ค้าปลีกไทยจะไปทางไหน ห้าง-ช็อปปิ้งมอลล์ ปะทะออนไลน์ (3)

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

การมาของ JD.com

ปีนี้การแข่งขันยิ่งรุนแรงด้วยการมาของ JD.com ที่จะเปิดตัวเมษายนนี้ แรกๆ ระบบต่าง ๆ อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แม้กลุ่มเซ็นทรัลเองจะมีเซ็นทรัลออนไลน์หรือมีทีมพร้อมอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าคงต้องปรับตัวกันระยะหนึ่ง ฉะนั้นคำถามคือ ถ้าเปิดตัวแล้วโอเปอเรชั่นยังไม่พร้อม การใช้เม็ดเงินมหาศาลอัดเข้าไปอาจส่งผลที่ไม่ดี หากไม่สามารถส่งมอบประสบการณ์ดี ๆ ให้ลูกค้าได้

ฉะนั้นการเปิดตัวในช่วงแรกน่าจะเป็นการ test market เล็ก ๆ แต่ที่น่าสนใจของ JD.com คือ ทุกอย่างอยู่ภายใต้นิเวศเดียวกัน คือทั้งในเชิงอีคอมเมิร์ซซึ่งมีกลุ่ม COL อยู่แล้ว ในส่วนไฟแนนเชียล ที่มี payment ระบบการปล่อยกู้เงินที่เมืองจีนตอนนี้เติบโตมาก แต่เชื่อว่าไม่น่าที่จะเปิดตัวพร้อมกันได้อาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ และสุดท้ายคือโลจิสติกส์ ซึ่งทาง JD.com และเซ็นทรัลน่าจะมีการประสานพลังกันให้เกิดประโยชน์ได้ที่มากสุด

เปรียบเทียบแล้วทาง JD.com ดูเหมือนมี ecosystem ที่ดูน่าสนใจที่สุด คือมีครบและอยู่ในคอนโทรลของตัวเอง ขณะที่ Lazada ก็สร้างอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่และแรงมาก ทั้งเริ่มมี LEX หรือ Lazada Express ในการขนส่ง แต่โลจิสติกส์ส่วนใหญ่ของ Lazada ยังคงต้องพึ่งพาจากภายนอกอยู่

จุดสำคัญอีกประการก็คือ ระบบเพย์เมนต์ของ Lazada แม้ว่าจะเริ่มมีการเข้าไปลงทุนในบริษัทเพย์เมนต์ Hello Pay แต่เพย์เมนต์ของ Lazada ในไทยยังไม่แข็งแรงมากนัก ต้องดูต่อไปว่าจะสามารถร่วมมือกับกลุ่ม True ได้มากขนาดไหน เกมนี้ใครอินทิเกรตทั้งระบบนิเวศได้ดีที่สุดเชื่อมต่อได้ดีที่สุดน่าจะมีโอกาสชนะ ถึงแม้ Lazada จะออกตัวไปได้ไกลกว่าคนอื่น แต่เกมนี้คงต้องดูกันในระยะไกล

แบรนด์กระโดดมาฝั่งออนไลน์

อีกปัจจัยที่น่าสนใจ คือ การย้ายฝั่งของแบรนด์ต่าง ๆ สังเกตได้ว่าเมื่อก่อนโฆษณาเคยพูดว่า หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า ตอนนี้หลายแบรนด์ไม่ได้พูดเช่นนั้นแล้ว แถมเริ่มพูดว่าหาซื้อได้ในออนไลน์หรือซื้อได้บนเว็บไซต์แล้ว จะเห็นได้ว่า channel ออนไลน์เริ่มกลายเป็น channel มาตรฐาน เป็นช่องทางที่ต้องใช้กับสินค้าบางประเภทไปแล้ว

การบุกรุกของออนไลน์ในปีที่ผ่านมามีความรุนแรงมากโดยเฉพาะครึ่งปีหลัง คำถามคือเกิดอะไรขึ้น กำลังซื้อมหาศาลที่เมื่อก่อนเคยมีอยู่แล้วทั่วประเทศ ที่เคยอยู่ในโลกออฟไลน์ จากที่เราไปซื้อตามห้าง ตามตลาดนัด หรือซื้อสินค้าตามข้าง ๆ บ้าน กำลังซื้อเหล่านี้ถูกดึงให้เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ เช่น เมื่อก่อนจะไปซื้อถุงเท้ากับร้านใกล้บ้านที่เคยซื้อมาตลอด 10 ปี แต่เมื่อมีคูปองลดราคาหรือมีส่วนลดราคา เห็นโฆษณาในออนไลน์ว่าลดราคา คนก็เริ่มลองเข้าไปซื้อสินค้าออนไลน์ ถุงเท้าที่เคยซื้อข้างบ้านก็เปลี่ยนไปซื้อออนไลน์ซึ่งถูกกว่า จากเมื่อก่อนเคยเดินตลาดนัดใกล้ ๆ บ้านก็ซื้อสินค้าออนไลน์แทน

นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ากำลังซื้อจากออฟไลน์กำลังโดนตลาดออนไลน์ฉวยและดึงความต้องการนั้นมาอย่างรุนแรงมาก มันค่อย ๆ เกิดขึ้นในบาง categories อย่างสินค้าประเภทแฟชั่น สินค้าแม่และเด็ก สินค้าความสวยความงาม คอสเมติกส์ต่าง ๆ สินค้าเหล่านี้ได้ถูกออนไลน์เข้าไปกลืนกินและดึง demand จากคนทั่วประเทศไปบ้างแล้ว