กสทช.แจงปมงบหนุน สธ. 3,800 ล้าน อำนาจเลือกเลขาธิการเอง

สรณ บุญใบชัยพฤกษ์
ศ.นพ. คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ประธาน กสทช. เผย กรอบงบประมาณ 3,800 ล้านบาท จากกองทุน USO หนุนระบบโทรเวชกรรม มีการอนุมัติหลักการตั้งแต่บอร์ดคณะก่อน แต่อยากสานต่อให้เป็นชิ้นเป็นอัน พร้อมยืนยัน การแต่งตั้งเลขาฯ กสทช. ดำเนินการตามกฎหมาย เป็นอำนาจประธานบอร์ด 

วันที่ 15 มีนาคม 2566 ศ.นพ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ชี้แจงปมสำคัญ 2 ประเด็น คือ 1) เรื่องการเตรียมอนุมัติงบ USO เกือบครึ่งหนุนระบบโทรเวชกรรมที่ต้องการทำให้เป็นโครงการที่จับต้องได้ 2) คือเรื่องการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ประธานยืนยันใช้อำนาเลือกเลขาธิการเอง

ประเด็นแรก จากการที่มีการพูดคุยกับหน่วยงาน 24 หน่วยงาน เช่น สปสช. กรมบัญชีกลาง แพทยสภา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอื่นๆ เพื่อหารือการทัดทำระบบโทรเวชกรรม (Tele-health, Tele-Medicine) ซึ่งเห็นว่า กสทช. มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจนี้ คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. จึงเห็นชอบ ได้เตรียมเสนอกรอบงบประมาณ 3,850 ล้านบาท ให้กับโครงการสาธารณสุขดังกล่าว

ซึ่งหลายส่วนมองว่าเป็นการจัดสรรงบที่ไม่ได้สัดส่วน เพราะกรอบวงเงินของทุนมี 8,000 ล้านบาท แต่เกือบครึ่งหนุนโครงการโทรเวชกรรม

ศ.นพ. คลินิก สรณ ชี้แจงว่า กรอบวงเงินดังกล่าวเป็นงบประมาณระยะ 3 ของแผน USO (การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม-Universal Service Obligation) จำนวน 8,000 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการที่จะต้องเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาทั้งหมด 13 โครงการ แต่การสนับสนุนเงิน 3,850 ล้านบาท ให้โครงการโทรเวชกรรมนั้นเป็นการทิศทางหรือวิสัยทัศน์ที่ทุกคนต้องการทำ และมีการวางกรอบวงเงินมาแล้ว

“ก่อนหน้านี้มีการพยายามทดลองทำโครงการ Telehealth มาบ้างแล้วมีการนำร่อง 9 พื้นที่ รพ.สต. แต่ไม่เห็นผลอะไร เพราะไม่มีการใช้งานในระบบการแพทย์ขั้นปฐมภูมิ เราไม่ได้อยากทำโครงการนำร่องแล้ว ใช้เงินร้อยสองร้อยล้านเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เราอยากทำให้ชัดเจนเป็นชิ้นเป็นอันไม่ใช่ทำโปรเจกต์ทดสอบแล้วละลายเงินไปเรื่อยๆ”

“จริงๆ ผมไม่ได้เริ่มเทเลเฮลธ์ แต่เป็นคนที่อยากจะสานต่อ งบมีการจัดสรรมาก่อนที่ผมจะเป็น กสทช. แล้ว ส่วนการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำเทเลเมดิซีนที่ทำมาก่อนหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยโควิด สถานการณ์โควิดเรียกร้องให้เรานำเทคโนโลยีมาใช้มีคนทำมาหลายคนแล้ว มีเอกชนทำ ภาครัฐก็ทำแต่มันกระจัดกระจาย”

“เทเลเฮลธ์ เป็นทิศทางเป็นวิสัยทัศน์ของทุกคน ในการที่จะทำให้เกิด Information ทางการบริหารจัดการขึ้น เราจะได้รู้ว่าเราใช้งบประมานทางสาธารณสุขไปในส่วนไหนบ้าง มีปัญหาอย่างไร”

“ยังมีปัญหาในระดับการรักษาขั้นปฐมภูมิ คนต่างจังหวัดที่จะไปหาหมอต้องไป รพ.สต. หากรักษาได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ส่งต่อโรงพยาบาล แล้วก็ต้องรอว่าจะทำการรักษาและดูแลหลังการรักษาอย่างไรต่อไป หรือยิ่งเป็นคนไข้ติดเตียงการเดินทางไปโรงพยาบาลยิ่งลำบาก”

“สิ่งที่เราอยากจะทำ ก็คือ เอาเทเลเฮลธ์ มาช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และให้เกิดข้อมูลที่เป็นดิจิทัลขึ้นมา และให้ข้อมูลนั้นถูกส่งต่อไปสู่ข้อมูล ไปสู่ รพ. ศูนย์ และทำให้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนสามารถส่งต่อหรือให้การยินยอมให้สถานพยาบาลอื่นเข้าถึงข้อมูลเขาได้ เพราะปัญหาของระบบเทเลเฮลธ์ที่กระจัดกระจายคือไม่รู้ว่าใครมีความชอบธรรมในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย”

