“กสทช.” เบรกรอ “กฤษฎีกา” การันตีอำนาจประมูลคลื่น

เร่งสปีดยกร่างเกณฑ์ประมูลคลื่นใต้สัมปทานดีแทค ทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz แบบเต็มสูบ จนเปิดประชาพิจารณ์กฎประมูลไปเรียบร้อย เรียกว่าแค่ที่ประชุมบอร์ดไฟเขียว ก็พร้อมนำประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเริ่มกระบวนการเชิญชวน นับหนึ่งประมูลได้ทันที แต่จู่ ๆ ที่ประชุมเมื่อ 14 ก.พ. 2561 ก็มีติดเบรก โดยเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” กล่าวว่า มติบอร์ด กสทช. รับทราบผลการรับฟังความเห็นสาธารณะ แต่ให้รอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้มีการหารือเกี่ยวกับ

ฐานอำนาจของบอร์ดชุดปัจจุบัน หาก 1-2 เดือน ไม่มีคำตอบจากกฤษฎีกา ให้สำนักงาน กสทช.เสนอความเห็นกลับมาให้บอร์ด กสทช. พิจารณาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหายจากการต้องเข้าสู่มาตรการเยียวยาผู้บริโภคหลังสิ้นสุดสัมปทาน หรือการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

“ผมเสนอความเห็นนี้ให้บอร์ดพิจารณาเอง เพราะเห็นว่ายังมีเวลาเหลือ กรอบเดิมที่วางไว้คือเคาะราคากันเดือน พ.ค.นี้ ฉะนั้นถ้ารอกฤษฎีกาก่อนก็ไม่มีผลกับกรอบเวลา เพราะนัดสำนักงาน กสทช.เข้าไปชี้แจงในสัปดาห์หน้านี้แล้ว ที่ผ่านมาเราเร่งเพื่อเตรียมทุกอย่างให้พร้อมไว้ก่อน ณ จุดนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะจะหยุดรอ”

ทั้งมติที่ประชุมบอร์ด ยังอนุมัติให้ประกวดราคาโครงการติดตั้ง โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงฟรี WiFi 1 ปี 1 จุดต่อหมู่บ้านในพื้นที่ 15,732 หมู่บ้าน วงเงิน 3,200 ล้านบาท รูปแบบเดียวกับการโครงการเน็ตประชารัฐ ที่กระทรวงดีอีได้ดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการให้บริการในพื้นที่รูปแบบเดียวกัน โดยจะเชิญชวนผู้สนใจในสิ้นเดือน ก่อนเปิดให้ยื่นซองเสนอราคา เม.ย. และลงนามในสัญญา พ.ค. ก่อนติดตั้งให้เสร็จในสิ้นปีนี้

“ดีอีประสานมาว่าจะขอทำโครงการนี้ แต่ยังไม่มีหนังสือแจ้งเป็นทางการ มีแต่หนังสือแจ้งล่าสุดที่ปฏิเสธจะทำ กสทช.จึงต้องเดินหน้าไปก่อน เพราะหากติดตั้งไม่เสร็จสิ้นปีนี้ตามนโยบายรัฐ กสทช.ต้องรับผิดชอบ แต่หากดีอีส่งหนังสือแจ้งเป็นทางการมาว่าจะทำเอง ค่อยทำเรื่องเสนอบอร์ดทบทวนใหม่”

และ กสทช.ปัจจุบันครบวาระ6 ต.ค. 2560 แต่ พ.ร.บ.ฉบับล่าสุดระบุให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ขณะที่การสรรหาบอร์ดชุดใหม่อยู่ระหว่างดำเนินการ