เอปสันโตสวนกระแสพร้อมลุย SME ต่อ

“เอปสัน” เดินหน้าขยายฐานลูกค้าองค์กร ตั้งเป้ารักษาระดับการเติบโตที่ 7% เท่าปีที่แล้ว สวนกระแสตลาดรวม “เครื่องพิมพ์-โปรเจ็กเตอร์” ไม่โต ย้ำ 4 กลยุทธ์ดัน “อิงก์เจ็ต-เลเซอร์โปรเจ็กเตอร์-หุ่นยนต์แขนกล” เจาะธุรกิจตั้งแต่เอสเอ็มอียันบริษัทขนาดใหญ่ ปักธงเพิ่มแชร์โปรเจ็กเตอร์จาก 46% เป็น 50% ภายในปีหน้า

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไปด้านการขาย ผลิตภัณฑ์และการตลาด บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมเอปสันปีที่แล้ว คาดว่าจะเติบโต 7% ตามที่วางไว้ แบ่งเป็นรายได้จากไทย 79% เติบโต 6% ส่วนอีก 21% เป็นรายได้จากต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแลของเอปสันประเทศไทย ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และปากีสถาน เติบโต 14%

โดยรายได้ 80% มาจากยอดขายเครื่องพิมพ์ 20% จากโปรเจ็กเตอร์ สำหรับในไทย เอปสันยังเป็นที่ 1 ในตลาดเครื่องพิมพ์ มีส่วนแบ่งตลาด 46% โดยเฉพาะตลาดอิงก์แท็งก์โต 7% จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้อิงก์เจ็ตแบบตลับหมึกและเลเซอร์พรินเตอร์ขาวดำรุ่นเล็กที่มาใช้อิงก์แท็งก์แทน เนื่องจากประหยัดต้นทุนการพิมพ์ต่อแผ่น

ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์โปรเจ็กเตอร์ ยอดขายเติบโต 6% และยังรักษาอันดับ 1 ในตลาดด้วยมาร์เก็ตเเชร์ 46% จำหน่ายเครื่องระดับกลางและระดับบนได้มากขึ้น รวมทั้งเปิดตัวสินค้าใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ระดับมืออาชีพขายได้เพิ่มขึ้น 9% จากธุรกิจโฟโต้แล็บดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างมาก

ด้านตลาดต่างประเทศเครื่องพิมพ์อิงก์แท็งก์โต 70% โปรเจ็กเตอร์โต 43% เนื่องจากการขยายตัวของภาคการศึกษาและองค์กรธุรกิจ แต่ปีนี้จะตัดรายได้จากเวียดนามซึ่งเติบโตถึง 30% ออกไป เพราะย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของสิงคโปร์แทน หลังจากเอปสันในไทยดูแลมาราว 20 ปี

สำหรับเป้าหมายปีนี้ตั้งเป้ารักษาระดับการเติบโต 7% โดยคาดว่ารายได้จากไทยจะเติบโต 5% และรายได้จากต่างประเทศเติบโต 15% โดยเอปสันเน้น 3 ตลาด ได้แก่ พรินเตอร์, โปรเจ็กเตอร์ และหุ่นยนต์แขนกล โฟกัสที่ลูกค้าองค์กรเป็หลัก เนื่องจากตลาดคอนซูเมอร์ไม่มีโอกาสเติบโตต่างจากตลาดองค์กร เพราะมีการเกิดของธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี

“การทำตลาดพรินเตอร์เราจะเน้นไปที่อิงก์เจ็ตความเร็วสูง ปีนี้ตั้งเป้าโต 10% เพราะธุรกิจเริ่มเปลี่ยนมาใช้เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตมากขึ้น จากประสิทธิภาพที่ดีกว่า และประหยัดต้นทุนได้มากกว่า เชื่อว่าในปี 2563 เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตจะขึ้นมาเป็นมาตรฐานการพิมพ์ใหม่ของธุรกิจ ด้วยส่วนแบ่งกว่า 75% หรือ 3 ใน 4 ของเครื่องพิมพ์ทั้งหมด ปัจจุบันภาพรวมตลาดเครื่องพิมพ์มีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท มียอดขายกว่า 1.3 ล้านเครื่อง สัดส่วน 78% อยู่ในองค์กรธุรกิจ และ 22% เป็นคอนซูเมอร์ แบ่งเป็นอิงก์เจ็ต 75% เลเซอร์ 25%

“ภาพรวมตลาดเครื่องพิมพ์ในไทยโตไม่ถึง 1% การแข่งขันรุนแรงมาก เพราะตลาดไม่โต เรามีมาร์เก็ตแชร์ถึง 46% ดังนั้นเพื่อรักษาฐานจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์จากคู่แข่ง หรือไม่ก็ต้องขายเครื่องเเพงขึ้น ดังนั้นปีนี้จะได้เห็นสินค้าใหม่ ๆ หลายรุ่นเพื่อตอบโจทย์บิสซิเนสพรินติ้ง”

สำหรับตลาดโปรเจ็กเตอร์จะโฟกัสเลเซอร์โปรเจ็กเตอร์ ที่ใช้ได้นาน 20,000 ชั่วโมง ทนทานความร้อนสูง และใช้ต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมง ฉายภาพที่มีความคมชัด 4K ติดตั้งได้แบบ 360 องศา ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งจาก 46% เป็น 50% ภายในปี 2562

ส่วนหุ่นยนต์แขนกล มองว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมในการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งาน คาดว่าภาคการผลิตราว 50% จะเริ่มใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ใน 1-3 ปี ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางจะพร้อมในอีก 3-5 ปี

ปัจจุบัน เอปสันเริ่มนำหุ่นยนต์แขนกล “SCARA Robot” และ “6-Axis Robot” มาทำตลาดในกลุ่มโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าใน 3 ปี เพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 2% จากที่มีไม่ถึง 1%

นอกจากนี้ บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ 4 ด้าน เพื่อเจาะธุรกิจตั้งแต่เอสเอ็มอีถึงองค์กรใหญ่ ได้แก่ 1.โซลูชั่นสำหรับลูกค้า โดยนำเทคโนโลยีของเอปสันมารวมกันเพื่อออกแบบโซลูชั่นรองรับธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย โดยพิจารณาจากประเภทธุรกิจ กระบวนการ และขั้นตอนการทำงาน รวมถึงเป้าประสงค์ทางธุรกิจ เพื่อให้โซลูชั่นสนับสนุนการทำงานได้ 2.customer values พิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นคุณค่าทุกด้านที่จะได้รับเมื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เอปสัน


3.convenience channel ขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทุกตลาด รวมทั้งช่องทางจำหน่ายเฉพาะทาง เช่น หุ่นยนต์แขนกล และ 4.communications กลยุทธ์ด้านการสื่อสารที่จะช่วยให้ธุรกิจจดจำแบรนด์และคุณค่าด้านต่าง ๆ ผ่านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมการตลาดเอปสันใช้งบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท/ปี หรือ 5.2% ของรายได้ทั้งปีในการคิดค้นวิจัยนวัตกรรม โดยคาดว่าเอปสันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโต 9% และตั้งเป้าเติบโต 7% ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี