“ฐากร” หวัง 5G ดันสัดส่วนโทรคมนาคม 10% ของจีดีพี-ชง 3 ทางออกทีวีดิจิทัล

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังงานสัมมนา 5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (ซอยรางน้ำ) ว่า ขณะนี้หลายประเทศเตรียมความพร้อมเรื่อง 5G ไว้บ้างแล้ว ไทยต้องเร่งกระตุ้นให้คนไทยรับมือ เพราะปลายปี 2563 เทคโนโลยี 5จี จะเข้ามาสู่ไทยอย่างแน่นอน ซึ่งยังมีเวลาในการเตรียมการอีก 2 ปี โดยไทยต้องมองว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน ภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะไทยยังพึ่งพาแรงงานจากคน เมื่อมี 5G จะใช้ไอโอที (Internet of Things) ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิต ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องลดต้นทุนการผลิต คนใช้แรงงานต้องปรับตัว เช่น ไปทำงานอื่น หรือเพิ่มทักษะ

นายฐากรกล่าวว่า นอกจากนี้ยังรู้สึกห่วงใยกลุ่มทีวีดิจิทัลที่ยังต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณา เพราะสังคมเปลี่ยนไป ประชาชนดูทีวีผ่านระบบทีวีโดยตรงน้อยมาก คนจะหันไปดูยูทูบ ดูทีวีในมือถือแทน เมื่อ 5G เข้ามา ทำให้ความเร็ว ความเสถียรมากขึ้น 30-100 เท่า พฤติกรรมของประชาชนต้องเปลี่ยน การโฆษณาสินค้าต้องเปลี่ยน นอกจากนี้ การค้าขายสินค้าปลีกจะกระทบ เพราะทำเลทองไปอยู่บนโลกออนไลน์ ขณะนี้เราซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ลองไม่ได้ แต่วีอาร์หรือเทคโนโลยีเสมือนจริง ทำให้การลองเสื้อผ้าที่บ้านสามารถทำได้ เมื่อ 5G เข้ามาคาดหวังเศรษฐกิจโทรคมนาคมที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 4.5-5% ของจีดีพีจะเพิ่มขึ้น โดยในอีก 3-4 ปีข้างหน้าคาดว่าโทรคมนาคมมีสัดส่วนถึง 10% ของจีดีพี เนื่องจากหลายเรื่องเข้ามาอยู่ในโลกเทคโนโลยี

“อยากให้คนไทยเริ่มตื่นตัว เพื่อให้ปรับตัวทันยุคและให้ทันประเทศอื่นๆ สำหรับคลื่นความถี่เตรียมการไว้รองรับการประมูล 5G มีทั้ง 26000 MHz 1800 MHz โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) กำหนดคลื่นไว้ที่ 26000 MHz เพื่อรองรับ 5G ซึ่งทำให้การใช้งานคลื่นความถี่มากขึ้น เพราะโลกทั้งหมดอยู่ในดาต้า และสามารถขยายได้ไม่มีที่สิ้นสุด” นายฐากรกล่าวและว่า แม้เทคโนโลยีเปลี่ยนมาเป็น 5G จะไม่ทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการแพงขึ้น แต่ว่าเมื่อเราจะมีการใช้งานมากขึ้น ต้องทำให้จ่ายเงินมากขึ้นตามปริมาณการใช้งาน

นายฐากรกล่าวต่อว่า กรณี ม.44 เพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิทัลนั้น กสทช.ได้เสนอไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยเสนอไปทั้งด้านโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล โดยในส่วนทีวีดิจิทัลนั้นมี 3 ทางคือ เปิดทางให้คืนใบอนุญาต ช่วยชำระโครงสร้างภาคพื้นดิน เสนอในส่วนของพักชำระหนี้ 3 ปี และคิดดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็แล้วแต่รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร

 

ที่มา : มติชนออนไลน์