เปิดใจ แม่ทัพหญิงคนแรก ฟูจิตสึ ถอดรหัส FUJITRA โมเดล สู่ โตยั่งยืน

กนกกมล เลาหบูรณะกิจ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

Fujitsu (ฟูจิตสึ) บริษัทด้านโซลูชั่นไอทีชั้นนำของญี่ปุ่น เข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยยาวนานกว่า 33 ปีแล้ว ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการไอทีบ้านเรา

ปัจจุบันมีพนักงานรวมกันทั่วโลกกว่า 124,000 คน มีรายได้รวมในปี 2565 ที่ผ่านมา มากกว่า 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา “ฟูจิตสึ” เผชิญความท้าทายทางเทคโนโลยีดิจิทัลเช่นเดียวกับบริษัทไอทีอื่น ๆ ทั่วโลก ที่แม้จะเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี แต่ก็ต้อง “ทรานส์ฟอร์ม” ตนเองอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถสร้างการเติบโต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และเทคโนโลยีสารสนเทศ จากกระแส “disruption”

ซึ่ง “ฟูจิตสึ” ได้ค้นพบความจริงที่ว่า การทรานส์ฟอร์มองค์กร ไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่คือการ “เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร” ให้พร้อมเติบโตไปกับเทคโนโลยี โดยตลอดช่วงเวลายาวนานของบริษัท วัฒนธรรมองค์กรแบบเอเชียได้หยั่งรากลึก ในแบบที่เรียกได้ว่าเป็น “การเติบโตอย่างยั่งยืนแบบญี่ปุ่น”

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “กนกกมล เลาหบูรณะกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารหญิง และคนไทยคนแรกในเอเชียของกลุ่มฟูจิตสึ กับภารกิจในการขับเคลื่อน ผลักดันองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ผู้นำหญิงคนแรกในเอเชีย

“กนกกมล” กล่าวว่า โดยพื้นฐานขององค์กร ฟูจิตสึวางตนเองเป็นโกลบอลคอมปะนี แม้บริษัทแม่จะอยู่ญี่ปุ่น แต่พนักงานมีอยู่ทั่วโลก ทำให้มี “ไมนด์เซต” หลากหลาย ขณะที่ผู้บริหาร “ฟูจิตสึ” ในยุโรปหลายท่านก็เป็นผู้หญิง และรู้จักกันมานาน ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว ฟูจิตสึไม่ได้ปิดกั้นผู้หญิง หรือใคร แต่มีการประเมินในทุกระดับ มีการวางตัวคนสำคัญ ๆ ไว้เป็นลำดับ และให้เข้าโปรแกรม “ผู้นำ” ก่อนขึ้นเป็นผู้บริหาร

วิธีการเหล่านี้ เป็นกระบวนการในการริเริ่มเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในองค์กรให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการผลักดันองค์กร ทำให้พนักงาน มีไมนด์เซตแบบ entrepreneur ที่จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขับเคลื่อนองค์กร

“เราให้คุณค่ากับประสบการณ์ของพนักงาน และประสบการณ์ของลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะถ้าพนักงานไม่มีประสบการณ์ที่ดีในองค์กร ก็จะไม่สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผู้นำในครั้งนี้นับเป็นปรากฏการณ์ เพราะเป็นครั้งแรกในเอเชียที่มีผู้บริหารหญิง สอดคล้องกับนโยบายหลักของบริษัทแม่ที่เป็นองค์กรญี่ปุ่น ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าตลาดประเทศไทยสำคัญ จึงส่งเสริมคนในพื้นที่ และเป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร และสามารถตอบรับความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

โดยมีเป้าหมายสำคัญที่คล้ายกับองค์กรทั่วโลก คือ การไปสู่ “sustainability transformation”

การบริหารสไตล์ “กนกกมล”

แม่ทัพหญิง ฟูจิตสึ กล่าวว่า ตนทำงานกับฟูจิตสึมานานกว่า 24 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้แสดงให้เด่นชัดว่ามีส่วนร่วมในการผลักดันขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งกนกกมลบอกว่า ทุกองค์กรต้องมี hero และ nonhero ดังนั้นการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวกับ “บุคลากร” ต้องดูระยะยาว

ทั้งในแง่พฤติกรรม ความคิดและการทำงาน เป็นวิธีการประเมินขององค์กรแบบญี่ปุ่น ดังนั้นต้องทำให้บุคลากรสบายใจในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการแสดงความเห็นและแสดงผลงาน

ยกตัวอย่างเช่น การที่พนักงานไม่รู้สึกว่าจะต้องโดนปลดออก เพราะบริษัทไม่เคยมีการปลดคน เนื่องจากไม่เร่งรีบในการรับคนมา แต่ใช้วิธีการค่อย ๆ ฟูมฟักให้เติบโตไปกับองค์กร

สำหรับความท้าทายในการเป็นผู้หญิงในองค์กรเอเชีย เป็นเรื่องของ “คน” ที่อาจไม่ใช่การ “ต่อต้าน” แต่เป็นการ “ไม่อาสา” ทำงาน เพราะลักษณะการบริหารคนต้องการให้พนักงานอาสาไปทำโปรเจ็กต์ เพื่อให้เห็นความเก่ง องค์กรจะได้เห็นความสามารถและพร้อมช่วยให้เติบโตไปด้วยกัน

