โทเค็นดิจิทัลเฮ! โปรเจ็กต์ ICO จ่อคิวนับสิบ ขานรับมาตรการยกเว้นภาษี

Xspring Digital ยิ้ม ครม. ยกเว้นภาษี VAT จากการขายโทเค็นระดมทุน ลูกค้านับ 10 โปรเจ็กต์กำลังศึกษา ดำเนินการ และพิจารณาออก ICO Token คาด เริ่มเห็นออกขายไตรมาส 4/2566 

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายธนศักดิ์ กฤษณะเศรณี รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด (XD) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก ครม. ได้อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและ VAT จากการขายโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุนเมื่อวานนี้ ทำให้หลายฝ่ายตื่นตัว

โดยเฉพาะผู้ให้บริการออกเหรียญ หรือ ICO Portal อย่าง “เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล” ที่กำลังพูดคุยและศึกษาโปรเจ็กต์ของลูกค้านับสิบราย ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จำนวนหนึ่ง มีความพร้อมที่จะดำเนินการช่วยออกเหรียญอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องแก้ไขอะไรมาก

นายธนศักดิ์ ให้เหตุผลว่า เพราะเรื่องมาตรการทางภาษีถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้ประสงค์ออกโทเค็นเพื่อการระดมทุน (ICO- Initial Coin Offering) มีความกังวล

“สมมติเราระดมทุน 1,000 ล้านบาท มีต้นทุนในการระดมทุนจากการทำ ICO อยู่แล้วประมาณ 2-3% และเมื่อต้องจ่าย VAT 7% อีก 70ล้านบาท นั่นหมายความว่าผู้ออกเหรียญได้เงินจากการระดมทุนจริงๆ 900กว่าล้านเท่านั้น รวมๆ แล้วต้นทุนจึงสูงเกินไป ดังนั้นการออกร่าง พรฎ. นี้จะทำให้ผู้ที่ต้องการออกเหรียญที่เคยชะลอการตัดสินใจต้องชั่งน้ำหนักใหม่อีกครั้ง”

มีการเสนอปรับปรุงมาตรการทางภาษีเข้าไปพิจารณาถึง 2 ครั้ง ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ผู้ออกเหรียญและผู้ให้บริการต้องชะลอการตัดสินใจแต่ก็ยังศึกษารายละเอียดโครงการอย่างต่อเนื่อง

“การเสนอร่างมาตรการดังกล่าวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ไม่คิดว่าจะผ่าน เพราะเชื่อว่าจะต้องรอหลังเลือกตั้ง แม้จะมีหลายส่วนที่ต้องปรับปรุงอย่างเช่นการนำรายได้ไปหักภาษีสิ้นปีอีกครั้ง แต่การอนุมัติของ ครม. ครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

นายธนศักดิ์ กล่าวอีกด้วยว่า การออก ICO Token จะใช้เวลาราว 9-12 เดือน ในการดำเนินการตามระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งราว 3-4 เดือน คือการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการหรือโปรเจ็กต์ที่ขอระดมทุนนั้นๆ ก่อนหน้านี้ เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล มีการพูดคุยกับลูกค้าราวสิบกว่าราย และมีการศึกษาโปรเจกต์ต่างๆ มาล่วงหน้าแล้วหลายเดือน

ดังนั้นความชัดเจนจาก ครม. เช่นนี้ ทำให้หลายโปรเจ็กต์ดำเนินการต่ออย่างสบายใจ และยังสามารถร่นระยะเวลาการศึกษาลงได้อีก 3-4 เดือน ทำให้การใช้เวลาดำเนินการยื่นโปรเจ็กต์ตามระเบียบเหลืออยู่ 9เดือน ก็คาดว่าจะได้เห็นการออก ICO Token ใหม่ๆ ในไตรมาสที่ 4/2566 นี้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในฝั่งรีเทล หรือแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลของ เอ็กซ์สปริง ยังคงน่าห่วง เนื่องจากสถานการณ์ของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่ค่อยดีนัก

“เรามีธุรกิจสองขา เมื่อขาหนึ่งไม่ดี ก็ยังพอมีอีกธุรกิจช่วย ดังนั้นตอนนี้เราคาดหวังกับฝั่งธุรกิจ ICO มาก เรากลับมาทำงานอย่างหนักหน่วงและประชุมทุกวันเพื่อดำเนินการให้บริการด้าน ICO”

เปิดหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา

สำหรับ หลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สาระสำคัญ ดังนี้

1. ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ออกและเสนอขายโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุนต่อประชาชน (ในตลาดแรก) และบุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อขายโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ในตลาดรอง)

2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษีอันเนื่องมาจากการโอนโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ออกเสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ตลาดแรก)

ทั้งนี้ กรณีโทเค็นดิจิทัลที่ออกเสนอขายต่อประชาชนมีลักษณะของโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุนและโทเค็นดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์อื่น ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีข้างต้นเฉพาะกรณีที่สามารถแยกส่วนของโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน และโทเค็นดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์อื่นออกจากกันได้เท่านั้น และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ตลาดรอง)

3. ระยะเวลาบังคับใช้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป (ย้อนหลังไปถึงวันที่พระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ)

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2566 ถึงปี 2567 จะมีการออกและเสนอขายโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 128,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25,600 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 8,960 ล้านบาท ดังนั้น ประมาณการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ ในช่วง 2 ปี ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. คาดการณ์รวมภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 35,279 ล้านบาท