“วรานิษฐ์” ผู้นำหญิง “เอชพี” บริหาร “คน-งาน” ติดสปีดธุรกิจ

วรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์

เอ่ยชื่อ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด หรือ “เอชพี” คนส่วนใหญ่ทั้งในแวดวงไอที และผู้บริโภคทั่วไปน่าจะรู้จักกันดีในฐานะแบรนด์สินค้าไอทีต่าง ๆ ที่ใช้งานในออฟฟิศไปจนถึงตามบ้าน

สำหรับ เอชพี อิงค์ ประเทศไทย เปิดมานานกว่า 34 ปีแล้ว ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจไอทีในบ้านเราผ่านมาหมด ตั้งแต่ยุคแรก ยุคทอง และกำลังเผชิญความท้าทายเช่นเดียวกับยักษ์ไอทีทั้งหลายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจากกระแสเทคโนโลยีดิสรัปต์

ล่าสุดแต่งตั้ง “วรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์” เป็นแม่ทัพหญิงคนแรก

ขับเคลื่อนธุรกิจ-พัฒนาคน

“วรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์” กรรมการผู้จัดการ เอชพี อิงค์ ประเทศไทย เล่าว่า ร่วมงานกับเอชพี ตั้งแต่ปี 2000 หรือเมื่อ 23 ปีที่แล้ว จึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งทั้งภายในองค์กร และอุตสาหกรรมไอที ซึ่งการได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ดังกล่าว แน่นอนว่ามีภารกิจสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีการวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 3 ปี

ในแผนระยะยาว 3 ปี จะมุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1.portfolio/product เน้นออกแบบสินค้า และผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า เช่น ด้านการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งไม่ได้มีแค่ฮาร์ดแวร์ แต่มีโซลูชั่นเสริมที่รองรับการทำงานแบบไฮบริดซิเคียวริตี้ หรือในผลิตภัณฑ์กลุ่ม PC ที่เน้นตลาดเกมมิ่งมากขึ้น

2.operation ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า โดยเฉพาะด้านโซลูชั่น และด้าน supply chain ที่มีความหลากหลาย รวมถึงมีการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน และมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ด้วย

ADVERTISMENT

และ 3.people เน้นการพัฒนาคนภายในองค์กรให้สามารถรองรับการทำงานหลากหลาย เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพราะคนถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจ

“เราให้ความสำคัญ และโฟกัสเรื่อง people หรือคน ซึ่งตามแผนของบริษัทคือการส่งเสริมความหลากหลายในที่ทำงาน และภาวะผู้นำหญิง หรือการสนับสนุน women leadership ซึ่งดิฉันเองก็ถือเป็นตัวอย่างได้ ในฐานะที่ได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการหญิง ประจำประเทศไทย คนแรกของเอชพี”

ADVERTISMENT

เช่นกันกับเป้าหมายส่วนตัวที่อยากพัฒนาคนให้เกิดการร่วมมือในองค์กร มีความ diversified หรือความหลากหลายเพื่อให้เกิดการพัฒนาความสามารถใหม่ ๆ เช่น อาจมีการย้ายบทบาทให้ลองไปทำงานที่หลากหลายเพื่อเปิดมุมมองมากขึ้น

สำหรับแผนระยะสั้น และระยะกลาง จะเป็นการวางกลยุทธ์การขาย และการตลาด ซึ่งจะเกี่ยวกับโปรโมชั่นต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ซึ่งในปีนี้การลงทุนในส่วนนี้ไม่ได้ลดลง โดยเฉพาะการผลักดันผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม gaming

“นอกจากเน้นทำการตลาด โปรโมชั่น แล้วเรายังจะโฟกัสการเข้าถึงลูกค้าในช่องทางต่าง ๆ และขยายช่องทางสำหรับลูกค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์ หรือ printer ด้วย”

ขณะเดียวกัน ภายในบริษัทก็มีการ “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กรให้เป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” โดยสร้างช่องทางพูดคุย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

ความท้าทายหลังโควิด

“วรานิษฐ์” พูดถึงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยว่ามีโอกาสเติบโตจากแรงบวกหลายด้านจากการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ กล้าลงทุน ในภาพรวมจึงน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และเป็นความท้าทายกับทุกส่วนของธุรกิจ ทั้งในกลุ่มองค์กร และคอนซูเมอร์

“โดยรวม ๆ น่าจะดีขึ้น ในส่วนของเราเอง ความท้าทายเป็นเรื่องของการสื่อสาร และการทำงานร่วมกับทั้งลูกค้า และพาร์ตเนอร์ที่จะช่วยกันสร้างการเติบโตร่วมกันได้อย่างไร เรามีการตั้งกลุ่มของพาร์ตเนอร์เพื่อแบ่งปันข้อมูลกัน (data intelligence) และวิเคราะห์ว่าเราจะช่วยกันในส่วนไหนเพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้”

แม่ทัพหญิง “เอชพี” มองว่าจะต้องทำงานหนักกว่าก่อนโควิด โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารกับคน ทั้งลูกค้า พาร์ตเนอร์ และคนในองค์กรเองที่ต้องเผชิญการทำงานแบบไฮบริดด้วย

“ช่วงโควิดเราได้รับประสบการณ์จากการรับฟังปัญหาของลูกค้า และพาร์ตเนอร์ หลาย ๆ อย่างมีประโยชน์มาก เวลาเกิดวิกฤตมีทางเดียวที่เราต้องทำ คือต้องพูดคุย ต้องแจ้ง ต้องชี้แจงว่าเรามีปัญหาอะไร และก็ต้องรับฟังพาร์ตเนอร์ด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดความท้าทายหรือปัญหาอะไร การพูดคุยกับพาร์ตเนอร์และลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ”

“วรานิษฐ์” กล่าวว่า การขยายความร่วมมือและการพูดคุยสื่อสารกับพาร์ตเนอร์และลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งข้อดีของการมีกรรมการผู้จัดการเป็นคนไทยทำให้ไม่มีกำแพงภาษา ทำให้การพูดคุยเจรจามีโอกาสที่จะนำไปสู่ความร่วมมือใหม่ ๆ ได้ดี

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ ทำให้รูปแบบ subscription เป็นเทรนด์ที่เห็นได้ชัดจากสินค้าในกลุ่มพรินเตอร์ที่มีรูปแบบการจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง โดยมีแพ็กเกจหลากหลายมาก ซึ่งโดยปกติลูกค้ากลุ่มองค์กรจะมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่เอชพีจะมุ่งขยายจากกลุ่ม B2B, SMB ไปยังลูกค้าทั่วไปด้วย โดยชูจุดเด่นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องการซ่อมบำรุง

โอกาสจากทำงานไฮบริด

“วรานิษฐ์” กล่าวถึงเทรนด์การทำงานแบบไฮบริดที่ส่งผลต่อความต้องการอุปกรณ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์ (printer) ด้วยว่ามีโอกาสอาจเพิ่มขึ้นจากช่วงโควิด แม้ในช่วงวิกฤตโควิดจะเห็นแนวโน้มการทำงานที่บ้าน ทำให้อุปกรณ์ที่สำนักงาน (work station) ต่าง ๆ ลดลง เช่นกันกับอุปกรณ์ในฝั่งพรินเตอร์ แต่มีความต้องการในลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาเช่นกัน

“เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้ว ทำไมเขาจะมีอีก work station ที่บ้านไม่ได้ ทำไมคนที่อยู่บ้านจะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เหมือนอยู่ที่ทำงานไม่ได้ ดังนั้น work station ที่บ้าน ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ หรือพรินเตอร์ แต่อุปกรณ์อื่น ๆ ทั้งกล้องเว็บแคมไปจนถึงโต๊ะ และเก้าอี้ สำหรับนั่งทำงานเพื่อแก้ปวดหลัง ล้วนเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตมากขึ้นในช่วงโควิด”

และเป็นแนวโน้มที่ยิ่งจะเพิ่มขึ้นจากรูปแบบการทำงาน “ไฮบริด” ที่คนทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ที่บ้าน ดังนั้นจึงจะมีความต้องการ station ทั้งในที่ทำงาน ที่บ้าน หรือที่อื่น ๆ เพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มพรินเตอร์รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตไฮบริด