Andela ปั้นดาวไอที จากแอฟริกาสู่ตลาดโลก

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

ความตื่นตัวด้านเทคโนโลยีทำให้คนรุ่นใหม่ในแอฟริกาหันมาเอาดีด้านคอมพิวเตอร์กันขนานใหญ่ แต่ด้วยข้อจำกัดของตลาดแรงงาน ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์กลายเป็นทรัพยากรที่ถูกทิ้งขว้างอย่างน่าเสียดาย ขณะที่อเมริกาคาดว่าจะมีตำแหน่งงานไอทีในประเทศกว่า 1.4 ล้านตำแหน่งในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่มีกำลังผลิตแรงงานออกมาได้แค่ 4 แสนคน ร้อนถึงบริษัทนายจ้างต้องควานหาแรงงานฝีมือดี

หวยมาตกที่บริษัท Andela ที่จ้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับท็อปจากไนจีเรีย ยูกานดา และเคนยา มารับโปรเจ็กต์ให้บริษัทต่าง ๆ ทั้งในอเมริกาและประเทศอื่นแบบ outsource ข้ามพรมแดน

จุดขายของ Andela คือ มีทีมงานระดับหัวกะทิที่พร้อมรับโปรเจ็กต์อย่างมืออาชีพ บริษัทให้ความสำคัญกับการคัดเลือกและการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ขั้นตอนการรับสมัครของ Andela เป็นที่เลื่องลือด้านความโหดหินแต่ละรอบจะคัดให้เหลือแค่ 3% เพื่อเข้า boot camp 2 อาทิตย์ และมีเพียง 1% ที่จะได้รับบรรจุเป็นพนักงาน เช่น ในยูกานดา มีคนสมัคร 800 รับจริงแค่ 8 คน

จากนั้นทุกคนต้องเข้ารับการฝึกอีก6 เดือน เพื่อพัฒนาทักษะให้ได้มาตรฐานสากลตามที่ตลาดต้องการ ระหว่างฝึกเด็กใหม่แต่ละคนจะได้ MacBook คนละเครื่อง ที่พัก และอาหารฟรี เป็นต้นทุนที่บริษัทต้องจ่ายถึงคนละ 15,000 เหรียญ

เมื่อฝึกเสร็จ พนักงานจะได้เซ็นสัญญา 2 ปี เงินเดือนเฉลี่ยคนละ 3 หมื่นเหรียญ เยอะกว่าค่าแรงในแอฟริกา

ปัจจุบัน Andela มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก แต่พนักงานส่วนมากกว่า 900 คน กระจายอยู่ตามออฟฟิศในเคนยา ไนจีเรีย และยูกานดาลูกค้าหลักคือบริษัทชั้นนำระดับ Fortune 500 กว่า 100 แห่งในอเมริกาและอีก 10 ประเทศทั่วโลก

เมื่อรับโปรเจ็กต์มา Andela จะหักรายได้ส่วนหนึ่งเป็นเงินเดือนพนักงานที่เหลือเก็บไว้เป็นต้นทุนจ้างและเทรนพนักงานรุ่นต่อไป เพราะถึงอยากให้พนักงานอยู่ต่อคนละ 4 ปี แต่ส่วนมากหลังหมดสัญญามักโดนจีบไปทำงานให้ลูกค้าที่ติดใจผลงาน หรือไม่ก็ออกไปเปิดสตาร์ตอัพของตัวเอง

เปิดกิจการมา 4 ปี Andela ระดมทุนได้กว่า 80 ล้านเหรียญ มีมูลนิธิการกุศลของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และภรรยาเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ และเพิ่งจัด workshop ด้านไอทีให้นักพัฒนาชั้นนำในไนจีเรียและเคนยาฟรี และจัด workshop ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ตลอดทั้งปีเพื่อให้ความรู้และกระชับความสัมพันธ์กับคนในวงการ


ทั้งยังเริ่มโครงการ accelerator เป็นพี่เลี้ยงให้พนักงานเก่าที่ออกไปสร้างบริษัทเองด้วยถือเป็นกลยุทธ์ขยายเครือข่ายรองรับการขยายงานในอนาคต และด้วยสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างบริษัทกับชุมชุน developers ในท้องถิ่น (รวมทั้งอดีตลูกหม้อ) ทำให้ไม่แน่ว่าในอนาคต Andela อาจไม่ใช่แค่ที่ปรึกษาด้านไอทีหรือบริษัทจัดหางาน แต่เป็นเจ้าของเน็ตเวิร์กแรงงานไอทีขนาดใหญ่ประจำทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว