หมดสิทธิลุ้น “กฤษฎีกา” ชี้ดีลJV “แคท-ดีแทค” ขัดรธน.

ปิดฉากดีลตั้ง JV “แคท-ดีแทค” กฤษฎีกาชี้ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุให้รัฐถือหุ้นน้อยกว่า 51% พร้อมแก้เกมชงสัญญาเช่าเสาให้บอร์ดพิจารณาแทน ลุ้นหนักผ่าน-ไม่ผ่านเหตุผลตอบแทนน้อยกว่า JV เกิน 50% ฟาก “ดีแทค” เตรียมนับหนึ่งเจรจาข้อพิพาทที่ค้างกันอีกเพียบ

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือตอบข้อหารือที่บริษัทสอบถามเกี่ยวกับการตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) ระหว่างแคท กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) มาแล้วเมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ขัดเจตนารมณ์ของมาตรา 56 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เนื่องจากฝั่งดีแทคถือหุ้น 51% แคทถือหุ้น 49%

“ทางออกจากนี้คือจะเสนอโมเดลการเช่าเสาและอุปกรณ์ ให้บอร์ดพิจารณาแทน แต่ยอมรับว่าการทำสัญญาเช่ามีความไม่แน่นอนกว่า JV มากทั้งระยะเวลาเช่า ซึ่งในเบื้องต้นเจรจาไว้แค่ 5 ปี และผลตอบแทนที่จะน้อยกว่า JV กว่าครึ่ง ถ้าไม่คุ้มค่า บอร์ดอาจไม่อนุมัติ”

ขณะที่วัตถุประสงค์หลักของการตั้ง JV เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกัน กำลังให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูล แต่ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำส่งส่วนแบ่งรายได้สัมปทานซึ่งศาลฎีกา (คดีภาษีอากร) พิพากษาให้แคทจ่ายเงิน โดยคำนวณทั้งจากสัมปทานดีแทค และกับบริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) รวมถึงบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เป็นเงิน 2,377.97 ล้านบาท ได้ยื่นฟ้องไล่เบี้ยจากคู่สัมปทานต่อศาลแพ่งแล้ว

ด้านแหล่งข่าวจากดีแทคเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทราบเรื่องการตั้ง JV ไม่ได้มาสักพักแล้ว เพราะเรื่องค้างอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมานาน เนื่องจากรัฐมนตรีไม่เห็นชอบที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา จึงเริ่มเจรจาเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่ามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในส่วนของข้อพิพาทต้องเริ่มนับหนึ่งเจรจาใหม่ ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะเห็นทางออก

แนวคิดตั้ง JV เริ่มตั้งแต่ ธ.ค. 2557 เพื่อนำเสาสัมปทานทั้ง 8,000 ต้น และไฟเบอร์ออปติกโอนเป็นทรัพย์สินของ JV เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน โดยแคทประเมินว่าจะมีรายได้ในปีแรกราว 2 หมื่นล้านบาท และได้ค่าเช่าราว 700 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่คดีความหลักที่แคทและดีแทคที่ยังค้างอยู่ คือ 1.แคทเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ กรณีดีแทคนำค่าภาษีสรรพสามิตหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องนำส่งให้ ตั้งแต่ 16 ก.ย. 45-15 ก.ย. 50 ตามมติ ครม. เป็นเงินทั้งสิ้น 21,981.87 ล้านบาท

2.กรณีดีแทคไม่โอนกรรมสิทธิ์เสาอากาศและอุปกรณ์เสาอากาศ 5,016 ต้น ตามเงื่อนไขของสัมปทาน มูลค่า 2,411.85 ล้านบาท

3.กรณีดีแทคไม่ชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนส่วนเพิ่มในสัมปทานปีที่ 16-20 (16 ก.ย. 49-15 ก.ย. 54) รวมทุนทรัพย์ 22,066 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีข้อพิพาทอื่น อาทิ ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มที่เกิดจากการหักค่าใช้จ่ายบริการเสริม (content) คดีฟ้องร้องกับดีแทค ไตรเน็ตเกี่ยวกับเครื่องและอุปกรณ์ตามสัมปทาน

ขณะที่มาตรา 56 รธน. ระบุว่าโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้