“ดิจิทัล” ปฏิรูปธุรกิจ-ศก. แห่ลงทุน “AI-IOT” เพิ่มสปีดองค์กร

รายงานการวิจัย “ปลดล็อกโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล” ของ “ไมโครซอฟท์ และไอดีซี เอเชีย-แปซิฟิก” ระบุว่า การปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล (digital transformation) จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้จีดีพีของประเทศ เป็นมูลค่ากว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.82 แสนล้านบาท ภายในปี 2564 และทำให้จีดีพีเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย 0.4% ต่อปี

 

ทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่าในอนาคตกระบวนการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลในเอเชีย-แปซิฟิกจะรวดเร็วขึ้น จากปัจจุบันที่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งอุปกรณ์พกพา,คลาวด์, IOT (internet of things) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างมูลค่าจีดีพีให้ประเทศไทย ราว 4% เท่านั้น

รายงานดังกล่าวได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้บริหารในองค์กรขนาดกลางและใหญ่ จำนวน 1,560 คน ใน 15 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สำหรับในประเทศไทย ผู้บริหาร 100 คน ระบุถึงประโยชน์หลักที่องค์กรจะได้รับจากการปฏิรูปธุรกิจด้วย “ดิจิทัล” ว่า มี 5 เรื่อง คือ 1.กำไรขั้นต้น 2.ประสิทธิภาพการผลิต 3.ลูกค้า 4.รายได้จากสินค้าและบริการที่มีอยู่ และ 5.สินค้าและบริการใหม่ ๆ โดยมองว่าองค์กรของตนจะได้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากขึ้นกว่า 40% ในปี 2563 โดยเฉพาะเรื่องการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่

กว่า 82% ขององค์กรในไทยเริ่มปฏิรูปธุรกิจด้วย “ดิจิทัล” แล้ว แต่ในภาพรวมระดับภูมิภาค มีเพียง 7% ที่มีศักยภาพและกลยุทธ์เชิงดิจิทัลในระดับผู้นำ ซึ่งองค์กรที่เป็นผู้นำต้องมีกลยุทธ์สำหรับการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลเต็มรูปแบบ และมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าปรับเปลี่ยนองค์กรเช่นกัน และใน 4 ปีข้างหน้า มูลค่าจีดีพีจากผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลจะสูงขึ้นเป็น 40% โดยองค์กรทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะนำเทคโนโลยี AI มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปฏิรูปธุรกิจ ส่งผลให้การเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้นไปอีก

โดยบริษัทวิจัยไอดีซีมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2564 กว่า 48% ของจีดีพีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีที่มาจากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัล ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 40% เป็นไปในทิศทางเดียวกับชาติอื่นในภูมิภาค ขณะที่การเติบโตและพัฒนาของทุกอุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์ บริการ ระบบงาน และความร่วมมือที่ผ่านการยกระดับด้วยนวัตกรรมดิจิทัล

นายไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ กล่าวว่า องค์กรในกลุ่มผู้นำจะสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ดีกว่ากลุ่มผู้ตามหนึ่งเท่าตัว ทั้งด้านประสิทธิผลการทำงาน การลดค่าใช้จ่าย หรือการสนับสนุนจากฐานลูกค้า และองค์กรที่ต้องการแข่งขันในตลาดได้อย่างทัดเทียมต้องเปลี่ยนระบบการประเมินผลงาน ปรับโครงสร้างการทำงาน และออกแบบแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ใช้ให้เหมาะสม

ข้อแตกต่างระหว่างองค์กรระดับผู้นำและผู้ตามเชิงดิจิทัล มีองค์ประกอบหลัก ๆ คือองค์กรกลุ่มผู้นำให้ความสนใจคู่แข่งและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากกว่า เศรษฐกิจยุคดิจิทัลเปิดทางให้คู่แข่งธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ อย่าง AI ที่จะเข้ามาพลิกโฉมรูปแบบธุรกิจในหลายมิติ ทั้งความคล่องตัวในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรในระดับผู้นำ

ขณะที่กลุ่มผู้ตามมักเน้นที่การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และศักยภาพในการทำกำไร

หลายองค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกเริ่มหันมาวัดผลการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลด้วย KPI รูปแบบใหม่ ๆ เช่น ประสิทธิภาพระบบงานการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์กับผลประกอบการ และการเสริมสร้างความผูกพันของลูกค้ากับองค์กร วัดได้ด้วยระบบคะแนน net promoter score (NPS) ถ้าเทียบกันแล้วองค์กรระดับผู้นำสนใจใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มรายได้ เสริมประสิทธิภาพการทำงาน และพลิกรูปแบบการทำธุรกิจมากกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตาม และในปี 2561 องค์กรระดับผู้นำสนใจลงทุนในเทคโนโลยี AI และ IOT นายอัลเบอร์โต้ กรานาดอส รองประธานฝ่ายขาย การตลาดและบริการ ไมโครซอฟท์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าองค์กรในยุคนี้ควรปรับแนวคิดให้เป็นไปตามแนวทางของกลุ่มผู้นำในโลกดิจิทัลเพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ในองค์กร

สำหรับผลประโยชน์จากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในมุมมองของผู้บริหารองค์กรเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม3 ด้าน คือ 1.โอกาสสร้างรายได้ส่วนบุคคล ผ่านงานอิสระและงานเชิงดิจิทัล 2.เปิดตำแหน่งงานใหม่ที่มีรายได้สูงขึ้น 3.สังคมเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปลอดภัยขึ้น รองรับวิถีชีวิตที่ชาญฉลาดขึ้น

“ผู้บริหารไทยเชื่อว่าตำแหน่งงานกว่า 95% มีเนื้องานหรือขอบเขตการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ จากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น”

โดยตำแหน่งงานถึง 65% จะมีมูลค่าและความต้องการทักษะเพิ่มขึ้น หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางใหม่ เพื่อให้ตอบรับความต้องการของสังคมยุคดิจิทัล

นายธนวัฒน์เสริมว่า การปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลในเอเชีย-แปซิฟิกมีผลกระทบกับตลาดแรงงาน ตำแหน่งงานหลายประเภทอาจเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนารูปแบบไปในทิศทางใหม่ ๆ 79% ของผู้บริหารที่เข้าร่วมการสำรวจมองว่าบุคลากรรุ่นใหม่ในองค์กรมีทักษะมากพอที่จะขยับไปรับตำแหน่งงานใหม่ได้

ด้าน นางสาวปริยา จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ดิจิทัล และการตลาดรายได้เสริมองค์กร บมจ. การบินไทย เปิดเผยว่า ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กรเพื่อพลิกธุรกิจให้ทันความเปลี่ยนแปลง และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ต่อเนื่อง โดยเปิดตัว “น้องฟ้า”แชตบอตที่นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการตอบคำถาม และข้อสงสัยของลูกค้า และจะพัฒนาเว็บไซต์รูปแบบใหม่ที่นำข้อมูลลูกค้ามาใช้เป็นพื้นฐานในการปรับเปลี่ยนข้อมูลและเนื้อหาที่แสดงบนหน้าเว็บ

“ยุคนี้เป็นยุคของการพลิกธุรกิจด้วยคลาวด์ ทำให้พนักงานเข้าถึงระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจลูกค้าลึกซึ้งกว่าเดิม และนำความเข้าใจไปยกระดับบริการให้ตรงความต้องการมากขึ้นด้วย”