“สตาร์ตอัพ” แบบไหน ที่ใครๆ ก็ต้องการ

เริ่มจุดพลุโดยค่ายมือถือในการให้การสนับสนุนเทคสตาร์ตอัพไทย ผ่านสารพัดโครงการตั้งแต่หลายปีก่อน ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาสนใจเช่นกัน ด้วยว่าต่างกำลังเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีดิสรัปชั่นมากน้อยแตกต่างกันไป จึงเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยกันอย่างคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อการลงทุน และการเฟ้นหาดาวรุ่งเพื่อมาต่อยอดธุรกิจเดิมจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้

“ศรีหทัย พราหมณี” head of AIS The Startup บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอไอเอสเป็นค่ายมือถือเจ้าแรก ๆ ที่เข้ามากระตุ้น วงการสตาร์ตอัพในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555 มีสตาร์ตอัพในโครงการสนับสนุนของเอไอเอสแล้ว 45 ราย แม้ในขณะนี้จะไม่ได้มีโครงการประกวดเพื่อคัดเลือกสตาร์ตอัพดาวรุ่งประจำปีแล้ว เพราะมองว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

ดังนั้นเมื่อมีไอเดียจึงควรเริ่มทำทันที ขณะที่การประกวดเพียงปีละครั้งอาจช้าเกินไป จึงได้เปิดรูปแบบจากการจัดโครงการประกวดมาเป็นการเปิดรับไอเดียใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา โดยจัดให้สตาร์ตอัพเข้ามาพรีเซนต์ไอเดียได้ทุกเดือน

“ตั้งแต่เริ่มต้น เอไอเอสมีทิศทางชัดเจนที่ต้องการให้สตาร์ตอัพรายนั้น ๆ มีความเป็นเจ้าของ 100% เพื่อสร้างในสิ่งที่เขาฝัน แต่มีโอกาสเข้าสู่โลกธุรกิจด้วยความช่วยเหลือของเราที่แข็งแกร่งด้านธุรกิจ และฐานลูกค้า รวมถึงมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่ม Singtel ที่จะช่วยขยายตลาดไปต่างประเทศได้”

โดยสนับสนุน 3 ระดับ คือ 1.technology & fundamentals support ที่จะนำโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไปสนับสนุนสตาร์ตอัพให้แข็งแรงขึ้น และเพิ่มฟังก์ชั่นได้มากกว่าคู่แข่ง ทั้งช่วยวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการพัฒนา เพื่อให้มีทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ทำให้สตาร์ตอัพมีกระแสเงินสดนำไปใช้สร้างประโยชน์อื่นได้มากขึ้น 2.comarketing มีแผนทำตลาดร่วมกันทั้งกับลูกค้าเอไอเอสและลูกค้าสตาร์ตอัพ และ 3.สร้างโมเดลธุรกิจเพื่อให้เกิดรายได้ร่วมกัน ทั้งในรูปแบบของส่วนแบ่งรายได้ หรือที่จะทำมากขึ้นในปีนี้ คือนำบริการของสตาร์ตอัพไปแนะนำให้ลูกค้าเอไอเอสที่เป็น SMEs

“ที่ผ่านมา มีความร่วมมือทั้งในรูปแบบธุรกิจที่เราส่งต่อให้ลูกค้าเอไอเอส สร้างโมเดล revenue sharing หรือทำเป็นAIS as a service ปรับกระบวนการเพื่อดึงสตาร์ตอัพเข้ามาพัฒนาเซอร์วิสภายในเอไอเอสได้ ปัจจุบันมี 26 บริการ ของสตาร์ตอัพที่เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบของเอไอเอสแล้ว”

มีทั้งเป็นระบบสำหรับบริการลูกค้าเอไอเอส และระบบหลังบ้านสำหรับใช้ภายในบริษัท รวมถึงการอบรมพนักงาน อาทิ “StockRadars” เชื่อมกับ operator billing, “ZipEvent” และ “QueQ” เชื่อมกับ AIS mPAY เป็นต้น

“ความร่วมมือกับสตาร์ตอัพทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนาตนเองของทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะการเปิดมุมมองเพื่อการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ และเกิดความเร็วในการพัฒนามากขึ้น รวมถึงการสร้างอีโคซิสเต็ม และผลต่อเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตไปด้วยกันในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว สตาร์ตอัพจึงเข้ามาเสริมจุดนี้ได้”

