ทรีเพย์ติดสปีดสร้างเครือข่าย จับมือ “ทีโอที” เจาะร้านชุมชนเน็ตประชารัฐ

“ทรีเพย์” เดินหน้าขยายตลาดชำระเงินออนไลน์ ชูจุดแข็งด้านการตลาดและ “ลอยัลตี้โปรแกรม” ดึงเครือข่ายร้านค้ารายใหญ่ใช้บริการ ตั้งเป้าดันมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านระบบขยับจากพันล้านเป็น 1.5 พันล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ล่าสุดจับมือ “ทีโอที” เจาะตลาดอีคอมเมิร์ซ เล็งร้านค้าในโครงการเน็ตประชารัฐทั่วประเทศ

นายสุวิชา นะลิตา ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ทรี เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ กล่าวว่าทรีเพย์เป็นบริษัทที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท เอส เค เทเลคอม จำกัด และบริษัท เอ็นเอชเอ็น เคซีพี คอร์ปเปอเรชั่น จากประเทศเกาหลีใต้ ตั้งมาครบ 1 ปี และมียอดการทำธุรกรรมมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีลูกค้าหลักร้อยราย โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ เช่น เครือเซ็นทารา, เทพช้อป (Inw Shop) และอีเลฟเว่นสตรีท เป็นต้น

ล่าสุดเพิ่งได้ บมจ.ทีโอที เป็นพันธมิตรรายใหม่ และกำลังจะทำอีคอมเมิร์ซเว็บไซต์กับบุญเติมเร็ว ๆ นี้ด้วย เน้นเจาะกลุ่มอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่เพิ่งเริ่มต้น และมีการเติบโตรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่านอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1% ของการทำธุรกรรมออนไลน์ในประเทศ กลุ่มที่เติบโตสูงสุด 38% คือกลุ่มแฟชั่น มีมูลค่าตลาดถึง 18,000 ล้านบาท

โดยบริษัทจะเน้นหาลูกค้าที่เป็นกลุ่มร้านค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะรายใหญ่เพื่อสร้างความเชื่อถือ และร้านค้าที่มีรายการการทำธุรกรรมจำนวนมากก่อน ด้วยการส่งทีมงานไปเสนอขายบริการกับบริษัทใหญ่ ส่วนร้านเล็ก ๆ สมัครผ่านเว็บไซต์ได้เลย

“คนเข้าใจการใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้น เพราะภาครัฐให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเรื่องคิวอาร์โค้ด หรือพร้อมเพย์ เช่นกันกับภาคเอกชนที่มีการผลักดันเรื่องการใช้งานทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เพราะได้รับความสะดวก”

สำหรับตลาดเพย์เมนต์เกตเวย์ในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขมูลค่าตลาดที่ชัดเจน แต่มีคู่แข่งรายใหญ่ 5-6 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศ ได้แก่ 2C2P มีมาร์เก็ตเเชร์กว่า 90% รองลงมาคือ โอมิเซะ ส่วนทรีเพย์คาดว่าอยู่อันดับ 3-4 ขณะที่คู่แข่งลำดับถัดไปส่วนใหญ่มีทรานแซ็กชั่นไม่ถึง 500 ล้านบาท/ปี ขณะที่การแข่งขันรุนแรงมาก

เนื่องจากรูปแบบการหารายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมทรานแซ็กชั่นจึงแข่งขันด้านราคามาก”จุดแข็งของเราอยู่ที่การตลาดและการทำรอยัลตี้แพลตฟอร์ม โดยมีลอยัลตี้โปรแกรม เช่น กิฟต์การ์ด, แสตมป์ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ส่วนนี้เรียนรู้มาจากประเทศเกาหลีที่ทำลอยัลตี้โปรแกรม เรียกว่า “OK cashback” ในการคืนเงินให้ลูกค้า ทั้งระบบของบริษัทยังแข็งแรงสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ถึง 2.4 ล้านครั้ง/วัน มีช่องทางการรับเงินหลากหลาย ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต จ่ายผ่านตู้เอทีเอ็มหรือเซเว่นอีเลฟเว่น รวมทั้งวีแชท”

นอกจากนี้ บริษัทมีการรับชำระเงินที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรฐาน PCI DSS ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดสำหรับการจัดการและบริหารข้อมูลทำให้ผู้ใช้บริการที่ใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตลงทะเบียนด้วยระบบรักษาความปลอดภัยแบบ 3D-secure ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของเครือข่าย

นายสุวิชากล่าวต่อว่า คาดว่าปีนี้มูลค่าการทำธุรกรรมไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และตั้งเป้า 3 ปี มีมาร์เก็ตเเชร์ 20% ในตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งขยายตลาดไปยังประเทศกัมพูชาและเมียนม่า

ด้านนางสาวจันทนา เตชะศิรินุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจไอดีซี และคลาวด์ บมจ.ทีโอทีกล่าวว่า ทีโอทีอยากเปิดรับการชำระค่าบริการในรูปแบบอื่น ๆ แต่ติดเงื่อนไขของธนาคารจึงร่วมกับทรีเพย์ เพื่อเปิดให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบ TOT ePayment โดยเชื่อมต่อกับ gateway ของทรีเพย์ ครอบคลุมทุกช่องทางการจ่ายเงินรวมทั้งเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเว็บไซต์ออนไลน์ (market place) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น ร้านค้าโอท็อป

“ปัจจุบันมีการรับชำระค่าสินค้า และบริการออนไลน์ของทีโอที ผ่านเว็บไซต์กว่า 300,000 ธุรกรรม/ปี มีมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท/ปี ความร่วมมือกับทรีเพย์จะทำให้รองรับปริมาณธุรกรรมได้กว่า 100,000 ครั้งต่อเดือน จึงตั้งเป้ายอดทรานแซ็กชั่นเพิ่มขึ้น 50%”

สำหรับเว็บไซต์ออนไลน์ได้ทดลองเปิดให้บริการในเมื่อเดือน ม.ค. ปัจจุบันมีร้านค้าให้บริการ 50 ราย ซึ่งทีโอทีได้วางแผนที่จะหาร้านค้าจากโครงการเน็ตประชารัฐที่กำลังติดตั้งกว่า 24,000 หมู่บ้านเข้ามาเพิ่ม โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1 ร้านค้า/1 หมู่บ้าน โดยจะใช้เครือข่ายศูนย์บริการทีโอทีให้ความรู้ร้านค้าในชุมชนเพื่อชักชวนมาขายสินค้าออนไลน์