“หัวเว่ย” แนะเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานรับ 5G เตรียมเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G ปีหน้า

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ นายโจว ตงเฟย หัวหน้าฝ่ายผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี 5G บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง 4G Change Life, 5G Change Society. Part 1: 5G Global Development Trend ในงานสัมมนา “5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” ว่า ทุกๆ 10 ปี จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งการเข้ามาของ 5จี จะเปลี่ยนสังคมเราไปอย่างสิ้นเชิง เพราะ 5จี ทรงพลังมาก อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ 5จี อาจจะไม่ใช่สมาร์ทโฟนอย่างเดียว เพราะ 5จี จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น อาทิ หมวกวีอาร์ โดรน เป็นต้น ทำให้การให้บริการ 5จี ให้บริการได้ทั้งผู้คนและอุปกรณ์ สำหรับข้อแตกต่างของ 5จีนั้น มีความเร็วมากกว่า 4จี ถึง 10 เท่า โดยความเร็วอยู่ที่ 10 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) ขณะที่ 4จี ความเร็วอยู่ที่เพียงมากกว่า 1 Gbps การรับ-ส่งข้อมูลของ 5จี ใช้เวลา 1 มิลลิวินาที (ms) ส่วน 4จี อยู่ที่ 10 ms ด้านการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ถึง 1,000,000/cell จาก 4จี ที่ 1,000/cell ซึ่งเหล่านี้ทำให้การเล่นวิดีโอ โดยเฉพาะวิดีโอความคมชัดสูงมีความเร็วมากขึ้น เป็นต้น

นายโจวกล่าวว่า ความคืบหน้าของเทคโนโลยี 5จี กลางปี 2561 นี้กลุ่มความร่วมมือที่ทำหน้าที่ออกมาตรฐานทางเทคนิค สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ 3GPP (The 3rd Generation Partnership Project) จะมีมาตรฐานบางส่วนออกมามาก ในปี 2562 จะออกมาตรฐานมาครบ โดยการพัฒนา 5จี ต้องมีเทคโนโลยีมาสนับสนุน ทั้งสเปกตรัม คลื่นมิลลิเวฟ ซีแบนด์ แอร์อินเตอร์เฟส ที่จะมาพัฒนาความสามารถลดความหน่วงของการส่งข้อมูล และจะมาช่วยการปรับปรุงประสิทธิภาพเน็ตเวิร์ก เพื่อรองรับการใช้บริการที่มากขึ้น

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และในยุโรป ได้เริ่มดำเนินการเชิงรุกเพื่อนำเทคโลยี 5จี มาใช้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโฮมบรอดแบนด์ โมบายบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ตออฟติง ซึ่งเหตุผลของการนำมาใช้ของแต่ละชาตินั้นไม่เฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาให้บริการเท่านั้น แต่ยังถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อทุกคน ซึ่งเชื่อว่าในปี 2563 ทุกอย่างของ 5จี จะสุกงอมพร้อมใช้ บริการและอุปกรณ์ต่างๆ จะมีราคาถูกลง

นายโจวกล่าวว่า การทดลองภาคสนาม พบว่า 5จี มีสมรรถภาพที่ดีกว่าคาดหวังไว้ โดยมีความเร็วสูงถึง 28 Gbps การรับ-ส่งข้อมูลที่ 0.33 ms และการเชื่อมต่อได้ถึง 1 พันล้าน/cell และได้นำมาทดลองใช้กับการเล่นวิดีโอ 4K และรถยนต์อัจฉริยะ ทั้งนี้ หัวเว่ยยังได้สร้างแล็บ โดยร่วมมือกับผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมทั่วโลกกว่า 700 ราย เพื่อทำการทดสอบและพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งโดรน หุ่นยนต์ และรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปีนี้หัวเว่ยจะเริ่มทำการตลาดใช้สำหรับ 5จี ได้แก่ อุปกรณ์ CPE ซึ่งคล้ายไวร์เลสแต่สามารถส่งสัญญาณได้กว้างกว่าเพื่อใช้ในสมาร์ทโฟน และจะเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5จี เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่จะทยอยออกมาในปี 2562

นายโจวกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับเทคโนโลยี 5จี นั้น เรื่องแรก สเปกตรัมใหม่ๆ ที่ต้องถูกใช้สำหรับ 5จี รวมทั้งมีการติดตั้งฮอตสปอตและฟิกซ์ไวร์เลส สอง สถานีฐานของ 5จี เพราะต้องรองรับความถี่สูง จะสร้างเสารับสัญญาณมากขึ้น จะมีการใช้พื้นที่ไหนติดตั้ง ลดค่าใช้จ่ายการเช่าพื้นที่อย่างไร กรณีในเยอรมนี รัฐบาลได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา และมีการพิจารณาใช้ไฟจราจร ไฟส่องสว่างตามถนนมาติดตั้ง ทุกอย่างนำมาใช้สำหรับ 5จีได้ ซึ่งขณะนี้ไชน่าโมบายได้เริ่มทำการติดตั้งเสาสัญญาณแล้วกว่า 3,000 จุดในเมืองเฉิงตู

“บริการ 5จี นอกจากการนำมาใช้กับบรอดแบนด์เซอร์วิส โทรศัพท์ บ้าน และอุปกรณ์อื่นๆ ยังสามารถนำมาใช้งานอีกในหลายๆ ด้าน โดยด้านนโยบายสาธารณะ นำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น รถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งการรายงานของสหรัฐประเมินว่าจะสามารถช่วยชีวืตคนได้ 1.2 ล้านคน ประหยัดเชื้อเพลิงได้จำนวนมาก เป็นต้น ในไทยนั้น 5จี จะมีการนำมาใช้เชิงพาณิชย์ในปี 2563 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในไทย หัวเว่ยเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับผู้ใช้บริการต่างๆ อยู่แล้ว ในระยะ 2-5 ปี คาดหวังว่าจะมีการเชื่อมโยงผู้ให้บริการและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยต่อไป” นายโจวกล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์