และในปีนี้จะมี 3 ราย QueQ, Shippop และ Priceza ที่ได้ติวเข้มกับผู้บริหาร Singtel ในลักษณะ private commentary อย่างเข้มข้น เพื่อให้ข้อแนะนำในการขยายตลาดไปต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สเป็กสตาร์ตอัพที่เราต้องการ คือต้องเข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้าเป้าหมายของตนเองชัดเจน ขณะที่ตลาดและลูกค้าต้องน่าสนใจเพียงพอ ที่สำคัญไอเดียต้องโดดเด่น ไม่ใช่แค่เป็นตัวเลือกหนึ่งของตลาด และสามารถทำได้จริง เป็นจังหวะที่เหมาะสม มีเทคโนโลยีซัพพอร์ต มีโมเดลธุรกิจที่สร้างรายได้ได้จริง รวมถึงต้องมีความกลมเกลียวในการทำงาน มีความเข้าใจ มีความเชื่อที่จะทำให้ไอเดียเกิดขึ้นจริง ๆ”

ผู้บริหาร “เอไอเอส” มองว่า หากองค์กรธุรกิจอยากร่วมมือกับสตาร์ตอัพ สิ่งที่สำคัญ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าต้องการอะไรจากการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพ เพื่อวางโพซิชั่นที่ชัดเจน ถ้าต้องการการร่วมทุนการเป็น VC เป็นคำตอบ แต่หากต้องการร่วมกันพัฒนาธุรกิจแบบเอไอเอสก็จะเป็นอีกโมเดล ทั้งต้องดูจุดแข็งที่จะนำมาซัพพอร์ตสตาร์ตอัพได้ เช่น เงิน ประสบการณ์ธุรกิจ และพาร์ตเนอร์

บรรดาสตาร์ตอัพ 45 รายในโครงการของ “เอไอเอส” จะเป็นด้าน payment and FinTech มากที่สุด 20% เช่น StockRadars, Digio, Flowaccount, iTAX ด้าน digital commerce 16% เช่น Ook-bee, Priceza, ShopSpot, BentoWeb, Golfdigg และ TravelTech 13% เช่น theTripPacker, Local Alike, FavStay, Local Pillow, MEIX

ฟาก “ดีแทค” ปักหลักทำโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพต่อเนื่องทุกปี โดย “สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์” กรรมการผู้จัดการ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท” กล่าวว่า ในเดือน มี.ค.นี้ จะเปิดรับสมัครสตาร์ตอัพในโครงการ dtac accelerate batch 6 เพื่อคัดเลือกเข้าแคมป์ ซึ่ง 5 ครั้งที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัพอยู่ในพอร์ต 34 ทีม เติบโตไม่ต่ำกว่า 10 เท่า ในแง่มูลค่าของทุกบริษัทรวมกันกว่า 3,500 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้เตรียมงบฯลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ในสตาร์ตอัพ 12-13 ราย

“สตาร์ตอัพในพอร์ตของดีแทคโฟกัสหลายเทคโนโลยี เป็นกลุ่ม FinTech มากที่สุด 6 ราย เช่น CLAIMDI, FINNOMENA ด้าน TravelTech มี 4 ราย เช่น COOKLY, TAKE ME TOUR เป็นต้น ซึ่งตลาดสตาร์ตอัพในไทยกว่า 90% เป็นนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่หลายองค์กรเริ่มก่อตั้งกองทุน Corporate Venture Capital (CVC) มากขึ้น เทรนด์สตาร์ตอัพที่น่าจับตามองคือ HealthTech และ AI machine learning”


ส่วนกลุ่มทรูมีโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพ เรียกว่า “true incube” โดยในปลายเดือน ก.พ.นี้จะเปิดรับสมัครสตาร์ตอัพเพื่อคัดเลือกเข้าโครงการ true Incube Incubation & Scale up Program Batch 5 และที่ผ่านมามีสตาร์ตอัพเข้าร่วมโครงการ และจดทะเบียนเป็นบริษัทตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบันแล้ว 25 ราย ทั้งด้าน e-Commerce อย่าง Sellsuki, HealthTech อย่าง U-Vein, ARINCARE และ RetailTech อย่าง TUNJAI, Peak Engine และด้าน FinTech อย่าง Talad Invoice เป็นต้น