“ในความเป็นผู้หญิง โดยส่วนตัวไม่มีความกังวลในเรื่องนี้เลย เพราะเราไม่ใช่ผู้บริหารแบบหอคอยงาช้าง ไม่ชอบให้มีช่องว่างระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร ดังนั้นประตูห้องจึงเปิดรับตลอด และวางตัวเสมือนเพื่อนร่วมงาน ไม่ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าโดนสั่ง ทำให้การต่อต้านน้อย”

ภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กร

“กนกกมล” กล่าวถึงนโยบายและแนวคิดของบริษัทแม่เรื่อง “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” ว่า ในฐานะที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีการจะช่วยลูกค้าทรานส์ฟอร์มได้ จะต้องทำเองก่อน จึงสร้างกรอบความคิดที่เรียกว่า “FUJITRA” หรือ Fujitsu+transformation ขึ้นมา ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบ hybrid working หรือการทำงานในรูปแบบผสมผสาน

โดยพนักงานทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน และเสริมความคล่องตัวด้วยการนำเครื่องมือไอทีต่าง ๆ มาใช้ในการทำงาน รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กร ประกอบด้วย leadership, culture, data-driven, DX (digital transformation)

“หน้าที่ที่เราจะทำในการสื่อสารกับลูกค้า คือ ที่ผ่านมามีการส่งสัญญาณผิด ๆ เกี่ยวกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นว่าเป็นเรื่องการนำระบบไอทีมาช่วยทำงาน แต่จริง ๆ แล้วคือการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมปรับตัวไปกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง”

เมื่อมีการนำแนวทาง FUJITRA โดยเฉพาะเรื่องการสร้างภาวะผู้นำ และการใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นต้น ทำให้มีความยากอยู่บ้าง แม้โดยพื้นฐานวัฒนธรรมของฟูจิตสึค่อนข้างผสมผสาน และมีการวางโพซิชั่นเป็นบริษัทระดับโลก แต่ฟูจิตสึ ประเทศไทย ก็ยังถือว่ามีคนไทยเป็นส่วนใหญ่

“มีการต่อต้านบ้าง จริง ๆ ก็ไม่เชิงว่าต่อต้าน แต่อาจให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรน้อย ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะทำเรื่องเฉพาะหน้าก่อน ทำให้ยึดติดกับโอเปอเรชั่นแบบเดิม ไม่อยากเสนอโครงการใหม่ ๆ วิธีแก้ คือ การสปอนเซอร์ชิป คือ เอาตัวเราเองเข้าไปสนับสนุนว่าทำได้ หรือใช้ทั้งแรงดึงแรงผลัก”

ปัญหาอีกส่วนคือความเกรงใจ เช่น การจะทำโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ เพราะการทำ DX ไม่สามารถทำงานแบบไซโลได้ แต่ต้องข้ามแผนก ทำให้ไม่สามารถหาเจ้าภาพได้ คือไม่ใช่ไม่อยากทำ แต่เกรงว่าจะโดนว่า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนไทย จึงต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดยผลักดันให้ทีมไฮไลต์ตนเอง สร้างความท้าทาย เพื่อให้มีโอกาสเติบโตต่อไปได้

“เด็กรุ่นใหม่ชอบความท้าทายให้ทำสิ่งใหม่ ๆ ปัญหาที่เจอเป็นกับคนรุ่นเก่ามากกว่าที่จะปรับตัวไม่ทัน”

“กนกกมล”ย้ำว่าการปรับเปลี่ยนองค์กร ภายใต้กรอบแนวคิด “FUJITRA” จำเป็นต้องมีองค์ประกอบอื่นที่มากไปกว่าเรื่อง “เทคโนโลยี” และ “ข้อมูล” โดยต้องอาศัย “ผู้นำ” ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง “วัฒนธรรม” องค์กรไปพร้อม ๆ กัน

สร้าง “คน” ให้โตไปกับองค์กร

“กนกกมล” กล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ “บุคลากร” ภายในองค์กร เป็นผู้ริเริ่ม ผลักดัน และเติบโตไปพร้อมกับองค์กร เปรียบได้กับการเลี้ยงบอนไซ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องปลดหรือปรับลดพนักงานแต่อย่างใด ตรงกันข้ามปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีคนไม่เพียงพอ จึงมีการเปิดรับพนักงานต่อเนื่อง

“การปรับลดพนักงาน มักเกิดกับกลุ่มบริษัทที่เติบโตเร็ว และเพิ่มจำนวนพนักงานเร็วมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงเป็นต้นทุนที่ต้องตัด ต่างจากเรามีคนทำงานไม่พอกับงานที่เราได้มาด้วยซ้ำ แม้เปิดรับเพิ่มแล้ว ก็ยังหาได้ยาก”

แม่ทัพหญิงคนแรก “ฟูจิตสึ” ประเทศไทย กล่าวว่าแวดวงไอทีในช่วงที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีความผันผวนของทรัพยากร มีคนเข้าออกมาก เพราะมีทรัพยากรไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงเกิดการแย่งพนักงานด้านไอที (talent war) ซึ่งตนคาดว่าในปีนี้ก็จะยังมีอยู่ เพราะแม้แต่บริษัทเองก็ยังมีคนทำงานไม่เพียงพอกับงานที่ได้มา