที่สุด ต้องส่ง tracking number ให้ลูกค้า ต้องคอยอัพเดตสถานะ ทำให้ผู้ค้าต้องเสียทั้งเวลาและต้นทุนจำนวนมาก

“SHIPPOP จึงช่วยทำให้ครบทั้งหมด ทั้งเปรียบเทียบราคา จองการขนส่ง ออกหมายเลขพัสดุทุกระบบขนส่ง หรือพิมพ์ใบปะหน้าได้ทันทีด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปที่จุดให้บริการ และยังมีบริการ drop off ที่เป็นช่องทางพิเศษ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ หรือถ้าเป็นขนส่งเอกชนก็เรียกรับของถึงบ้านได้ด้วย อัพเดตสถานะอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ลูกค้าประเภทนิติบุคคลเลือกวางบิลเป็นรายเดือนได้ด้วย ทำให้ที่ผ่านมาลูกค้าของ SHIPPOP สามารถประหยัดเวลาในกระบวนการส่งของได้อย่างน้อย 60% มีกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 20%”

เป้าหมายปีนี้จึงเน้นที่การเพิ่มงบฯการตลาดออนไลน์ในบริการเป็นที่รู้จักของผู้ค้าออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้ยอดลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากปัจจุบันมี 4,000 ราย และยอดส่งเพิ่มเป็น 4 ล้านชิ้นต่อปี โดยจะมีการเปิดบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ การเก็บเงินปลายทาง (COD) และการส่งสินค้าข้ามประเทศ (cross border) เพื่อรองรับการเติบโต และการแข่งขันที่ดุเดือดของธุรกิจโลจิสติกส์ที่จะเริ่มเห็นหลายบริษัทที่ขยับจากการให้บริการเฉพาะองค์กรธุรกิจ (B2B) มาเป็น B2C (ธุรกิจไปสู่ผู้บริโภค) หรือ C2C (ผู้บริโภคสู่ผู้บริโภค) มากขึ้น

ขณะที่การระดมทุนในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ราว 30 ล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อขยายตลาดต่างประเทศให้เติบโตมากขึ้น ซึ่งผู้ร่วมทุนจะต้องมีจุดแข็งอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มโอกาสการเติบโตให้ SHIPPOP ได้ด้วย อาทิ ต่อยอดทางด้านการตลาดหรือหาพาร์ตเนอร์ให้ได้

“การระดมทุนของ SHIPPOP ณ จุดนี้ VC (venture capital) ต้องมีมากกว่าเงินทุน”