แบงก์ไทยทำ e-Marketplace อยู่หรือรอด ทางออกคืออะไร

คอลัมน์ Pawoot.com โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

เมื่อไม่นานมานี้ แบงก์ชาติประกาศอนุญาตให้ธนาคารไทยทำธุรกิจเกี่ยวกับ e-Commerce ได้ เพื่อสู้กับการเข้ามาของยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Alibaba และ JD.com ซึ่งรู้กันดีว่าเข้มแข็งเรื่อง e-Commerce มาก และบุกธุรกิจการเงินแล้วด้วย อีกไม่ช้าจะกลายเป็นภัยคุกคามธนาคารไทย

หากธนาคารไทยยังทำธุรกิจแบบเดิมสู้ไม่ได้แน่นอน เพราะ e-Commerce เหล่านี้มีฐานข้อมูลลูกค้ามากกว่าธนาคาร และล้วนเป็นข้อมูลเชิงลึก ทั้งมีข้อมูลฝั่งผู้ประกอบการ marketplace อีกจำนวนมาก

หากใครไม่รีบปรับตัวก็น่าเป็นห่วงอย่างมาก ธุรกิจ e-Commerce ของจีนได้ฉีก business model มาทำธุรกิจแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น e-Commerce, e-Payment ฯลฯ ในกลุ่มยักษ์ใหญ่ Alibaba, JD.com และ Tencent สร้าง ecosystem ที่มีทุกอย่างครบถ้วนในตนเอง

สร้างความน่าวิตกหลายประการ เช่น Alibaba ซื้อ Lazada แล้วน่าจะเชื่อได้ว่ามีฐานข้อมูลผู้ใช้ e-Commerce ในไทยมากที่สุด และเข้าไปลงทุนใน Ascend (ทรูมันนี่) อีก 20% ยิ่งเพิ่มความสามารถที่จะบุกเข้าไปในส่วน payment ได้ง่ายมากขึ้น

ขณะที่กลุ่ม JD.com เข้ามาลงทุนใน e-Commerce, e-Financial และ e-Logistics แล้ว ที่สุดแล้วสิ่งที่ทุกกลุ่มต้องการคือ การเอาข้อมูลจากธุรกิจมาใช้ในแบบบูรณาการ และเอามาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคว่าเป็นอย่างไร จากนั้นคงเริ่มปล่อยกู้ให้คนทั่วไป ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใหญ่ทีเดียว รวมถึงในกลุ่มของผู้ประกอบการในโลกออนไลน์ ซึ่งการปล่อยกู้ในธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็น เพราะ e-Marketplace รู้เรื่องการหมุนเวียนของเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าหรือออกของแต่ละธุรกิจที่อยู่ใน marketplace ทั้งหมด

ดังนั้นการมาของกลุ่มเหล่านี้ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้ธนาคารไทยต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของธนาคาร ดังนั้นธนาคารจึงควรต้องมีช่องทางที่จะให้บริการลูกค้าบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ได้เอง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นลูกค้าธนาคารอยู่แล้ว แทนที่บรรดา SMEs หรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ผลิตจะต้องไปหาตลาดขายเอง

ความได้เปรียบของธนาคารอยู่ตรงที่มีฐานข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือ เพียงแต่ทำอย่างไรให้ลูกค้าเดิมเข้ามาอยู่ในช่องทางการขายของธนาคาร หรือ marketplace ของตนให้ได้

จุดนี้จะช่วยให้ธนาคารมีข้อมูลของธุรกิจเกือบครบวงจร และทำให้มีข้อมูลที่จะต่อยอดธุรกิจต่อไป คือการนำเสนอบริการที่ดีอื่น ๆ ให้กลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

การตัดสินใจของแบงก์ชาติในครั้งนี้นับว่าทันการณ์และรวดเร็ว ในสภาวการณ์ที่เกมการแข่งขันไม่ใช่เกมของธุรกิจ e-Commerce รายย่อยหรือแค่ผู้ประกอบการในไทยเท่านั้น และนับเป็นการยกระดับทั้งทำให้มองเห็นกลุ่มคนที่มีความพร้อมที่จะสู้กับกลุ่มธุรกิจต่างชาติได้ชัดเจนขึ้น

แม้ว่าระยะแรกอาจเป็นธุรกิจที่ไม่ทำกำไร แต่ในทางอ้อมธนาคารจะได้ข้อมูลลูกค้ามากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นหนทางให้รับมือกับผู้ให้บริการจากต่างชาติได้ จะเห็นว่าตอนนี้มีบางธนาคารได้ลงมือทำล่วงหน้าไปแล้ว ทางออกที่ดีที่พอจะมองเห็นในเวลานี้คือ ธนาคารไทยหันไปจับมือกับ e-Marketplace ของไทยเราเอง ซึ่งดูจะลงตัวมากทีเดียว และควรรีบทำก่อนที่ marketplace ในไทยจะตายจากไปมากกว่านี้

การที่แบงก์ชาติตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศเริ่มหันมาสนใจธนาคารมากขึ้น ธนาคารขนาดใหญ่น่าจะเตรียมตัวกันไปแล้ว

ข้อดีในฝั่งบริษัทหรือ SMEs ไทยจะมีตัวเลือกมากขึ้น เพราะมีแพลตฟอร์มที่เป็น e-Marketplace ของไทยที่มีความเข้าใจในธุรกิจด้วยกันดีอยู่แล้ว

สุดท้ายฝั่ง “ผู้บริโภค” ก็มีตัวเลือกมากขึ้นจากการแข่งขัน e-Commerce ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และในกลางปีหรือปลายปีนี้น่าจะมีผู้ให้บริการ e-Marketplace เพิ่มขึ้นอีกหลายรายเลยทีเดียว

โดยธนาคารจะขยับขยายออกมาสู่ธุรกิจใหม่เพิ่มศักยภาพที่จะขยายไปในระดับ global business ได้ จากธุรกิจที่เป็นธนาคารมาเป็น non-bank เชื่อว่าต้องดึงคนที่มีประสบการณ์ด้าน e-Commerce ไปช่วย ซึ่งสมาคมด้านอีคอมเมิร์ซ และผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซทั้งหลายน่าจะพร้อมเข้ามาช่วย


การประกาศของแบงก์ชาติจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการ e-Commerce ไทย และช่วยให้โตเร็วมากขึ้น แต่เงินมหาศาลที่ส่งเข้ามาในธุรกิจออนไลน์จะเร่งให้ธุรกิจออฟไลน์ตายเร็วขึ้น ทุกอย่างกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จริง ๆ ฉะนั้นใครก็ตามที่ยังไม่ปรับตัวเข้ามาสู่ออนไลน์ คุณจะตายไปเร็วกว่าเดิม