“งบประมาณที่เราถกเถียงกันในวันนี้ คือ 3,850 ล้าน ในการจะดูแลส่วนที่เป็นระบบดิจิทัลและพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อทำระบบ พร้อมกัน 1,194 รพ.สต. โครงการนี้ซ้ำซ้อนกับนโยบายรัฐหรือไม่ ปลัดกระทรวงสาธารณะสุขได้แจ้งว่าไม่ซ้ำ เป็นการช่วยกันด้วยซ้ำ เพราะเราทำในด้านคมนาคมพื้นฐาน และด้านกฎหมาย เพื่อให้การถ่ายโอนข้อมูลทางการแพทย์เป็นมาตรฐาน มีหลายภาคส่วนหลายหน่วยงานช่วยกันทำ

“นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนภาครัฐและเอกชนที่จะใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมด้านการแพทย์ให้เติบโตขึ้นมาให้ได้”

ซึ่งงบ USO จำนวน 8,000ล้านบาท ยังมีโครงการอื่นๆ อีก 13 โครงการที่จะพิจารณาในวันที่ 29 มีนาคม นี้ ซึ่งเป็นงบตั้งแต่ปลาย พ.ค. ปีที่แล้วถึง พ.ค.ปีนี้ (งบประมาณปี 2565) ถือว่าเป็นการใช้งบที่ล่าช้าแล้ว โครงการทุกอย่างควรต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ

สำหรับเทเลเฮลธ์ ตอนนี้เราคาดหวังว่าเราจะให้คน 10% ของคนที่เดินไป รพ. อย่างยากลำบากในแต่ละพื้นที่หันมาใช้เทคโนโลยีส่วนนี้ก็คุ้มแล้ว จากตัวเลขผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ลงทะเบียนกับหน่วยงานต่างๆ (มหาดไทย, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ในพื้นที่ 13 เขตสาธารณสุขทั่วประเทศมีราว 500,000 คน ดังนั้นตั้งเป้าว่าควรมีการใช้งาน 50,000 คน หรือ 10%

ย้ำ ประธานต้องเลือกและแต่งตั้งเลขาฯ

นอกจากนี้ ศ.นพ. คลินิก สรณ ยังได้พูดถึงกระบวนการสรรหา เลขาธิการ กสทช. ที่ยังค้างคา และเป็นความไม่เข้ากันระหว่างบอร์ด หลังจากช่วงที่ผ่านมามี กสทช. ครึ่งหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะให้ประธานใช้อำนาจเลือกและแต่งตั้งเลขาฯ เอง

ประธาน กสทช. ได้ชี้แจงว่า ตนได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกอย่าง ทั้งการส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายพิจารณา และเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ แล้ว จึงยืนยันว่าการสรรหาเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจหน้าที่ของ ประธาน เพราะประธานมีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงาน กสทช. ดังนั้นเลขาธิการต้องเป็นคนที่ “เข้าขา” หรือทำงานร่วมกันได้อย่างดี

“ถ้าย้อนดูธรรมเนียมปฏิบัติมาก่อน ทั้งในองค์กรนี้ องกรอื่น เช่น การสรรหาเลขาสมัยคุณฐากร ก็มีการให้เปิดรับสมัคร และให้กรรมการ กสทช. ทั้ง 11 คนลงคะแนนเลือกได้คุณฐากร จากนั้นในสมัยที่สอง ประธานก็เลือกคุณฐากรแล้วให้บอร์ดเห็นชอบ อนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่าประธานจะใช้วิธีการใดก็ได้ องค์กรอื่นก็เขียนกฎหมายลักษณะนี้”

“ดังนั้นในการประชุมพิเศษที่ผ่านมา จึงเป็นการพิจารณากระบวนการ “แต่งตั้ง” เลขาฯ เอง ประธาน ได้ขอให้กรรมการเสนอคุณสมบัติเพิ่มเติมของเลขาฯ วันนั้นมีการโหวตให้พิจารณาคุณสมบัติ ตามมารยาทจึงไม่มีการเปลี่ยนคุณสมบัติ กรรมการสามท่านเห็นด้วยให้เอาคุณสมบัติเดิมอีกสามท่านให้มีการปรับ”

“ผมจึงต้องใช้ “หน้าที่” ชี้ขาด เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินต่อ ไม่เช่นนั้นดำเนินต่อไม่ได้ คณะกรรมการไม่ใช่สภา คณะกรรมการตั้งมาเพื่อวินิจฉัย กรรมการเองไม่ควรงดออกเสียง เรามีคนไม่กี่คน เราถูกเลือกมาให้ใช้ดุลยพินิจ”

“ประธานต้องคุมสำนักงาน ตามหลักธรรมาภิบาล ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบสำนักงาน ผมควรเลือกคนที่ทำงานเข้ากับผมได้” ประธาน กสทช. กล่าว

หลังจากนี้จะมีการเปิดรับสมัครเลขาตามคุณสมบัติ ตรวจสอบตรวจสอบ และสัมภาษณ์ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ จากนั้นประธาน กสทช. จะเลือกเองหนึ่งคน และให้ กรรมการสัมภาษณ์ และให้ความ “เห็นชอบ” คาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะเสร็จสิ้นก่อนจบเดือนเมษายนนี้

“สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมผมไม่รอบอร์ดคนที่ 7 อีกคน จริงๆ ผมตัดสินใจไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ถูกเลื่อนมาเรื่อย ๆ” ประธาน กสทช. กล่าวทิ้งท้าย